นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคงภายใน (ผอ.สน.มน.) กรมการปกครอง (ปค.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ถึงการประชุมสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคมนี้ ว่า จะต้องเสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติ และมีผู้รับรอง 20 คน หากมีการเสนอเกิน 3 ชื่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่ง จะต้องจับสลากรายชื่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 38 จังหวัด เป็นตัวแทนจังหวัดละ 1 คนมาเป็นคณะกรรมการคัดเลือกจำนวน 38 คน ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติให้เหลือเพียง 3 คน ก่อนที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้งหมด 740 คนจะลงคะแนนลับในคูหา เพื่อเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเพียงคนเดียว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่าคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) ส่งหนังสือมายังกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณาถอดถอนคณะกรมการอิสลามกรุงเทพฯ 26 คน นายไมตรีกล่าวว่า กอท.ส่งหนังสือดังกล่าวมาจริง โดยระบุว่าขาดคุณสมบัติ ปค.ได้ทำหนังสือขอข้อมูลรวมทั้งมติในที่ประชุมในวันที่มีการเสนอชื่อถอดถอนแล้ว แต่ยังไม่มีการส่งรายงานการประชุมมายังกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด จึงยังไม่ได้ดำเนินการถอดถอนแต่อย่างใด
เมื่อถามว่า หากไม่ถอดถอนคณะกรรมการอิสลามทั้ง 26 คน ถือว่าคณะกรรมการชุดนี้ยังเข้าร่วมประชุมและลงคะแนนเสียงเลือกจุฬาราชมนตรีได้ใช่หรือไม่ นายไมตรีกล่าวว่า คงจะเป็นอย่างนั้น เพราะ กอท.ยังไม่ได้ส่งรายงานการประชุมมา จึงถือว่าการถอดถอนยังไม่สมบูรณ์
ข่าวแจ้งอีกว่า นายอรุณ บุญชม ประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพฯ เป็นตัวเต็งคนสำคัญที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นจุฬาราชมนตรี ในขณะที่นายพิเชษฐให้การสนับสนุนนายทวี (ซาฟีอี) นภากร อิหม่ามมัสยิดมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย พี่ชายภรรยาเข้าชิงตำแหน่ง หากนายอรุณมีปัญหา หรือถูกพิจารณากรณีขาดคุณสมบัติ จนถึงขั้นถูกถอดถอน ก็จะมีผลกระทบต่อการได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในที่สุด
นายพิเชษฐ สถิรชวาล กรรมการอิสลาม จ.เพชรบุรี เลขาธิการ กอท. กล่าวถึงกรณีเคลื่อนไหวสนับสนุนนายทวี นภากร เป็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่ ว่า ยอมรับว่าออกมาสนับสนุนนายทวีจริง แต่มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แม้ว่าจะเป็นญาติพี่น้องกัน แต่เมื่อพิจารณาคุณสมบัติแล้ว นายทวีมีคุณสมบัติที่จะเป็นจุฬาราชมนตรีได้ เพราะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับศาสนาอิสลามเป็นอย่างดี ทั้งภาษาอังกฤษ อาหรับ และยาวี ทำประโยชน์ให้พี่น้องชาวมุสลิมมาตลอด แม้อายุ 75 ปีแล้วก็ตาม แต่เชื่อว่าสามารถเป็นผู้นำพี่น้องชาวมุสลิมได้อย่างดี สำหรับปัญหาความไม่สงบและเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นายทวีเคยเป็นหัวหน้าคณะธรรมจาริกอิสลามมายาวนาน มีความสนิทสนมกับโต๊ะอิหม่ามและผู้นำศาสนาในพื้นที่เป็นอย่างดี รวมทั้งเข้าใจปัญหาความไม่สงบในพื้นที่
"ผมไม่หนักใจอะไรที่ออกมาสนับสนุนนายทวี ไม่คิดว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไร เพราะเชื่อว่าการคัดเลือกจุฬาราชมนตรีจะพิจารณาตามคุณสมบัติ คงไม่สามารถล็อคหรือว่าบังคับให้เสนอชื่อใครคนใดหนึ่งคนหนึ่ง ผมเห็นว่าคนที่จะเป็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่ต้องไม่ใช่มาเป็นผู้นำศาสนาอิสลามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมาเป็นตัวแทนมุสลิมทั้งประเทศและทำหน้าที่เหมือนทูตสันถวไมตรี เหมือนกับทิเบตที่มีองค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทำ วันนี้สิ่งที่ชาวมุสลิมขาดคือตัวแทนซึ่งจะสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะโลกมุสลิมในการเชื่อมความสัมพันธ์และเชิญชวนมาลงทุนในประเทศไทย"
วันเดียวกัน นายอาศิส พิทักษ์คุมพล รองประธาน กอท. และประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย กอท.บางคน, คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ และภาคเหนือบางกลุ่ม เดินทางเข้าพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก พบกับนายดำรง กะลำคาน ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดตาก เพื่อทำความรู้จัก และเปิดตัวหลังจากที่นายอาศิสได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภาคใต้ และในจังหวัดภาคเหนือบางกลุ่ม ในโอกาสนี้นายอาศิสร่วมรับประทานอาหารกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดตาก และหารือกันที่บ้านคณะกรรมการจังหวัดตากรายหนึ่ง
นายอาศิสกล่าวในวงสนทนาว่า จริงๆ แล้วไม่ได้ทะเยอทะยาน แต่มีคณะกรรมการอิสลามประจำหวัดจำนวนมากต้องการสนับสนุน และออกค่าใช้จ่ายเดินทางมาพบคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในฐานะที่ทำงานกับอดีตจุฬาราชมนตรีมาโดยตลอด ตามหลักอิสลามแล้ว ยังไม่เหมาะสมที่จะรับปาก หากได้รับเลือกแล้วจะต้องไปทำอะไร
ด้านนายดำรงกล่าวในวงสนทนาว่า ต้องการให้จุฬาราชมนตรีคนใหม่ลงไปพื้นที่ต่างจังหวัด และให้ประสานงานระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น หากนายอาศิสได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี นอกจากนี้ในที่ประชุมยังคุยกันถึงกรณีจุฬาราชมนตรีที่ผ่านมาเป็นคนจาก กทม.และภาคกลาง แต่การเลือกสรรครั้งนี้ชาวต่างจังหวัดต้องช่วยกันเลือกจุฬาราชมนตรีที่มาจากภาคอื่นบ้าง
ข่าวแจ้งว่า กรรมการอิสลามประจำจังหวัดตากบางกลุ่มเห็นว่านายสมาน มาลีพันธุ์ ประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักจุฬาราชมนตรีก็มีความเหมาะสมเช่นกัน เนื่องจากเคยช่วยเหลือดูแลมัสยิดประจำจังหวัดต่างๆ มาโดยตลอด