มุสลิมไทยดอทคอม ไม่แบ่งแยกเรื่องศาสนา 'พอเพียงดับไฟใต้' โอไอซี ยอมรับไทย www.muslimthai.com แม้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ล่าสุดจะดูเหมือนยังทรง ๆ และบางช่วง ไฟใต้ ก็ดูเหมือนจะลุกโชนรุนแรงมากขึ้น แต่ลึก ๆ แล้วทางการไทยโดยฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ข้าราชการพลเรือน ภาคประชาสังคม ก็สามารถเดินหน้าก่อร่าง สร้างสันติสุข ให้บังเกิดได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยหลัก พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน จน กลุ่มประเทศอิสลาม ก็ยังให้การยอมรับ ระหว่างวันที่ 9-10 ส.ค.ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เชิญคณะทูต กลุ่มประเทศสมาชิกองค์การระหว่างประเทศกลุ่มประเทศอิสลาม หรือ โอไอซี (Organization of the Islamic Conference : OIC) ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ทั้งนี้ เพื่อที่จะสานต่อความเข้าใจในเรื่องสถานการณ์ภาคใต้ของไทยต่อเวทีโลก ซึ่ง สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์ ก็มีโอกาสได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย โอไอซี นั้นถือเป็นอีกกลุ่มประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลก โดยจากข้อมูลของกองตะวันออกกลาง กระทรวงการต่างประเทศของไทย โอไอซีก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. ปี ค.ศ. 1971 ตามมติที่ประชุมสุดยอดครั้งแรกของผู้นำกลุ่มประเทศมุสลิม 35 ชาติ ที่กรุงราบาต ราชอาณาจักรโมร็อกโก ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ย. ปี ค.ศ. 1969 ปัจจุบันโอไอซีมีสมาชิก 57 ประเทศ ทั้งประเทศในเอเชีย ยุโรป แอฟริกา อเมริกาใต้ นับเป็นองค์กรระหว่างประเทศของโลกมุสลิมที่ใหญ่ที่สุด มีบทบาทความสำคัญมากที่สุด กับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนคนไทยนับถือศาสนาอิสลามมาก ในการแก้ปัญหาของทางการไทยนั้นทางโอไอซีก็แสดงท่าทีสนับสนุนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นต้นมา พร้อม ๆ กับการติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่โอไอซีแสดงท่าทีสนใจคือ... ความคืบหน้า-ความเป็นไปได้ในการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งโอไอซีพร้อมเป็นตัวกลาง, ความคืบหน้าในการส่งเสริมสิทธิ สถานะ อัตลักษณ์ชุมชนไทยมุสลิม โดยเฉพาะการใช้ภาษายาวีในการเรียนการสอน และการปรับใช้กฎหมายอิสลามบางส่วนในพื้นที่, ความเป็นไปได้ที่จะกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการพื้นที่ตามหลักการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่นเดียวกับพัทยา และภูเก็ต ประเด็นเหล่านี้ทางการไทยยังต้องพิจารณาอย่างรัดกุม แต่ล่าสุดโอไอซีก็แสดงความชื่นชมการแก้ปัญหาของไทย คณะทูตกลุ่มประเทศโอไอซีที่ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทยล่าสุดนั้น ประกอบด้วย... เอกอัครราชทูตบังกลาเทศ, เอกอัครราชทูตอิหร่าน, อุปทูตปากีสถาน, อุปทูตโอมาน รวมถึงรองหัวหน้าสำนักงานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย, เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตบรูไน ซึ่งจุดที่ลงไปพิสูจน์สถานการณ์ก็เช่น... ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี, กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าและกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง บ้านบอเกาะ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส, โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา พร้อมรับฟังบรรยายสรุปการใช้กฎหมายซารีอะห์หรือกฎหมายอิสลาม เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องสถานการณ์ภาคใต้ของไทย และสานต่อความเข้าใจเรื่องสถานการณ์ภาคใต้ต่อเวทีโลกด้วย ซึ่งการจัดการเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกเป็นคณะเอกอัครราชทูตจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปกว่า 20 ประเทศ ...เป็นการเปิดเผยของ กษิตย์ ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศของไทย พร้อมทั้งบอกว่า... การจัดการเยือนแต่ละครั้งไม่มีการจัดฉาก ให้เห็นสภาพจริงว่าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ปรากฏในสื่อต่างประเทศ ชาวไทยมุสลิมและชาวไทยพุทธอยู่ร่วมกันได้ ไม่มีการแบ่งแยกด้วยเรื่องศาสนา และนโยบาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ให้ความสำคัญเรื่อง สมานฉันท์-ความยุติธรรม ซึ่งจะมีการจัดการเยือนกับกลุ่มประเทศในครั้งต่อไปอีก อาทิ กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา, กลุ่มประเทศแอฟริกา ด้าน มุสตาฟา กะมาล เอกอัครราชทูตบังกลาเทศ เผยกับ สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์ ในระหว่างลงพื้นที่ สรุปได้ว่า... ขอบคุณทางการไทยที่เชิญ ซึ่งทั้งฝ่ายพลเรือน กระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายทหาร ตำรวจ รวมทั้งประชาชนคนไทยในพื้นที่ได้ต้อนรับคณะของโอไอซีอย่างอบอุ่น ซึ่ง สำหรับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่นั้นเป็นปัญหาที่มีมานาน เมื่อได้มาดูที่สถานที่จริงแล้ว ก็พบว่าเจ้าหน้าที่ทางการไทยทำงานกันหนักมาก โดยเฉพาะในโครงการต่าง ๆ เพื่อที่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่ ...ท่านทูตมุสตาฟาระบุ อีกทั้งยังบอกด้วยว่า... สำหรับโครงการด้านเกษตรกรรม โครงการ เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะการเลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์อื่น ๆ ปลูกผัก ทำผักปลอดสารพิษ รวมถึงการฝึกอาชีพต่าง ๆ เป็นโครงการที่ดีมาก ขณะที่การสอนในเรื่องหลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง ก็ทำได้ดีมาก ซึ่งจะนำไปสู่สันติภาพ และความอยู่ดีกินดีของประชาชน ในฐานะทูตกลุ่มประเทศโอไอซีก็อยากเห็นความอยู่ดีกินดีของคนไทยในพื้นที่ และในฐานะมิตรประเทศมุสลิมก็อยากเห็นฐานะทางเศรษฐกิจของคนไทยในพื้นที่ดีขึ้นเช่นกัน อยากให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา และพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป ...ท่านทูตมุสตาฟาระบุ ความเข้าใจจากภายนอกประเทศดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับ หากแต่การ ดับไฟใต้ หลัก ๆ ก็ยังอยู่ที่คนในประเทศ อยู่ที่คนไทยเอง...อยู่ที่คนไทยในพื้นที่เอง...เป็นสำคัญ !!. |