Muslimthai Focus : คุณหญิงจารุวรรณ 19ต.ค. วันพิพากษา จะอยู่หรือไป? ยื้อเก้าอี้ผู้ว่าฯสุดฤทธิ์ ยันถ้าพ้นตำแหน่งชาติเสียหายร้ายแรง!
วันพิพากษา19ต.ค."จารุวรรณ"อยู่หรือไป? ยื้อเก้าอี้ผู้ว่าฯสุดฤทธิ์ ยันถ้าพ้นตำแหน่งชาติเสียหายร้ายแรง!

ในที่สุดศาลปกครองกลางดดยนายสมชัย วัฒนการุณ ตุลาการเจ้าของสำนวน และตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางได้ออกคำสั่งนัดห้คู่กรณีคือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ฟ้องคดี นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส  รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินรักษาราชการแทนผู้ว่าการฯในฐานะผู้ร้องสอด และคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการฯ ผู้ถูกฟ้องคดี ให้ไปฟังคำพิพากษาเวลา 13.30 น. วันที่ 19 ตุลาคม 2553 ในคดี ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้องคุณหญิงจารุวรรณ กรณีออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการฯโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเห็นว่า คุณหญิงจารุวรรณ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการฯเพราะอายุครบ 65 ปี ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542


ในคดีดังกล่าวศาลปกครองได้ไต่สวนข้อเท็จจริง รับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดี(ผู้ตรวจการแผ่นดิน)ได้รับหนังสือร้องเรียนจากนายเกรียงไกร ลีกิจวัฒนะ ขอให้พิจารณาและสอบสวนว่า คำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่ 184/2553 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 เรื่องยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่


 เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกคำสั่งดังกล่าวภายหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งเมื่อพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 35 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542

 

ผู้ฟ้องคดีพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของผู้ฟ้องคดีที่จะรับไว้พิจารณาตามมาตรา 14 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552 ประกอบกับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จที่ 481/2553 ที่ว่า เมื่อเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 เกิดขึ้นย่อมทำให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต้องพ้นจากตำแหน่งไป


ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอดจึงเห็นว่า คุณสมบัติของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่มิใช่เป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระจึงยังต้องเป็นไปตามกำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 เมื่อปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์แล้วตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2553 จึงเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2552 จึงต้องถือว่า ผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีอำนาจออกคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 184/2553 เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553

 

ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอดจึงได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว


ผู้ถูกฟ้องคดี(คุณหญิงจารุวรรณ)ให้การว่าผู้ถูกฟ้องคดีเคยมีคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ 75/2552 ลงวันที่ 9 เมษายน 2552 แต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ โดยมีผู้ร้องสอดเป็นบุคคลแรกต้องรักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้

ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 184/2553 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ให้ยกเลิกคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 75/2552 ดังกล่าว โดยในวันที่ 18 สิงหาคม 2553 อันเป็นวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ลงนามในคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 184/2553 นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีมีอายุมากกว่าหกสิบห้าปีบริบูรณ์แล้วเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีเกิดในวันที่ 5 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2488

 

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดียังคงมีอำนาจออกคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 184/2553 ดังกล่าวได้ เนื่องจากได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 และฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 ในข้อ 2 กำหนดให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2549 (คือผู้ถูกฟ้องคดี) คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2550

 

แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 และในประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 ข้อ 1 ได้กำหนดให้มีการยกเลิกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และในข้อ 3 ได้กำหนดให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 และในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งแล้วยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน

 

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 ได้กำหนดขยายระยะเวลาการปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน


อีกทั้งเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้พ้นจากตำแหน่งแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 ข้อ 2 จึงไม่สามารถที่จะพ้นจากตำแหน่งได้อีกตามมาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 และเนื่องจากประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขถือเป็นกฎหมายสูงสุดในขณะนั้นและได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

ดังนั้น ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าวจึงถือเป็นข้อยกเว้นมาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 อีกทั้งการตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดินต้องเป็นการตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 13 (1) (ค) มิใช่ตามมาตรา 13 (1) (ก) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552


ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวประกอบกับมาตรา 245 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางนั้น จึงเป็นการอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ไม่ถูกต้องไม่อาจยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองกลางได้


เมื่อพิจารณาจากการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 แล้วจะเห็นได้ว่าในการแต่งตั้งข้าราชการตามมาตรา 41 หรือการบรรจุบุคคลหรือการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 55 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ได้กำหนดเฉพาะให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง


นอกจากนี้ในการออกระเบียบหรือประกาศของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็เป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะเป็นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่สามารถกระทำได้ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ดังนั้น แม้จะมีรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ


แต่อำนาจของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็เป็นอำนาจเฉพาะที่รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่สามารถกระทำได้

 

ดังนั้นหากผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้วก็จะมีผลกระทบต่อการบริหารงานของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีอย่างร้ายแรง ทั้งยังจะมีผลกระทบต่อการตรวจสอบการตรวจเงินแผ่นดินและหน้าที่อื่นๆ ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติไว้อันจะส่งผลต่อความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง

 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวต้องมาลุ้นกันว่า คุณหญิงจารุวรรณอยู่หรือไป? ในวันที่ 19 ตุลาคม แม้ว่า ผู้แพ้คดีสามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้ฝ่ายที่ชนะมั่นใจว่า อนาคตของตนเองสดใสหรือไม่

พิมพ์จาก : http://muslimthai.muslimthaipost.com/main/index.php?page=sub&category=19&id=15100
วันที่ : 27 มีนาคม 66 20:40:56
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ http://www.muslimthaipost.com