|
||
Muslimthai Focus : ลุ้นพรุ่งนี้ ศาลชี้ขาดอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ส่วนพระองค์ | ||
ลุ้นพรุ่งนี้ ศาลชี้ขาดอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ส่วนพระองค์ นายกฯเผย อสส.มีข้อมูลใช้เล่นงาน "วอลเตอร์ บาว" ตุกติกใช้สิทธิ์ไม่สุจริต รัฐบาลไทยพร้อมอุทธรณ์ก่อน 29 ก.ค. เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการยื่นร้องศาลของเยอรมนี ให้สั่งเพิกถอนอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ส่วนพระองค์ ว่า ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ ศาลเยอรมนีจะตัดสิน ส่วนเอกสารที่เรายื่นเพิ่มเติมไปนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ในตัวเครื่องบิน ซึ่งตนยังไม่ขอพูดเรื่องนี้ แต่ในส่วนคดีที่บริษัท วอลเตอร์ บาว ยื่นฟ้องศาลที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้บังคับดำเนินการตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายโดยอ้างว่ารัฐบาลไทยผิดสัญญาเกี่ยวกับสัมปทานทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์นั้น รัฐบาลไทยจะยื่นอุทธรณ์ก่อนวันที่ 29 ก.ค.นี้ เพราะศาลของนครนิวยอร์ก ตัดสินให้เราปฏิบัติตามอนุญาโตตุลาการ ซึ่งอัยการสูงสุด(อสส.)ยืนยันกับตนว่ามีเหตุผลที่ดีที่จะยื่นอุทธรณ์ และอาจจะมีการดำเนินการทางกฎหมายทางด้านอื่น นอกเหนือจากการอุทธรณ์กับบริษัทนี้ด้วย โดยกำลังพิจารณาข้อมูลบางประการบ่งบอกว่าบริษัทนี้ใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต และอสส.จะมารายงานรายละเอียดให้ตนทราบ หลังจากเดินทางกลับจากเยอรมนี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้นำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) 2-3 ครั้ง เพราะเมื่อมีคำชี้ขาดของอนุญาโตุลาการออกมาแล้ว เราได้ให้ฝ่ายกฎหมายดูว่าจะโต้แย้งอย่างไร ซึ่งในที่สุดไปต่อสู้กันที่ศาลนิวยอร์ก และเมื่อตัดสินแล้ว เราได้นำเรื่องเข้า ครม.อีกครั้ง จึงได้มีการยื่นอุทธรณ์ แต่บังเอิญมีการไปยื่นขออายัดทรัพย์สินของรัฐบาลไทยที่ศาลกรุงเบอร์ลิน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการไปยื่นที่ศาลเมืองมิวนิก แต่ศาลไม่รับเรื่อง ผู้สื่อข่าวถามว่าควรจะสอบสวนหาความบกพร่องเกี่ยวกับการดำเนินการในสัญญาสัมปทานกับหน่วยงานของรัฐหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในที่สุดต้องดูคำตัดสินของศาลก่อนว่าเสียหาย อย่างไร หรือไม่ ถ้าเสียหาย คงต้องสอบสวนกันว่าความเสียหายเกิดขึ้นจากอะไร แต่ฐานข้อมูลที่บริษัทดังกล่าวใช้ยื่นร้องอนุญาโตตุลาการ คือการที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งตนจำไม่ได้ว่าเป็นช่วงใด เพราะผ่านมานานแล้ว แต่ประเด็นหนึ่งที่ทำให้ ครม.มีมติว่ากระบวนการอนุญาโตตุลาการควรระมัดระวังในการกำหนดชี้ขาดหรือใช้ในการหาข้อยุติในข้อพิพาทต่างๆ ซึ่งเอกชนอยากให้เราใช้ แต่เราเห็นว่าหลายครั้งที่ผ่านมา เมื่อมีการใช้อนุญาโตตุลาการ หน่วยงานของรัฐเกิดความเสียเปรียบ ในชั้นนี้จึงให้ขออนุมัติจาก ครม.เป็นกรณีไป เช่น กระทรวงพลังงานจะไปทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับต่างประเทศ ก็ต้องมาขออนุมัติจาก ครม.เป็นครั้งๆไปว่าเกิดปัญหาจะใช้อนุญาโตตุลาการ. ที่กระทรวงคมนาคม นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้กระทรวงคมนาคมได้เรียก กรมทางหลวง ในฐานะผู้ให้สัญญาสัมปทาน บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)เข้ามาชี้แจงเกี่ยวกับการให้สัมปทานทั้งหมด หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาที่ กรมทางหลวงได้ต่อสัญญาสัมปทานให้กับ โทลล์เวย์ถึง 2 ครั้งนั้น ก็ต้องไปดูว่าในช่วงดังกล่าว กรมทางหลวงได้ระบุเงื่อนไขอะไรไว้บ้าง หากกรมทางหลวงไม่ต่อสัญญาสัมปทานให้กับโทลล์เวย์อีก 20 ปี และสิ้นสุดในปี 2577 ในปี 2557 นี้ก็จะเป็นปีที่สิ้นสุดสัญญากับโทลล์เวย์พอดี ซึ่งในเงื่อนไขนี้ กระทรวงคมนาคมก็ต้องนำมาพิจารณาประกอบร่วมด้วยว่าในช่วงสัญญา20 ปีที่ต่อสัญญามีรายละเอียด และเงื่อนไขระบุไว้อย่างไรบ้าง ที่มา : เดลินิวส์ |
||
พิมพ์จาก : http://muslimthai.muslimthaipost.com/main/index.php?page=sub&category=19&id=19208
วันที่ : 29 มีนาคม 66 19:28:23 สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ http://www.muslimthaipost.com |