มุสลิมดอทคอม : อาเจะ อินโดนีเซีย ประเด็นการนำกฏหมายอิสลามมาใช้ กรณีขว้างหินจนตายสำหรับคนมีชู้

มุสลิมไทยดอทคอม อาเจะ อินโดนีเซีย ประเด็นการนำกฏหมายอิสลามมาใช้ กรณีขว้างหินจนตายสำหรับคนมีชู้

     ฝ่ายนิติบัญญัติในเขตปกครองตนเองอาเจะ ประเทศอินโดนีเซีย เสนอกฎหมายซึ่งถือตามกฎหมายอิสลาม กำหนดโทษขว้างด้วยก้อนหินจนตาย สำหรับผู้กระทำความผิดในการมีชู้ แต่กฎหมายดังกล่าวได้รับการคัดค้านอย่างกว้างขวาง และยังขัดกับกฎหมายแห่งชาติ

กฏหมายอิสลาม

 อดีตของอาเจะ

     ในอดีต อาเจะซึ่งอยู่ทางเหนือของเกาะสุมาตรา เป็นจุดหนึ่งในเมืองแรกๆ ที่อิสลามถูกนำเข้ามาเผยแพร่โดยพ่อค้าชาวอาหรับที่เดินทางมาทางเรือ ดังนั้นจึงพบว่ามีความพยายามที่จะนำกฎหมายชาริอะฮฺมาใช้ หลังจากได้รับอำนาจปกครองตนเองจากรัฐบาลเมื่อไม่นานมานี้

     ก่อนหน้านี้มีการลงโทษโบยผู้เล่นการพนัน ดื่มแอลกอฮอล์ และมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงาน และล่าสุดคือการกำหนดโทษขว้างด้วยก้อนหินจนตายสำหรับผู้เล่นชู้ โดย มุฮาร์ริอาดี้ ซยาฟารี จากพรรคจัสติส  (ยุติธรรม) เป็นผู้เสนอกฎหมายนี้ โดยเขากล่าวว่า คนในตะวันตกยากที่จะเข้าใจความหมายของชาริอะฮฺ แต่คนที่นี่สนับสนุน

แนวคิดของผู้ไม่เห็นด้วย

     อีวา เซน ผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเจะ กล่าวว่า กฎหมายชาริอะฮฺไม่เหมาะกับวัฒนธรรมของชาวอาเจะ ในความเป็นจริงของชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นยังมีการคัดค้านกฎหมายนี้จากรัฐบาลกลางในจาการ์ต้า

    ศาสตราจารย์นาซารุดดีน อุมาร์ ประธานประชาคมทางนำอิสลาม ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงศาสนา กล่าวถึงการกำหนดโทษขว้างด้วยก้อนหินว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเรียกร้องต้องการให้ใช้การลงโทษเยี่ยงนี้ เขากล่าวว่า สมัยนี้แตกต่างจากสมัยของท่านศาสดา (ศอลฯ) ซึ่งในสมัยนั้นแม้แต่ตัวของท่านศาสดา (ศอลฯ) เอง ก็ยังพยายามหลีกเลี่ยงการลงโทษดังกล่าว ซึ่งมีเพียงครั้งเดียวในสมัยของท่าน

แนวคิดของผู้เห็นด้วย

    แต่ มุสลิม อิบราฮิม ประธานสภาอุละมะอฺอาเจะ ให้เหตุผลว่ากฎหมายนี้ใช้เพื่อเป็นการยับยั้ง ป้องกันมิให้ทำความผิด โดยในหลักชาริอะฮฺที่แท้จริงแล้ว กว่าจะลงโทษได้ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการมากมาย เช่น ต้องมีพยานที่เชื่อถือได้ถึง 4 คน ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องยาก ซึ่งเขายอมรับว่าบทลงโทษอาจจะดูโหดร้าย แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ จะทำให้ประชาชนเกรงกลัวจนไม่กล้าทำความผิด

    ประชาชนชาวอาเจะเองก็ยังมีความคิดเห็นที่แตกแยกในการใช้กฎหมายชาริอะฮฺ หลายคนเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้ถูกต้องตามหลักการ และสิ่งที่ท่านศาสดา (ศอลฯ) ปฏิบัติ แต่บางคนก็ไม่แน่ใจว่าโทษเช่นนี้จะเหมาะสมสำหรับยุคสมัยหรือไม่ ทั้งๆ ที่เขาก็เชื่อมั่นในศาสนา

    มีบางส่วนคิดว่าจะมีผู้นำกฎหมายนี้มาใช้โดยไม่ยุติธรรม  เช่น ผู้ที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองอาจจะได้รับการหลีกเลี่ยงไม่ต้องถูกลงโทษ หรือการอ้างเพื่อใช้ลงโทษผู้อื่นโดยเขาไม่ผิดจริง

ความเป็นไปได้ในการนำกฏหมายดังกล่าวมาใช้งานจริง

    เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส.ส.ในสภาได้ลงคะแนนไม่รับรองกฎหมายของอาเจะ มีความหวังจากหลายคนในอาเจะว่า รัฐสภาใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานจะลงความเห็นเดียวกัน หรืออาจจะทบทวนกฎหมายนี้

    แต่นักกฎหมายในอาเจะกล่าวว่า หาก ส.ส.ไม่ผ่านกฎหมายดังกล่าว พวกเขาอาจใช้วิธีนำขึ้นสู่ศาลสูงในจาการ์ต้าให้พิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป -  www.muslimthai.com

พิมพ์จาก : http://muslimthai.muslimthaipost.com/main/index.php?page=sub&category=109&id=6742
วันที่ : 29 มีนาคม 66 21:12:15
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ http://www.muslimthaipost.com