|
ใบสั่งออนไลน์ ประกาศิต ช่วยปราบทุจริตตำรวจไทย |
|
|
manager -ผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งหลาย หากพูดถึงสิ่งที่ต้องเกรงกลัวกันระหว่างขับรถนั้นคืออะไร สิ่งแรกที่ต้องผุดขึ้นมาในความคิดก็คือ 'ตำรวจ' และสิ่งต่อไปก็คือ 'ใบสั่ง' แต่ไหนแต่ไรมาเมื่อเจอตำรวจจราจรก็มักจะถูกแถมด้วยใบสั่งกันเกือบทุกครั้งไป หากครั้งไหนเจรจากันสำเร็จตกลงกันได้ก็เป็นอันรอดตัวไป ที่ผ่านมาคนใช้รถใช้ถนนคงคุ้นเคยกับ 'ใบสั่ง' ที่กว่าตำรวจจราจรจะบรรจงตวัดปลายปากกาลงบนสมุดใบสั่ง ที่เขียนกันอย่างคล่องแคล่ว และฉีกกระดาษใบนั้นมาให้ ซึ่งไม่มีใครอยากได้ แต่เร็วๆ นี้จะมีเรื่องแปลกใหม่ให้ตื่นเต้นในวงการตำรวจจราจรและคนใช้รถใช้ถนนกันอีกแล้วนั่นก็คือใครที่ทำผิดกฎจราจรก็จะได้รับ 'ใบสั่งออนไลน์' แทน จากเดิมหากใครที่เคยทำผิดกฎจราจรก็จะต้องเจอการบันทึกข้อหาด้วยปลายปากกาของตำรวจจราจร เพื่อลงข้อมูลว่าฝ่าฝืนกฎจราจรอะไร ต้องเสียเงินค่าปรับเท่าไหร่ แต่วันนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเพื่อไม่ให้ดูเป็นความล้าหลัง สำนักงานตำรวจจราจรจึงนำเอาใบสั่งออนไลน์แบบมือถือ หรือเครื่องอี-ทิกเกต (e-ticket) มาให้ตำรวจจราจรใช้ลงพื้นที่กวดขันวินัยจราจร แทนการออกใบสั่งกระดาษในปัจจุบัน แทนที่จะเป็นการเขียนโดยลายมือที่หลายคนไม่อยากอ่านกัน ก็กลายมาเป็นการใช้ปากกาจิ้มๆ เพื่อสั่งการข้อมูลแทน แล้วพรินต์ออกมาคล้ายๆ ใบเสร็จ คิดดูแล้วเท่ไม่เบา... จากมือเขียนปากกาสู่การจิ้มพีดีเอ เพื่อเป็นการลดกระบวนการงานด้านธุรการของตำรวจจราจรในบางขั้นตอน เพิ่มความสะดวกสบายในการทำงาน ใบสั่งออนไลน์จึงถูกนำมาใช้ในการทำงานของตำรวจจราจร พลตำรวจตรี ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เล่าที่มาของใบสั่งออนไลน์ว่า กำเนิดขึ้นเพื่อตรวจสอบประวัติจราจรคนขับ ตรวจสอบรถ ที่สำคัญใช้เป็นฐานข้อมูลเชิงสถิติการทำงานของตำรวจจราจร เช่น วันนี้ออกใบสั่งไปเท่าไหร่ ข้อหาอะไรบ้าง ‘ใบสั่งออนไลน์’ คือใบสั่งที่ออกโดยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเวลาเจ้าหน้าที่กรอกรหัสในตัวเครื่องเครื่องจะออนไลน์อยู่กับฐานข้อมูลอยู่แล้ว และหากเจอผู้กระทำผิดก็เรียกยึดใบขับขี่ ถ้าเป็นสมาร์ทการ์ดสามารถใช้รูดได้เลย ถ้าเป็นบัตรรุ่นเก่าก็ใช้การกรอกรหัสเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และข้อมูลจะปรากฏ ตำรวจที่ปฏิบัติงานก็กรอกข้อมูลทะเบียนรถ ซึ่งเครื่องออนไลน์จะตรวจสอบประวัติได้ด้วยเพราะมีฐานข้อมูลอยู่ “เมื่อเรากรอกทะเบียนรถ ฐานข้อมูลก็จะระบุอยู่แล้วว่ามีประวัติอะไร เคยแจ้งหายไว้หรือเปล่า ถูกขโมยหรือเปล่า ถูกยี่ห้อหรือเปล่า ทะเบียนปลอมหรือเปล่า เมื่อตรวจสอบแล้วก็จะพรินต์ออกมาเหมือนสลิป พรินต์นี่ก็เหมือนใบสั่ง แต่เป็นใบสั่งขนาดย่อ โดยข้างล่างจะมีบาร์โค้ดไว้ด้วย เบื้องต้นไว้ตรวจสอบความถูกต้อง” เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ตำรวจจราจรหลายเด้ง เพราะเมื่อตำรวจออกใบสั่งออนไลน์ (บนถนน) เรียบร้อยแล้วพอไปถึงโรงพักก็ไม่ต้องกรอกข้อมูลอะไรอีก เพราะข้อมูลเชื่อมถึงกัน ลดขั้นตอนการทำงานธุรการโรงพักไปด้วย “ในอนาคต ถ้ามีการใช้แพร่หลายเราก็ไม่จำเป็นต้องยึดใบอนุญาตขับขี่ และก็อาจจะชำระค่าปรับที่ไหนก็ได้ ถ้าข้อมูลเชื่อมโยงกันหมด คล้ายๆ ใบสั่งของประเทศอเมริกา แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้” รอง ผบช.น. สรุป หากผลการทดลองใช้ใบสั่งออนไลน์แล้วได้ผลดี ก็จะเป็นเรื่องสะดวกของประชาชน ซึ่งตำรวจอาจจะไม่ต้องยึดใบอนุญาตขับขี่ ไม่ต้องไปชำระค่าปรับที่เขตพื้นที่ที่ถูกจับ อาจจะที่ศูนย์รับชำระค่าบริการอื่นๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ธนาคาร หรือตู้เอทีเอ็ม เป็นต้น “ตอนนี้เราทดลองระบบ แต่ยังไม่มีเริ่มแจกชาวบ้านจริงๆ เป็นแค่การทดลองระบบภายใน พอสิ้นเดือนจะแจกชาวบ้านแล้วล่ะ ต้องดูวันนั้นว่าใครจะได้ใบสั่งออนไลน์คนแรกของไทย” เรียนรู้สิ่งใหม่ของตำรวจจราจร มือที่ใช้โบกรถไปมา เมื่อก่อนเคยจับปากกามาเขียน ก็ต้องเปลี่ยนเป็นจับปากกามาจิ้มพีดีเอแทน พวกเขาเหล่านั้นจะว่าอย่างไรบ้างกับเทคโนโลยีชิ้นใหม่ล่าสุดนี้ และเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ ตำรวจจราจรสูงวัยทั้งหลายต่างเกรงกลัวเครื่องมือใหม่นี้กันเป็นแถว พลตำรวจตรี ภาณุ บอกว่า หน้าตาเครื่องใบสั่งออนไลน์ คล้ายปาล์มขนาดใหญ่ หรือพีดีเอ แต่ขนาดใหญ่กว่านิดหน่อย เพราะต้องมีเครื่องพรินต์เตอร์ติดอยู่ด้วย มีเสาอากาศ สามารถถือได้เต็มมือ หากใครนึกภาพไม่ออกก็หน้าตาคล้ายๆ ที่พนักงานเอ็มเคสุกี้ใช้อยู่นั่นแหละ “ตอนนี้เรากำลังทำเรื่องขออนุมัติอบรม แต่ว่าส่วนใหญ่จะใช้กันได้แล้วล่ะ ง่ายนิดเดียว ปากกาจิ้มๆ ” เบื้องต้นที่รอง ผบช.น.คนนี้ได้พูดคุยกับตำรวจจราจรที่ต้องลงพื้นที่ปฏิบัติงานและต้องใช้เครื่องพีดีเอนี้ ทุกคนเริ่มหนักใจ “ บางคนกลัวเครื่อง กลัวเทคโนโลยี ตำรวจพอเห็นคอมพ์แล้วจะกลัวกัน ถ้าใช้ไปสักพักจะชิน และชอบด้วย เพราะเร็ว เชื่อว่าถ้าผ่านการอบรมแล้วทุกคนจะมีความสุขมาก ใช้เวลาในการออกใบสั่ง 30 วินาที ซึ่งแบบเดิมใช้เวลา 1 นาทีขึ้นไป” หากพูดถึงตำรวจจราจรกับสิ่งใหม่นี้ ทุกคนมีความเห็นสองอย่าง คือ มีทั้งอยากใช้และไม่อยากใช้ ซึ่งของแบบนี้ต้องใช้เวลา ต้องให้มีการพูดต่อ มีทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ให้เปรียบเทียบ ให้พวกที่ใช้ไปคุยให้ฟังกัน เขาเคยใช้ทั้งแบบเก่าแบบใหม่ เขามีความสุขอย่างไรบ้าง เบื้องต้นใบสั่งออนไลน์จะถูกสั่งให้ใช้ใน สน.วัดพระยาไกร สน.ลุมพินี สน.ทองหล่อ สน.ท่าเรือ สน.ทุ่งมหาเมฆ สน.บางโพงพาง สน.พระโขนง สน.บางนา สน.คลองตัน และ งาน 5 (ตรวจพิเศษ) กก.1 บก.จร. แห่งละ 2 เครื่อง รวม 20 จุด ทั่วกรุงเทพฯ โดยให้ตำรวจแต่ละนายหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันใช้ได้ “ใช้เวลาเรียนรู้แป๊บเดียว ผมลองแล้วหมูมากเลย มันเป็นกระเป๋าสะพายเหมือนย่าม สะดวกในการทำงาน ลองมาแล้ว” รอง ผบช.น. กล่าว สุดท้าย รองผบช.น. สรุปว่า เมื่อได้เทคโนโลยีใหม่ สามารถลดเวลาในการปฏิบัติงาน สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการใช้เทคโนโลยีใหม่ กำกับดูแล ควบคุมได้ด้วย ไม่ใช่ว่ากรอกไปแล้วจะเปลี่ยนแปลงข้อมูล หากจะเปลี่ยนต้องมีเหตุผลไม่ใช่จะเปลี่ยนแปลงด้วยวาจาได้ สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อการทำงานของตำรวจมากขึ้น “จริงๆ แล้วช่วยลดการทุจริตด้วยก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่หลักๆ คือ การตั้งข้อกล่าวหาจะศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น” ส่วน พ.ต.ท.จิรภัทร มุ่งดี รองผู้กำกับการจราจร (รอง ผกก.จร.) สถานีตำรวจบางโพงพาง ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 สถานีตำรวจนำร่องในการใช้เครื่องออกใบสั่งออนไลน์บอกว่ายังไม่ได้พบหน้ากับเครื่องออกใบสั่งออนไลน์นี้ แต่ก็มีการพูดคุยกันกับเพื่อนๆ ตำรวจจราจรด้วยกันบ้างแล้ว “ยังบอกอะไรชัดเจนไม่ได้ เราก็มีการพูดกันเฉยๆ ว่าจะมีการใช้เครื่องออกใบสั่งออนไลน์แล้วเหรอ แล้วเราจะใช้เครื่องเป็นไหม หากมีข้อกำหนดมา มีระเบียบที่ชัดเจนกว่านี้ มีความเกี่ยวข้องและรองรับเราเองก็ต้องเตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว แต่สำหรับตอนนี้เรายังไม่ได้เตรียมหรือดำเนินการใดๆ เลย” ใครบางคน ที่อาจจะได้รับ 'ใบสั่งออนไลน์' คนใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพฯ ก็เป็นอันรู้แล้วว่า หากใครฝ่าฝืนกฎจราจรในเขตพื้นที่ดังกล่าวก็มีสิทธิ์จะได้ใบสั่งออนไลน์นี้ได้ซึ่งมีโอกาสจะถูกเรียก ถูกปรับ จากตำรวจจราจรได้ทุกคน จนถึงขนาดที่ว่าใครไม่เคยโดนตำรวจเรียกเลยกลายเป็นเรื่องแปลก และส่วนที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ‘การยัดเงิน’ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมเราไปเสียแล้ว เพราะหลายๆ คนต้องการประหยัดทั้งเงินและเวลา “ส่วนตัวไม่ค่อยเห็นความแตกต่างที่จะเกิดกับเราเท่าไร มันเป็นความสะดวกสบายในการทำงานของตำรวจเขามากกว่า แต่สุดท้ายเราก็ต้องจ่ายเงินแบบเดิมอยู่ดี” กิติพัจน์ เอี่ยมอร่ามศักดิ์ ช่างภาพหนุ่มให้ความเห็น และเปรียบเทียบงานจราจรในประเทศเกาหลีให้ฟังว่า “ที่เกาหลีเนี่ยเขาไม่มีมั่วเลยนะ ไม่ใช่เพราะเขาออนไลน์ด้วยแต่เขามีกล้องคอยจับคนทำผิดกฎจราจรอยู่ เพราะฉะนั้นตำรวจก็จะมั่วไม่ได้ อย่างมากคือมีแต่ตักเตือนและปล่อยไป แต่ไม่มีใต้โต๊ะเด็ดขาด แถมความผิดทุกอย่างจะสะสมทางออนไลน์ไปจ่ายทีเดียวตอนต่ออายุใบขับขี่” อีกหนึ่งหนุ่มอย่าง วาลัด เสน่ห์ นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชื่นชอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้สัมภาษณ์ว่า รู้ข่าวเกี่ยวกับใบสั่งออนไลน์มาได้สักพักแล้ว และน่าจะช่วยจัดระบบงานของตำรวจได้ดีขึ้น และเขาพูดถึงประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกจับเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์โดยที่ไม่ได้ดื่มเหล้ามาสักหยด แต่ตัวเลขกลับบ่งชี้ว่าเขาเมามาอย่างน่าอัศจรรย์ “ผมคิดว่าระบบนี้เป็นระบบที่ดีและสร้างระบบให้เป็นระเบียบได้ แต่ว่าก็ต้องปรับปรุงระเบียบของผู้คุมกฎหมายด้วยนะครับ เพราะตำรวจก็มีหลายประเภท ทั้งที่จับเราเพราะผิดจริงก็มี จับเราด้วยข้อหาเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าจะตักเตือนกันได้เพราะอยากได้เงินก็มี “อย่างน้อยมันน่าจะทำให้การจราจรสะดวกรวดเร็วขึ้น ไม่มีการพูดคุยกันนานๆ แต่ขบวนการขู่ให้ยัดเงินยังมีเหมือนเดิมแหละครับ เพราะถ้าเขาไม่กดส่งข้อมูลก็ยังมีโอกาสจะรับเงินใต้โต๊ะได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วหลายคนก็เลือกที่จะจ่ายร้อยเดียวให้ตำรวจ เพราะมันเป็น วันสตอปเซอร์วิส (One Stop Service) ที่เร็วที่สุด แถมถูกกว่าไปจ่ายค่าปรับเองที่ สน. ด้วยซ้ำ” เขากล่าวสรุปความจริงที่ทุกคนรู้แต่ไม่มีใครอยากยอมรับ แต่กับ ฉายชนก อรุณชัยพร นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ โครงการรัสเซียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองในแง่ดีว่า แม้โดยรวมแล้วเธอรู้สึกว่าทั้งหมดเป็นเรื่องอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า แต่ถ้าในอนาคตข้างหน้ามีการปรับให้สามารถจ่ายค่าปรับได้หลายที่สะดวกขึ้นน่าจะเป็นเรื่องดี “น่าจะสะดวกในการจ่ายขึ้น บางทีอันจะลดการยัดเงินได้นะคะ เพราะถ้ามองในอีกมุมหลายคนขี้เกียจไปโรงพักก็เลยยัดไปให้จบๆ เรื่อง” …….. หากไม่มีอะไรผิดพลาดปลายเดือนนี้จะมีการใช้ใบสั่งออนไลน์ สั่งจริง! ปรับจริง! กันในบางพื้นที่เขตจราจร สำหรับงานนี้ รอดูกันว่า ใครจะเป็นคนแรกที่ได้รับใบสั่งออนไลน์ (น่าดีใจหรือเสียใจกันแน่) |
|
|
เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :- |
|
|
|
|
|
|