กล้วยเล็บมือนาง กล้วยรสชาติดีของภาคใต้
ถ้าขับรถมุ่งหน้าสู่ภาคภาคเหนือ ก็ต้องผ่านจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งจะเห็นตลาดนัดกล้วยไข่ริมทาง แขวนกล้วยเป็นหวีเป็นเครือเหลืองอร่ามเต็มไปหมด ใครผ่านมาเห็นก็ต้องบอกว่าที่นี่คือกำแพงเพชร เพราะมีกล้วยไข่เป็นสัญญลักษณ์ จาก ในอดีตที่เคยขายแต่กล้วยไข่และผลิตภัณฑ์จากกล้วย ปัจจุบันได้มีสินค้าอื่นๆของท้องถิ่นมาวางขายกันมากมาย รวมทั้ง อาหารการกิน จนกลายเป็นตลาดนัดริมทางขนาดใหญ่ และดูเหมือนจะใหญ่โตกว่าที่เคยเห็นในที่อื่นๆ บรรยากาศที่นั่นก็เป็นไปอย่างคึกคัก ไม่ต่างจากตลาดหนองมนต์ของจังหวัดชลบุรี ที่ใครผ่านไปก็ต้องนึกถึงข้าวหลามหนองมนต์รสอร่อย แต่ ถ้าขับมาเที่ยวภาคใต้ ก็คงต้องเห็นตลาดนัดกล้วยเล็บมือนางที่อำเภอท่าแซะ เขตจังหวัดชุมพร ตลาดอาจไม่คึกคักเหมือนเช่นกำแพงเพชร แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดริมทางที่ใหญ่โตแห่งหนึ่งของเส้นทางสายใต้
กล้วยเล็บมือนาง แม้ตลาดจะแคบกว่ากล้วยไข่และรู้จักกันเฉพาะในกลุ่มคนภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าพูดถึงรสชาติแล้ว ต่างก็ยอมรับว่ากล้วยเล็บมือนางของชุมพรรสชาติดีที่สุด ใครมาเที่ยวชุมพรก็คงเห็นกล้วยเล็บมือนาง และมีขายกันเกือบทุกหนแห่ง และถ้าเข้าไปในเขตเมือง หรือตามตลาดสด ก็จะเห็นกองขายอยู่มากมาย กล้วย เล็บมือนาง ลักษณะผลจะเรียวเล็กคล้ายนิ้วมือสุภาพสตรี ผลไม่ใหญ่นักแต่มีกลิ่นคล้ายกล้วยหอม และมีรสชาติหวานทั้งกลิ่นและรสหวานจะมีลักษณะเฉพาะตัว บางคนบอกว่าหวานแบบฉุนเล็กน้อย บางคนก็บอกว่าหวานหอม ผม ขับรถไปเที่ยวภาคใต้ก็ต้องผ่านจังหวัดชุมพรทุกครั้ง แต่ก็ไม่ค่อยจะมีเวลาแวะตลาดผลไม้ข้างทางบ่อยนัก ทั้งนี้ก็เพราะกลัวจะเสียเวลา ซึ่งอาจไปถึงที่หมายปลายทางล่าช้ากว่ากำหนด อีกประการหนึ่งก็เพราะไม่มีป้ายประชาสัมพันธ์กันล่วงหน้า ว่าอีกกี่กิโลเมตรจะมีตลาดผลไม้ของชาวบ้านและเชิญชวนให้อุดหนุน กว่าจะเห็นตลาดนัด รถก็วิ่งมาด้วยความเร็วสูงและวิ่งอยู่เลนขวา ครั้นจะเบี่ยงเข้าเลนซ้ายทันทีทันใดก็อาจไม่ปลอดภัย จึงต้องเลยตามเลยทั้งๆที่อยากแวะ หาก จังหวัดใดต้องการจะให้นักเดินทางอุดหนุนสินค้าชาวบ้านที่มีการจัดที่จัดทาง ไว้อย่างถูกต้อง ก็อยากแนะนำให้ทำป้าย บอกล่วงหน้ากันหน่อย คนขับรถจะได้รู้ตัวและบอกกล่าวผู้ร่วมเดินทางให้เตรียมตัวยืดเส้นยืดสาย หลังนั่งหลังขดหลังแข็งกันมาเป็นเวลานาน ปลาย ปี ' 45 ผมขับรถมาถึงท่าแซะเอาช่วงบ่ายๆ คราวนี้พอจะมีเวลาบ้างก็เลยแวะตลาดกล้วยเล็บมือนางที่เห็นเป็นแนวยาวอยู่สอง ริมทางใกล้กับเชิงเขา ก่อนหน้านี้เมื่อผ่านอำเภอนี้ทีไร ก็อดนึกถึงคราวที่เกิดวาตภัยจากพายุเกย์เมื่อหลายปีก่อนไม่ได้ เหตุการณ์ครั้งนั้น ในบริเวณแถวๆนี้คงราบเป็นหน้ากลอง เพราะเป็นแนวศูนย์กลางของพายุที่เคลื่อนผ่าน เป็นความหายนะที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาและมีผู้เสียชีวิตนับร้อยๆคน จอด รถชิดริมทางเสร็จก็คว้ากล้องมาเก็บภาพตามถนัด วันนี้เห็นเมฆสวยเลยได้มาหลายภาพก่อนที่จะเดินไปตามเพิงร้านค้า ถ่ายไปได้สักพักก็มาหยุดอยู่ที่ร้านๆหนึ่ง เห็นคุณป้าเจ้าของร้านกำลังสาละวนกับกล้วยอบ จึงถือโอกาสชวนคุย "นี่จะถ่ายเอาไปลงไทยรัฐ หรือเดลีนิวส์....ป้าจะได้ตามไปดู.." ป้าไสว อินทรสุภา ถามผมด้วยแววตาที่ดูจะดีใจนิดๆ ที่เห็นผมถ่ายภาพในร้านไปหลายภาพ "ผมจะเอาไปลงหนังสือต่างประเทศครับป้า...ให้พวกฝรั่งเค้ารู้จักเมืองไทย จะได้มาเที่ยวกันแยะๆ.."
ผมคงไม่กล้าบอกว่าจะถ่ายไปลงเวปไซต์ เพราะคิดว่าแกคงไม่รู้แน่ ขืนจะอธิบายมากไปก็ป่วยการเปล่าๆ
ผม นั่งคุยกับป้าไสว โดยมีญาติคุณป้าชื่อคุณ อุรสิญธ์ คมสินธุ์ มาร่วมสนทนาเพื่อให้ความกระจ่างในบางเรื่อง ซึ่งทั้งสองต่างให้ความร่วมมือด้วยดี เรื่องใดไม่แน่ใจก็จะเรียกคนอื่นมาช่วยตอบให้ เพราะคงเห็นผมคุยไปด้วยและจดโน๊ตไปด้วย คุย กันไปได้สักพักผมก็จะลุกไปซื้อน้ำดื่ม ป้าไสว ก็ใจดี ลุกไปซื้อมาให้ แถมไม่ยอมรับเงินจากผมอีกต่างหากก็ขอขอบคุณน้ำใจจากคุณป้ามา ณ ที่นี้ด้วย ใครอ่านมาเจอตรงนี้และมีโอกาสแวะตลาดนัดที่นั่น หากเป็นไปได้ก็อยาก ช่วยฝากขอบคุณป้าไสวด้วย ที่ช่วยให้มีเรื่องราวและภาพลงเวปไซต์ แม้เรื่องราวจะผ่านมาปีกว่าๆ แต่คิดว่าป้าไสวยังคงขายกล้วยอยู่ที่เดิม เพราะเป็นคนพื้นเพที่นั่น ปัจจุบัน ร้านค้าแถวนั้นมีประมาณ 300 กว่าร้าน อยู่ติดกับศาลเจ้าพ่อหินช้างที่มีประวัติเล่าขานมาตั้งแต่ปี 2495 เมื่อครั้งมีการสร้างถนนสายนี้ ที่คนขับรถเกรดรายหนึ่งเสียชีวิต และการก่อสร้างต้องหยุดชะงักลงด้วยเหตุอาเพทบางอย่าง จึงมีการตั้งศาลเพื่อบนบานและทำพิธีขอขมาตามความเชื่อ จึงสามารถทำงานต่อไปได้ จนเป็นที่ร่ำลือของผู้คน และเป็นสถานที่กราบไหว้ของนักเดินทาง ใครผ่านไปผ่านมาก็จะบีบแตรรถเหมือนเป็นการคาราวะเจ้าพ่อ บางรายก็อาจจอดรถซื้อช้างไม้ตัวเล็กๆไปบูชา จากจุดเริ่มต้นของศาลเจ้าพ่อช้าง ก็กลายเป็นที่จอดแวะ และเป็นตลาดผลไม้ของท้องถิ่นมาจนถึงปัจจุบัน กล้วย ที่นี่ขายส่งกันกิโลละ 5 บาท โดยมาจากอำเภอต่างๆในจังหวัดชุมพร เช่น ท่าแซะ หลังสวน สวี บางส่วนอาจมาจากประจวบคีรีขันธ์ เหตุที่กล้วยเล็บมือนางของชุมพรมีรสชาติดีกว่าที่อื่น ป้าไสวบอกว่าเป็นเพราะดินดี ดินที่ชุมพรเหมาะสำหรับปลูกกล้วยเล็บมือนาง และที่ท่าแซะนี้ชาวบ้านจะปลูกกันเกือบทุกครัวเรือน แม้บ้านอยู่อาศัยก็นิยมปลูกกันอย่างน้อยบ้านละต้นสองต้น กล้วย เล็บมือนางจะแปลกว่ากล้วยชนิดอื่น คือเป็นกล้วยที่ปลูกโดดเดี่ยวไม่ได้ ต้องปลูกพืชชนิดอื่นขึ้นมาแซม ชาวบ้านบอกว่าเป็นกล้วยขี้เหงา ซึ่งจริงๆแล้วกล้วยชนิดนี้ไม่ชอบแดดจัด จำเป็นต้องอาศัยร่มเงาจากไม้ชนิดอื่น จึงจะเจริญเติบโตเต็มที่และให้ผลผลิตดี กล้วย ที่นี่จะขายกันเป็นมัดๆละ 2 หวี ในราคา 20 บาท ส่วนถ้าจะยกเครือก็ตกเครือละ 100 บาท เหมาะสำหรับบ้านที่มีญาติเยอะ หรืออาจซื้อไปฝากพรรคพวกเพื่อนฝูงที่ทำงาน เป็นของฝากราคาถูกแต่ได้ปริมาณมาก และทานกันได้หลายคน กล้วย เล็บมือนาง จะต่างจากกล้วยไข่ตรงที่ไม่มีฤดูกาล คือสามารถออกผลกันตลอดปีเหมือนกล้วยน้ำว้า ส่วนกล้วยไข่ จะออกเฉพาะฤดฝนในช่วงเข้าพรรษา เป็นผลไม้ที่นิยมทานกับกระยาสาร์ท และเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร เห็นกล้วยไข่ก็ต้องนึกถึงกระยาสาร์ท แต่ในปัจจบันหลายคนอาจไม่รู้มาก่อน ถ้าใครไม่ทราบก็อยากแนะนำให้ลอง แล้วก็จะรู้ว่าเข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ยจริงๆ กินแล้วไม่ติดเหงือกติดฟันจนน่ารำคาญ กล้วย เล็บมือนางที่นี่หากเหลือจากการขายก็จะนำมาทำกล้วยอบ ซึ่งความจริงก็คือกล้วยตากนั่นเอง แต่วิธีการไม่ได้อาศัยแสงแดดแบบดั่งเดิมกันแล้ว เพราะภาคใต้เป็นเขตฝน และน่าจะเป็นอุปสรรคในการทำกล้วยตาก ที่นี่เค้าใช้ตู้อบแก็สแทนเป็นตู้เหล็กขนาดใหญ่ มีพัดลมเป่าความร้อนให้กระจาย ฝนตกแดดออกก็ไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใด อบ ทิ้งไว้ในตู้อบแค่สองวัน ก็นำมาบรรจุกล่องขายได้เลย เราเคยได้ยินการอบผลไม้ด้วยแก็สกันมานาน เช่นมะม่วงสุกกล้วยหอม กล้วยไข่ ที่จะให้ผลสุกมีน้ำมีนวลสวยงามทั่วทั้งลูก แต่ปัจจุบันได้นำวิธีการนี้มาใช้กับผลไม้ชนิดอื่นกันมากแต่การอบด้วยวิธีนี้ ก็มีข้อเสียที่เป็นการเร่งรัดและฝืนธรรมชาติ ทำให้สู้รสชาติที่ให้สุกแบบธรรมชาติไม่ได้ กล้วย เล็บมือนางมีการส่งเสริมกันอย่างจริงจังภายหลังเกิดเหตุพายุเกย์ ป้าไสวเล่าว่าตอนนั้นชาวบ้านหมดเนื้อหมดตัว บ้านก็พัง สวนก็ล่ม ก็มีกล้วยเล็บมือนางนี่แหละ ช่วยทำให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ เพราะให้ผลผลิตที่รวดเร็ว ปลูกไว้ไม่นานก็ขายได้ หลังจากนั้นก็เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น และนิยมรับประทานกันมาจนถึงปัจจุบัน หากนักท่องเที่ยวท่านใด ขับรถผ่าน อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ก็น่าจะแวะอุดหนุนสินค้าที่เป็นผลผลิตจากชาวบ้านโดยตรงเพื่อส่งเสริมให้ เกษตรกรมีโอกาสสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ลองเพลาๆกินชาเขียวหรือขนมขบเคี้ยวที่ทำจากโรงงานในขณะเดินทางกันบ้างและหัน มาแวะอุดหนุนสินค้าพื้นบ้าน ก็น่าจะเป็นการช่วยเหลือสังคมชนบทได้ไม่น้อยทีเดียว ก่อนจากกันในวันนั้น ป้าไสว ได้ฝากคำขวัญของจังหวัดชุมพรว่า ชุมพรประตูเมืองใต้ ใหว้เสด็จในกรม ชมเรือรบ ชมธรรมชาติ ฟังคลื่นซัดสาด ณ หาดทรายรี
(ไม่แน่ใจปัจจุบันว่าจะเปลี่ยนไปหรือเปล่า เพราะเห็นบางแห่งมีข้อความมากกว่านี้)อ่อ มีอีกหนึ่งของฝากจากชุมพร เพิ่งไปเจอมาเนื้อสวรรค์ ของ กลุ่มสตรีมุสลิมมูฮาญีรีน กินอร่อยเลยอยากบอกต่อ อยากกินก็ติดต่อได้ที่นี่เลย
|