สิ่งสุดท้ายที่สามารถคลายความวิตกกังวล ปัญหาอันกลัดกลุ้ม และทำให้จิตใจสงบนั่นก็คือ ศาสนา ที่มีหลักคำสอนมุ่งให้ผู้เลื่อมใสศรัทธามีจิตใจที่งดงาม สร้างความสุขให้กับชีวิต 
ในจังหวัดสงขลา มีศาสนสถานที่สำคัญของหลายศาสนากระจายตั้งอยู่หลายแห่งทั่วบ้านทั่วเมือง ราวกับเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ชาวสงขลามีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ คือ ศาสนา โดยมีศาสนสถานเป็นสัญลักษณ์ นัยหนึ่งยังแสดงให้เห็นถึงศูนย์รวมหัวใจของพวกเขาที่ถ่ายทอดผ่านความตั้งใจทำนุบำรุงศาสนาให้เห็นเป็นรูปธรรม
เริ่มแนะนำกันที่ วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร หรือวัดกลาง พระอารามหลวงเก่าแก่กว่า 400 ปี หรือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดยายศรีจันทร์ เพราะเป็นชื่อของยายศรีจันทร์ คหบดีผู้อุทิศทรัพย์สินเพื่อสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น จนมีการสร้างวัดเลียบ ทางทิศเหนือ และวัดโพธิ์ ทางทิศใต้ของวัด ชาวบ้านจึงเรียก วัดยายศรีจันทร์ ว่าเป็นวัดกลาง จวบจนถึงทุกวันนี้
ล่วงเลยถึง พ.ศ.2431 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรส เสด็จเมืองสงขลา ได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาษาบาลีว่า 'วัดมัชฌิมาวาส' กระทั่งปี พ.ศ.2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ โปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี มีชื่อเป็นทางการว่า 'วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร'
ความสำคัญของวัดแห่งนี้ คือ เคยใช้เป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นที่ตั้งของโรงเรียนหลวงแห่งแรกของจังหวัดสงขลา คือ โรงเรียนมหาวชิราวุธ
นอกจากนี้ยังเป็นที่รวบรวมโบราณวัตถุเกือบ 5,000 ชิ้น จนกรมศิลปากรได้ยกขึ้นเป็นสาขาพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
ส่วนสถาปัตยกรรมโดยรอบบริเวณวัด มีให้เห็น อาทิ 'พระอุโบสถทรงไทย' ที่ย่อส่วนเลียนแบบวัดพระแก้ว ภายในปรากฏจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม 'ศาลาฤๅษี' จารึกตำรายาพร้อมท่วงท่าฤๅษีดัดตนไว้ถึง 400 ภาพ 'หน้าบัน' เป็นลายปูนปั้นพุทธประวัติ และ 'เจดีย์แบบจีน' สร้างจากหินแกรนิต ย่อมุมหกเหลี่ยมสูง 7 ชั้น เป็นต้น
แห่งต่อมา คือ ศาสนสถานของชาวไทย-มุสลิม 'มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา และศูนย์บริหารกิจการอิสลามภาคใต้' แม้ปัจจุบันจะยังไม่แล้วเสร็จ 100% เนื่องจากยังเหลือส่วนตกแต่งภูมิทัศน์โดยรอบบริเวณ แต่ส่วนอาคารและมัสยิดขนาดใหญ่นั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยแบ่งเป็น 3 ชั้น
ชั้นล่างสุดเป็นสถานที่จอดรถจุประมาณ 76 คัน ส่วนชั้นที่สองเป็นที่ทำการของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ทั้งยังมีห้องประชุมอเนกประสงค์ จุคนได้ราว 800 คน ห้องสมุด ศูนย์วัฒนธรรม ห้องปฏิบัติการฝ่ายต่าง ๆ ห้องรับแขก ห้องคอมพิวเตอร์และศูนย์สารสนเทศ ห้องพัสดุ ห้องอาบน้ำละหมาด ห้องอาบน้ำญนาซะฮ์
ส่วนที่ชั้นบนสุดนั้นเป็นส่วนของมัสยิด โดยชาวมุสลิมสามารถประกอบศาสนกิจพร้อมกันได้ราว 2,500 - 3,000 คน ส่วนภูมิทัศน์ในส่วนที่อยู่ติดกับตัวอาคาร อย่าง น้ำตกไหลจากช่วงกลางของบันไดเพื่อลงสู่สระน้ำด้านล่าง และส่วนหย่อมสลับปูนนั้นถูกสร้างขึ้นเรียบร้อยแล้ว เหลือก็แต่ช่องทางกว้าง ๆ ล้อมบ่อน้ำขนาดใหญ่ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง หากแล้วเสร็จชาวสงขลาคงจะได้มีมัสยิดกลางประจำจังหวัดที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม บนเนื้อที่ 7 ไร่ครึ่ง
ขณะที่ 'วัดมหัตตมังคลาราม' หรือ 'วัดหาดใหญ่ใน' มีอุโบสถ กว้าง 15 เมตร ยาว 32 เมตร สร้างในปี พ.ศ.2522 ตามแบบของกรมศิลปากร ส่วนศาลาการเปรียญ กว้าง 25 เมตร ยาว 42 เมตร สร้างในปี พ.ศ.2499 โครงสร้างเสาคอนกรีต เครื่องบนเป็นไม้เนื้อแข็ง หอพักอาคันตุกะกว้าง 15 เมตร ยาว 42 เมตร สร้างในปีเดียวกับอุโบสถ ส่วนฌาปนสถานตรีมุข โกดังสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
ความโดดเด่นอยู่ที่ 'วิหารพระพุทธไสยาสน์' ประดิษฐาน 'พระพุทธมหัตตมงคล' สร้างระหว่างปี พ.ศ. 2515-2520 ซึ่งเป็นพระนอนที่มีความยาวถึง 35 เมตร สูง 15 เมตร กว้าง 10 เมตร ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า 'พระพุทธมหัตตมงคล'
นอกจากศาสนสถานทั้ง 3 แห่งที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังมีเขาคอหงส์ ที่ทั่วทั้งเขามีการสร้างศาสนาสถานไวให้ขึ้นไปสักการะบูชา พร้อมชมทัศนียภาพเบื้องล่างด้วยความสุขใจ.
|