มุสลิมไทยดอทคอม ประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ
ไคโร – ประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง ซึ่งมีการสูบยาเส้นผ่านน้ำกันอย่างแพร่หลาย กำลังพยายามบังคับใช้กฎหมายห้ามกิจกรรมดังกล่าวในที่สาธารณะ ทั้งๆ ที่ความเป็นไปได้เกิดขึ้นยากยิ่ง

ในเมืองหลวงเช่นเบรุต ไปจนถึงไคโร มีการสูบบุหรี่กันทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะในร้านกาแฟ หรือภัตตาคาร รวมทั้งในธนาคาร สถานที่ราชการ และแม้แต่ในโรงพยาบาล
อียิปต์ประกาศเมื่อวันพฤหัสว่า จะทำให้อเล็กซานเดรียเป็นเมืองปลอดควันบุหรี่ แต่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้เปิดเผยในรายละเอียด ว่าขั้นตอนจะเป็นเช่นไรบ้าง เพราะกฎหมายห้ามการสูบในที่สาธารณะที่ประกาศใช้แล้วยังคงมีการฝ่าฝืน ทั้งจากข้าราชการและตำรวจ
องค์การอนามัยโลกเปิดเผยรายงานเมื่อเดือนมกราคมว่า ร้อยละ 40 ของชายชาวอียิปต์ติดนิสัยสูบบุหรี่กันตลอดวัน
ทั้งจอร์แดน ซีเรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างอนุมัติกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ออกมาบังคับใช้แล้ว เพื่อหวังให้ประชาชนเลิกทำลายสุขภาพตัวเอง
เมื่อเดือนมกราคม ชีคคอลิฟา บิน ซัยยิด อัล-นาฮายัน ผู้นำเอมิเรตส์ สั่งห้ามสูบบุหรี่บนรถโดยสารสาธารณะ และพื้นที่ที่ไม่สามารถระบายอากาศได้ เมืองดูไบเคยออกกฎเกี่ยวกับการห้ามสูบบุหรี่ตั้งแต่ปี 2007
เจ้าหน้าที่สำนักข่าว WAM ยอมรับว่ากฎหมายห้ามสูบบุหรี่ไม่อาจใช้บังคับได้ในทุกสถานที่ แต่ยืนยันว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ต้องมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดในสถานที่ราชการ อาทิ โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล รวมทั้งโรงภาพยนตร์ สถานออกกำลังกาย
มีรายงานจากซีเรียว่า ร้อยละ 60 ของผู้ชาย และร้อยละ 23 ของผู้หญิงที่นั้นเป็นนักสูบ ซีเรียประกาศกฎหมายห้ามสูบในที่สาธารณะตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งมีโทษปรับระหว่าง 45 – 870 ดอลล่าร์ (37-720 ยูโร) และอาจต้องติดคุกอย่างน้อย 2 ปี
นอกจากปัญหาด้านสุขภาพแล้ว ตัวเลของค์กรยาสูบของรัฐยังระบุว่า ประชาชนชาวซีเรียเผาเงินร้อยละ 8 ต่อปีไปกับควันบุหรี่
องค์การอนามัยโลกเปิดเผยตัวเลขของประเทศอียิปต์ว่า ผู้สูบใช้เงินร้อยละ6 ไปกับการซื้อยาสูบ ซึ่งการสูบชิช่าได้รับความนิยมทั่วประเทศมาแต่โบราณ
จอร์แดนเริ่มประกาศใช้กฎหมายห้ามสูบในที่สาธารณะเมื่อ 25 พฤษภาคม ซึ่งเจ้ากระทรวงสาธารณะสุขสั่งตรวจตราเข้มงวด โดยมีการส่งสายไปสอดส่องตามกระทรวง และสถานที่สาธารณะอื่นๆ
แต่อีกหลายประเทศอาหรับยังคงไม่เต็มใจที่จะออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่
เลบานอนเป็นประเทศที่หาซื้อบุหรี่ได้ง่ายด้วยราคาเพียงซองละ 1 ดอลล่าร์ ยังคงไม่เสร็จสิ้นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ และถึงแม้จะเคยลงนามกับองค์การอนามัยโลก เพื่อวางกรอบการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ แต่เอกสารนั้นก็ไม่เคยนำมาใช้
รายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2005 เปิดเผยว่า ร้อยละ 60 ของชาวเลบานอนสูบบุหรี่ ซิการ์ หรือชิช่าตั้งแต่อายุ 13-15 ปี ซึ่งนับเป็นตัวเลขของผู้ริสูบบุหรี่ที่น้อยอายุที่สุดในบรรดาประเทศอาหรับทั้งหมด บาร์บางแห่งจัดวันสำหรับผู้ไม่สูบบุหรี่ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจนถึงปัจจุบัน
ในขณะที่ประเทศอิรักไม่มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามสูบบุหรี่ และมีสถานที่เพียงไม่กี่แห่งที่สนใจในการออกกฎห้ามสูบบุหรี่ ในจำนวนสถานที่เหล่านี้ โรงพยาบาลโรคหัวใจ อิบนิ บิตต้าร์ ในกรุงแบกแดด ได้รับคำสั่งจากเจ้ากระทรวงสาธารณะสุขให้มีการตรวจตราเข้มงวด โดยจะยึดซองบุหรี่จากผู้มาเยือนทุกคนไว้ก่อนอนุญาตให้เข้า - www.muslimthai.com |