ยิ่งเป็นภาระที่ต้องลงทุนเพิ่ม โดยล่าสุดคาดว่า ปตท.จะต้องผลิตถังเพิ่มอีก 400,000 ใบ เป็นต้นทุนที่เพิ่มกว่า 200 ล้านบาท…
นายปรัชญา ภิญญาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่า จากการที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 6 ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดปัญหาคดีมาบตาพุด ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซหุงต้มในภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ ปตท.มีภาระนำเข้าในระดับสูงคาดว่าประมาณ 150,000 ตันต่อเดือนจนถึงสิ้นปี สิ่งที่กังวลในตอนนี้คือ ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในประเทศต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีการลักลอบส่งออกในปริมาณสูง ทำให้ถังก๊าซหุงต้มไม่กลับคืนสู่ระบบ ยิ่งเป็นภาระที่ต้องลงทุนเพิ่ม โดยล่าสุดคาดว่า ปตท.จะต้องผลิตถังเพิ่มอีก 400,000 ใบ เป็นต้นทุนที่เพิ่มกว่า 200 ล้านบาท
นายศิวะนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์กรมหาชน) หรือ สบพ. เปิดเผยว่า สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีเงินทุนสะสมอยู่ 24,000 ล้านบาท แต่ภาระการจ่ายชดเชยนำเข้าก๊าซหุงต้มที่เพิ่มขึ้น ทำให้ฐานะบางเดือนอยู่ในภาวะติดลบ สลับกับบางเดือนที่เป็นบวกเพียง 100 กว่าล้านบาท ยังหวังว่าช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้หากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ของบริษัท ปตท.เดินเครื่องได้ จะช่วยลดสัดส่วนการนำเข้าก๊าซหุงต้มได้บ้าง โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจ่ายชดเชยนำเข้าก๊าซหุงต้มไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท โดยทยอยจ่ายคืนให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้นำเข้า ซึ่งมีหนี้สะสมต้องจ่ายคืนอีก 3,000 ล้านบาท และประเมินว่าหากการนำเข้ายังอยู่ที่ระดับ 150,000 ตันต่อเดือนจนถึงสิ้นปี จะทำให้กองทุนน้ำมันต้องจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าให้ ปตท.ตลอดปีนี้ 23,000 ล้านบาท
"แม้บางเดือนกองทุนน้ำมันจะติดลบ แต่ในภาพรวมก็ไม่ถึงกับน่าเป็นห่วง เพราะไม่ได้ติดลบทุกเดือน ฐานะสุทธิจะบวกประมาณ 100 กว่าล้านบาท โดยมีรายรับอยู่ที่ 3,000 กว่าล้านบาทต่อเดือน และมีรายจ่ายเกือบ 3,000 ล้านบาทเช่นกัน หากความเคลื่อนไหวอยู่ในระดับนี้ก็อยู่ในภาวะที่บริหารจัดการได้