|
||
Muslimthai Focus : คลื่นยักษ์การเมือง กวาดซัดชาติอาหรับ | ||
คลื่นยักษ์การเมือง กวาดซัดชาติอาหรับ เมื่อนายโมฮัมเหม็ด บูอัซซีซี่ บัณฑิตหนุ่มตกงานชาวตูนิเซีย ถูกตำรวจยึดแผงขายผลไม้เพราะไม่ยอมจ่ายใต้โต๊ะ ชายหนุ่มตัดสินใจเผาตัวเอง ตั้งแต่นั้นไฟเพลิงแห่งการเปลี่ยนแปลงก็ลุกไหม้ขึ้น จากการขับไล่นายซีเน เอล อะบิดีน เบน อาลี พ้นตำแหน่งผู้นำตูนิเซีย ลามสู่การโค่นอำนาจอันยาวนาน 30 ปีของฮอสนี มูบารักในอียิปต์ แต่แรงคลื่นสึนามิการเมืองครั้งนี้ยังคงซัดต่อมาเป็น "โดมิโน" อีกในสัปดาห์นี้ บาห์เรน โดนซัดเข้าไปเต็มๆ เมื่อชาวนิกายชีอะห์คนกลุ่มใหญ่ของประเทศลุกฮือประท้วงรัฐบาลนิกายสุหนี่ คนหนุ่มสาวใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นตัวช่วยสื่อสารนัดรวมตัวกันประท้วงต่อต้านรัฐ ปักหลักเหนียวแน่นกันที่จัตุรัสเพิร์ล จนมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีผู้เสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ เยเมน การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อมานานเริ่มก่อการปะทะระหว่างกลุ่มต่อต้านกับกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลในกรุงซานา อิหร่าน รัฐอิสลามขนานแท้ก็ไม่รอดพ้น โดยมีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาช่วยเชียร์กลุ่มฝ่ายค้าน ซึ่งปักหลักชุมนุมที่จัตุรัสอาซาดี กรุงเตหะราน ทำให้ประธานาธิบดี มาห์มูด อาห์มา ดิเนจัด ผู้นำสายเคร่งถึงกับโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง แอลจีเรีย อิรัก ลิเบีย เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในลักษณะเดียวกัน ส่วนประเทศที่มีแนวโน้มว่าอาจจะได้รับผลกระทบจาก "โดมิโน" ด้วย ได้แก่ จอร์แดน และซีเรีย "ระบบการเมืองของโลกอาหรับกำลังเผชิญกับสึนามิแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และไม่มีประเทศไหนที่จะรอดพ้นการลุกฮือจากประชาชนในประ เทศตนได้ ยกเว้นประ เทศนั้นจะร่ำรวยจริง เช่น กาตาร์ หรือไม่ก็สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนประเทศที่กำลังเกิดความไม่สงบล้วนมีจุดร่วมคล้ายคลึงกัน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยปะทุขึ้นเหมือนครั้งนี้และบรรดารัฐบาลต่างๆ ก็คงไม่คิดว่าจะต้องมาเจอเป็นแน่" บรูซ รีเดล นักวิชาการด้านนโบายตะวันออกกลางสถาบันบรู๊กกิง ในสหรัฐ กล่าว นักวิชาการสหรัฐเห็นว่า ความปรารถนาในการเปลี่ยนแปลงดำรงอยู่ในทุกประเทศเหล่านั้นมานาน แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าลุกฮือขึ้นแบบตอนนี้ พอเกิดกรณีตูนิเซียกับอียิปต์ กำแพงความกลัวของผู้คนก็ถูกพังทลายลงทันที ด้าน อารอน มิลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญตะวัน ออกกลางประจำสถาบันการศึกษาวู้ดโรว์ วิลสัน สหรัฐ มองว่า ความแตกต่างระหว่าง "โอกาส" ในการเข้าถึงปัจจัยการดำรงชีวิตนั้นมีอิทธิพลมากกว่าช่องว่างคนรวยกับคนจน กลุ่มผู้ประท้วงส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนว่างงาน ยากจนเพราะไม่มีโอกาสได้ทำงานดีๆ เนื่องมาจากกลไกทางสังคมกับรัฐบาลแบบผู้นำเดี่ยวที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้คนหนุ่มสาวลุกฮือคือการครองอำนาจของชนชั้นนำที่ล้นเกินจนคนรุ่นใหม่แตะต้องไม่ได้ เอื้อมไม่ถึง กลายเป็นความโกรธแค้น คาริม ซาจาดพัวร์ นักวิชาการสถาบันสันติภาพศึกษาคาร์เนกี้ กล่าวว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในเตหะราน แสดงให้เห็นว่าแม้แต่รัฐบาลที่แข็งแกร่งของอาห์มาดิเนจัด ซื้อใจประชาชนไม่ได้หมดทั้งประเทศ "แต่อุปสรรคใหญ่ของกลุ่มผู้ประท้วงในอิหร่านก็คือ การสื่อสาร การทำข่าว รวมไปถึงอินเตอร์เน็ตล้วนอยู่ในกำมือของรัฐบาล จะเห็นได้จากทั่วโลกไม่สามารถรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกลางจัตุรัสอาซาดี เหมือนที่เคยเห็นในทาฮ์รีร์ ประเทศอียิปต์" ซาจาดพัวร์ อธิบาย เจมส์ เกลวิน ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มองต่างออกไปว่า เราไม่อาจรวมความวุ่นวายทั้งหมดว่ามีสาเหตุมาจากเรื่องเดียวกัน เพราะกลไกการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมันไม่ได้ทำงานแบบนั้น "ปัจจัยและบริบทตลอดจนกระบวนทัศน์ของผู้ชุมนุมแต่ละที่นั้นแตกต่างกัน มีรายละเอียดปลีกย่อย ทั้งในเรื่องศาสนาตลอดจนสวัสดิการทางสังคมก็แตกต่างกัน ลักษณะเฉพาะทางสังคมมีมากเกินกว่าที่เราจะสรุปโดยใช้โมเดลเดี่ยวๆ ได้" เกลวิน กล่าวย้ำ "ถูกต้องที่ว่าช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติกำลังสุกงอม และกลุ่มผู้ประ ท้วงหรือไม่พอใจรัฐบาลของตนตามที่ต่างๆ ก็อยากจะฉวยโอกาสนี้ไว้ แต่ปัจจัยเริ่มต้นของแต่ละประเทศก็ยังต่างกันอยู่ดี ดังจะเห็นได้จากการประท้วงในหลายพื้นที่นั้นเกิดในเวลาไล่เลี่ยกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาของทุกฝ่าย" เกเบรียล ปีเตอร์เบิร์ก ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ สถาบัน เดียวกับนายเกลวิน กล่าวเสริม "สิ่งสำคัญสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ก็คือ นโยบายของสหรัฐในภูมิภาคแถบนี้ต้องได้รับการยกเครื่องใหม่ โดยสหรัฐจะต้องวางแผนดำเนิน ความสัมพันธ์กับรัฐบาลที่กำลังก่อตั้งแบบประเทศต่อประเทศเลยทีเดียว" ปีเตอร์เบิร์ก ทิ้งท้าย ถึงตรงนี้ไม่มีใครทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก แต่แน่ชัดแล้วว่าการเมืองในคาบสมุทรอาหรับจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป! |
||
พิมพ์จาก : http://muslimthai.muslimthaipost.com/main/index.php?page=sub&category=19&id=16888
วันที่ : 29 มีนาคม 66 19:21:53 สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ http://www.muslimthaipost.com |