จากกรณี ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เสนอให้ 4 อดีตนายกรัฐมนตรี ได้หารือกันเพื่อหาทางออกของวิกฤติ ประกอบด้วย นายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายชวน หลีกภัย และนายบรรหาร ศิลปอาชานั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เม.ย.กสม.เดินทางเข้าพบเพื่อหารือกับ พล.อ.ชวลิต ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เป็นรายแรก ซึ่งพล.อ.ชวลิต ได้เสนอให้ กสม.เข้าพบกับอดีตนายกรัฐมนตรีแต่ละคน เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อทางออกของสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ นพ.ชูชัย ศุภวงค์ เลขาธิการ กสม.แถลงภายหลังเข้าหารือว่า พล.อ.ชวลิต มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้เป็นเรื่องยาก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีเงื่อนเวลาในการยุบสภาเท่านั้นที่จะต้องตกลงกัน ให้ได้ หลังจากนั้นค่อยดำเนินการในเรื่องอื่น ส่วนกรอบเวลาในการยุบสภาพล.อ.ชวลิต เห็นว่าต้องไปหารือกันก่อน แต่ส่วนตัวแล้วเสนอกรอบไว้ที่ 2 เดือน สำหรับการเดินทางไปพบอดีตนายกรัฐมนตรีแต่ละคน นั้น กำลังรอการยืนยันในวันที่ 12 เม.ย. ซึ่งล่าสุดนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ตอบรับมาแล้ว โดยจะไปหารือกันที่พรรคชาติไทยพัฒนา ด้านนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกสม. กล่าวว่า ได้หารือกับพล.อ.ชวลิตในหลายประเด็น โดยพล.อ.ชวลิตเห็นว่าปัญหาการเมืองเป็นปัญหาเร่งด่วนที่นายกฯต้องแก้ไข ด้วยกับการเจราจาระหว่าง นปช.กับรัฐบาลแต่ควรหาคนกลาง เช่น นักวิชาการหรือกลุ่มต่างๆ เพื่อมาร่วมในการหาทางออกให้แก่ประเทศ ส่วนในวันที่ 12 เม.ย.คณะกรรมการสิทธิฯ จะพบกับผู้นำทางศาสนาอิสลาม และในช่วงบ่ายวันเดียวกันมีกำหนดการพบนายอานันท์ ขณะที่นายชวน กล่าวยอมรับว่า ได้รับการทาบทามจากกสม.แล้ว และไม่ขัดข้อง ส่วนจะช่วยหาทางออกให้ประเทศได้หรือไม่ ยังไม่ทราบรายละเอียด จึงยังตอบไม่ได้ ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนหลังเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม ตนมองว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้ว ส่วนข้อเสนอให้มีการเจรจาอีกครั้ง มองว่าเจตนารมณ์ของผู้ชุมนุมขณะนี้ต้องการยุบสภา และตนก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้ยุบสภาในขณะนี้ ส่วนที่ พรรคชาติไทยพัฒนา นายบรรหาร แถลงว่า ได้รับการทาบทามจากกสม.แล้วเช่นกัน แต่ขอเลื่อนนัดเป็นช่วงหลังสงกรานต์ ส่วนกรณี ที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ เสนอว่าจะยุบสภาได้ใน 2 เดือน นั้น คิดว่าคงยาก ในเมื่อรัฐบาลกำหนดออกมาแล้วว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จในปลายปี อีกทั้งนายกฯ ก็ต้องขอมติในพรรคประชาธิปัตย์ก่อน ไม่ใช่นายกฯเห็นด้วยแล้วพรรคไม่เห็นด้วย เหมือนคราวที่แล้วอีก อย่าปิ้งปลาประชดแมว หรือถ้าจะอยู่ครบปี 8 เดือน ก็ประกาศเลย ไม่ต้องสนใจฝ่ายค้าน เมื่อถาม ว่าหากยึดหลักตามคณะกรรมการสมานฉันท์แล้ว จะต้องทำประชามติหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า สำหรับตน ประชามติจะทำหรือไม่ทำก็ได้ เอาแค่ว่าทำ 6 ประเด็นนั้นก็เป็นพอ "ผม ในฐานะผู้สังเกตการณ์เสียความรู้สึกเรื่อง 2 มาตรามาแล้ว เสียความรู้สึกมากเลยอย่าให้เสียความรู้สึกมากไปกว่านี้เลย ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ครบเทอมหรอกถึงปีหน้าเพราะเหตุการณ์ มันอยู่ไม่ไหว ถ้าเดินหน้าตามแผนบันได 10 ขั้น สังคมก็ยอมรับ ซึ่งนักวิชาการหลายคนก็เห็นด้วยถ้ามีแผนแล้ว มีกำหนดการแล้วก็ควรเดินหน้าไปเลย ไม่ต้องกังวลเรื่องเสื้อแดง ประชาชนจะได้เห็นว่ารัฐบาลทำจริงๆไม่ได้นิ่งนอนใจ เพื่อ ให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ ผมก็เห็นด้วยว่าน่าจะเดินหน้า ทำอย่างไรให้พรรคร่วมรัฐบาลมีความมั่นใจและเชื่อด้วยว่ารัฐบาลจะทำจริงๆแต่ ถ้าหากยังไม่ทำพรรคชาติไทยพัฒนาคงต้องคิดอะไรสักอย่าง" นอกจาก นี้ นายบรรหาร ยังได้กล่าวเตือนรัฐบาลอย่าดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมเหมือน 7 ตุลา ส่วนการปิดสถานีพีเพิลแชแนลนั้น อย่าทำอย่างสอง มาตรฐาน เพราะมีหลายที่ๆ รัฐบาลไม่ได้ปิด อย่างไรก็ตาม ตนเป็นห่วงแทนรัฐบาลและขอให้ระมัดระวังในการจะทำอะไร อีกด้าน หนึ่ง นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวถึงข้อเสนอขององค์กรอิสระที่เสนอให้อดีต 4คน มาเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นว่า อดีตนายกรัฐมนตรีก็เป็นบุคคลน่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ควรมีนี้พ.ตท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมอยู่ด้วย เนื่องจากเป็นผู้สนับสนุนให้กลุ่มผู้ขชุมนุมออกมาแสดงบทบาทอยู่ในขณะนี้ จะไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อย่างไร ฉะนั้นจึงต้องหาจุดลงตัวสำหรับประเทศไทยที่หาเหตุผล ต่อข้อถามที่ว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ยุบสภาภายใน 9 เดือน นายชาญชัย กล่าวว่า ต้องมีคำตอบให้ตนว่าเมื่อยุบสภาแล้วจะทำอย่างไร มีกรอบจะดำเนินการเมื่อใด ขณะที่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ 50ส่วนดีก็มีหลายมาตรา แต่ฝ่ายค้านต้องการใช้รัฐธรรมนูญปี 40เราก็ต้องหาตัวกลาง ซึ่งวิธีแก้ไขก็คือ ใช้ระบบรัฐสภาอย่าเอากระบวนการข้างนอกมาใช้ |