ยูเฟรติสแห้งขอด เกษตรกรอิรักปลูกข้าวไม่ได้ กาซาลี,นาจาฟ พื้นดินที่เคยเป็นนาข้าวกว้างใหญ่ต้องแห้งเกรียม และเต็มไปด้วยซากวัชพืช เกษตรกรอิรักจำนวนมากไม่สามารถปลูกข้าวสาลีได้ในปีนี้ เพราะปริมาณฝนที่น้อย และน้ำในแม่น้ำที่แห้งขอด หมู่บ้านกาซาลี ในเมืองนาจาฟทางตอนใต้ของอิรัก เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำหรับทำอาหารหลักของชาวอิรักมาช้านาน แต่หลังจากปี 1990 เป็นต้นมา แม่น้ำยูเฟรติสที่เคยหล่อเลี้ยงพื้นที่บริเวณนี้เริ่มลดระดับลง พลอยทำให้ผลผลิตของเกษตรกรลดลงทุกปี 
ขณะนี้น้ำจากยูเฟรติสสามารถหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรได้เพียง 1 ใน 4 ของจำนวนพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น พื้นที่รูปจันทร์เสี้ยวที่อุดมสมบูรณ์ของอิรัก ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำไทกริส และยูเฟรติส เคยเป็นอู่ข้าว อู่น้ำมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนหลายคนเชื่อว่าบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของสวนอีเดน ที่ปรากฏในประวัติสมัยอาดัมและอีฟ ปัจจุบันอิรักต้องนำเข้าข้าวถึงร้อยละ 90 ทั้งๆ ที่เมื่อห้าสิบปีที่แล้ว อิรักเป็นผู้ส่งออกข้าวและข้าวสาลีรายสำคัญ เกษตรกรหลายคนสังเกตว่า แม้แต่นกอพยพที่เคยแวะพักตามลำน้ำก็ไม่มีให้เห็นในปีนี้ และพวกเขาคงต้องส่งลูก-หลานเข้าไปทำงานกรรมกรในเมือง นอกจากปัญหาฝนแล้ง และปัญหาที่ประเทศเพื่อนบ้านของอิรักสร้างเขื่อน ไม่ปล่อยน้ำให้ลงแม่น้ำมากพอ ยังมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการเพาะปลูกอีกข้อหนึ่งคือ เรื่องดินเค็ม ซึ่งเกิดจากเทคนิคของการสร้างเขื่อนซึ่งปล่อยน้ำให้ท่วม ผืนดินเกษตรกรรมของนาจาฟที่เคยกว้างใหญ่ถึงห้าหมื่นเอเคอร์ บัดนี้ลดลงเหลือเพียง 17,250 เอเคอร์ ตัวเลขผลการผลิตข้าวของอิรักในปี 2008 อยู่ที่ 120,000 ตัน แต่การนำเข้าข้าวมากกว่าจำนวนนี้สิบเท่า เป็นเงินกว่า 600 ล้านดอลล่าร์ (400 ล้านยูโร) เพราะปริมาณผลผลิตสามารถเลี้ยงประชากรได้เพียง 30 % สำหรับข้าวสาลี ในปี 2008 อิรักนำเข้าข้าวสาลี 3.5 ล้านตัน คิดเป็น 3 ใน 4 ของปริมาณการบริโภคในประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรได้วางแผนทำโครงการวางท่อส่งน้ำแบบอัตโนมัติ โดยจะฉีดน้ำเป็นฝอยเพื่อช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผลผลิตในพื้นที่ 750,000 เอเคอร์ ซึ่งวิธีนี้สามารถประหยัดน้ำได้ครึ่งหนึ่ง และช่วยลดความเค็มของดินได้ด้วย นอกจากนั้น นักวิจัยอิรักยังได้คิดค้นพันธ์ข้าวใหม่ที่สามารถเติบโตได้ในดินที่มีความเค็ม และยังมีการวิจัยพัฒนาดินให้อุดมสมบูรณ์สำหรับการเพาะปลูกในอนาคต - www.muslimthai.com |