วางนโยบายพัฒนาปอเนาะต้นแบบ "ชินวรณ์"ย้ำเริ่มปี'53 นี้ 9 แห่งก่อน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 5เม.ย.นี้ ศธ. จะจัดแถลงนโยบายการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตนและผู้บริหารของ 5หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) จะร่วมกันชี้แจง ถึงนโยบายสำคัญที่จะเร่งดำเนินการในพื้นที่ คือ การพัฒนาสถานศึกษาปอเนาะต้นแบบระดับตำบล โดยจะให้ 4อำเภอ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4อำเภอในสงขลา ทำการคัดเลือกตำบลมา 1ตำบล ที่มีสถานศึกษาปอเนาะที่จะพัฒนาเป็นต้นแบบตำบลละ 1แห่ง รวมทั้งสิ้น 48แห่ง โดยเบื้องต้นในปีงบประมาณ 2553นี้ จะพัฒนาให้ได้ก่อน 9แห่ง และดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2554อีก 39แห่ง อย่างไรก็ตาม ศธ.ต้องการพัฒนาสถานศึกษาปอเนาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีคุณภาพ มีความพร้อมในการให้บริการการศึกษาแก่นักเรียนอย่างมีคุณภาพ ทั้งด้านวิชาการ ศาสนา สามัญ วิชาชีพ มีแหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยให้บริการได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ต้องการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงอิสลามศึกษาที่มีคุณภาพ, ส่งเสริมการร่วมมือกับชุมชน องค์กรศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ทั้งนี้ ศธ. มุ่งหวังให้สถานศึกษาปอเนาะต้นแบบนี้ช่วยพัฒนาสถานศึกษาปอเนาะอื่น ๆ ในอนาคต นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับคุณลักษณะของสถานศึกษาปอเนาะต้นแบบ คือ มีการพัฒนาด้านกายภาพ คือ การมีอาคารสถานที่ และสภาพแวดล้อมของสถาบันศึกษาปอเนาะ เช่น ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ มีคอมพิวเตอร์ 1เครื่องต่อนักเรียน 10คน มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 2 Mb มีห้องวิทยาศาสตร์ มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ สวนเกษตร โรงฝึกงาน ห้องน้ำ ห้องอาหาร ฯลฯ ส่วนในด้านวิชาการ สถาบันปอเนาะต้นแบบ จะต้องมีการส่งเสริมการสอนศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจ ในระดับต้น กลาง สูง ตามแนวทางของอัลกุรอ่าน มีการสอนวิชาสามัญตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อสามารถนำวุฒิการศึกษาไปเทียบต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยจะให้สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ตำบล, อำเภอ และจังหวัดมีส่วนร่วมจัดการศึกษา รวมถึงการสอนวิชาชีพ ที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) วิทยาลัยชุมชนมาร่วมจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ความต้องการของผู้เรียนในพื้นที่ นอกจากนี้ต้องมีศูนย์เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อให้ชุมชนมีโอกาสมาใช้ ที่สำคัญต้องมีการพัฒนาบุคลากร ผู้ช่วยครู (ฮุซตาส) โต๊ะครูหรือบาบอให้มีความรู้ในการบริหารจัดการที่ทันสมัยเพื่อให้การพัฒนาผู้เรียนมีคุณภาพ ทั้งนี้ จะพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะให้เป็นเครือข่ายโรงเรียนคู่พัฒนากับโรงเรียนใกล้เคียง เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่น |