Muslimthai Focus : เปิดมุม...จุฬาราชมนตรี อาศีส พิทักษ์คุมพล แนะแก้ระบบศึกษา ใต้
เปิดมุม...จุฬาราชมนตรี "อาศีส พิทักษ์คุมพล" แนะแก้ระบบศึกษา"ใต้"
"...ระบบการศึกษาในพื้นที่สะท้อนความไม่เป็นธรรมออกมา เพราะเป็นหลักสูตรที่ใช้ทั่วประเทศ หลักสูตรที่เขียนขึ้นมาเป็นไปตามหลักศาสนาพุทธ แต่พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม..."
 
สัมภาษณ์โดย สันต์ชิต ชิตวงศ์
นายอาศีส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการทำงานในฐานะจุฬาราชมนตรี คนที่ 18 และคนแรกที่เป็นชาวใต้ ภายหลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
@ กำหนดภารกิจเร่งด่วนต้องทำทันทีภายหลังรับตำแหน่งไว้อย่างไร
สิ่งที่คิดเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเข้ามาดำรงตำแหน่ง คือ การสร้างสถาบันจุฬาราชมนตรีให้เป็นที่เชื่อถือของประชาชน ให้เป็นสถาบันที่เป็นศูนย์รวมความศรัทธา ไม่มีผู้ใช้สถาบันนี้ไปแสวงหาผลประโยชน์
แม้เป็นเรื่องยาก แต่จะเริ่มต้นทำ โดยเริ่มต้นที่องค์ประกอบในการทำงาน การสรรหาเพื่อนร่วมงานที่ไม่หวังผลประโยชน์ กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนั้นสิ่งที่จะเดินหน้าเพื่อพัฒนาสถาบันจุฬาราชมนตรีคือการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศ นอกจากจะเดินสายเยี่ยมเยียนพี่น้องมุสลิมแล้ว ยังถือเป็นภารกิจหนึ่งในการสานต่อภารกิจของนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ อดีตจุฬาราชมนตรีหลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะแล้วจะนำมาประมวลเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
@ หลายฝ่ายคาดหวังจุฬาราชมนตรีจากภาคใต้จะช่วยคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
จุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งทางศาสนา เป็นตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ สำหรับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้สิ่งที่ทำได้นั้นคงจะเป็นเรื่องของการให้คำแนะนำทางศาสนา และอาจจะเป็นคนกลางในการประสานข้อมูลกับฝ่ายต่าง ๆ ในบ้านเมือง
ปัจจุบันนี้มีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ผมพร้อมเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น
ผมมองว่าปัญหาเรื่องของการศึกษา ทั้งในส่วนของการศึกษาหลักสูตรสามัญและการสอนศาสนา เป็นเรื่องที่จะต้องปรับปรุง
@ ควรปรับระบบการศึกษาในภาคใต้อย่างไร
การศึกษาในพื้นที่สะท้อนความไม่เป็นธรรมออกมา เพราะเป็นหลักสูตรที่ใช้ทั่วประเทศ หลักสูตรที่เขียนขึ้นมาเป็นไปตามหลักศาสนาพุทธ แต่พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม จึงไม่สอดรับกับหลักสูตรที่มีอยู่ โดยในส่วนตัวผมนั้น ในวัยเด็ก มารดาไม่ให้ไปโรงเรียนที่สอนหลักสูตรสามัญ เช่นเดียวผู้ปกครองท่านอื่น ๆ ที่ไม่อยากให้บุตรหลานไปโรงเรียน เพราะเกรงว่าบุตรหลานจะถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ เพราะขัดกับหลักศาสนาอิสลาม
ดังนั้นการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนนั้นจึงควรที่จะเปิดกว้าง ในลักษณะพหุวัฒนธรรม ให้ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้ โดยจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นกลาง ไม่มีหลักศาสนาหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับศาสนาใดศาสนาหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นอย่างนั้นทุกคนทุกศาสนาเข้าสู่รั้วโรงเรียนที่สอนหลักสูตรสามัญได้
ในส่วนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา หรือโรงเรียนปอเนาะ ผมมองว่าหากรัฐสอนหลักสูตรสามัญร่วมกับหลักการทางศาสนาอิสลาม จะทำให้มีเด็กเดินเข้ามาเรียนเพิ่มมากขึ้น และสามารถควบคุมดูแลในเรื่องของหลักสูตรได้เอง  อย่างไรก็ตามหลักสูตรอิสลามศึกษาผมมองว่าน่าจะมีการพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาให้มีองค์ความรู้และวิถีใหม่ ๆ ให้ร่วมสมัยควบคู่ไปกับโลกมุสลิมมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะให้เกิดขึ้นก็คือ มหาวิทยาลัยอิสลาม ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ นอกจากจะเป็นการต่อยอดทางการศึกษา ดึงเยาวชนมุสลิมเข้าศึกษา โดยไม่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศแล้วยังจะสามารถดึงมุสลิมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้ามาศึกษาในประเทศไทยได้อีกด้วย
@ ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนหลังเข้ารับตำแหน่งใหม่
ไม่ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปมากนัก ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ยังคงเป็นชาวบ้านเหมือนเดิม แต่ในภารกิจในตำแหน่งจุฬาราชมนตรีต้อง เป็นภาคของพิธีการต้องเป็นไปตามขั้นตอนและวาระที่กำหนดเอาไว้ ถือว่าเหนื่อยมากขึ้น
แต่สิ่งหนึ่งที่พยายามจะทำให้ได้เหมือนเดิมคือการสอนหนังสือให้แก่โต๊ะครู โต๊ะอิหม่ามในพื้นที่ ก่อนหน้าที่ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีสอนหนังสือที่มัสยิดกลางประจำ จ.สงขลาอยู่ทุกสัปดาห์ แต่เมื่อภารกิจเพิ่มมากขึ้นอาจจะสอนให้ได้อย่างน้อยเดือนละครั้ง และอาจสอนเพิ่มเติมในกรุงเทพมหานครด้ว
พิมพ์จาก : http://muslimthai.muslimthaipost.com/main/index.php?page=sub&category=19&id=13688
วันที่ : 27 มีนาคม 66 20:26:45
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ http://www.muslimthaipost.com