หมวดหมู่
หน้าหลัก       ยินดีต้อนรับสู่มุสลิมไทย โพสต์
 
พิมพ์หน้านี้  |  ส่งให้เพื่อน
หมดยุคถล่มราคามือถือนาทีละสลึง กทช.ยุติศึกค่าICดีแทค-กสทเคาะ0.50บาท/นาที

หมด ยุคมือถือนาทีละสลึง หลัง "กทช." ยุติศึกข้อพิพาทค่า IC "ดีแทค-กสท" สรุปตัวเลขสุดท้าย 0.50 บาท/นาที มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันทราบคำสั่ง เปิดช่องคู่กรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายย้อนหลังกันเอง "ดีแทค" ชี้ถือเป็นนิมิตหมายหลัง กทช.เริ่มใช้อำนาจระงับข้อพิพาท เล็งยึดเป็นแนวทางเจรจากับ "ฮัลโหลบ้าน" ต่อ ทั้งเรียก "ทีโอที-เอไอเอส" แจกแจงข้อมูลเพิ่มเติมกรณีโรมมิ่งโครงข่าย 3G หวั่นเกินอำนาจ-กระทบแก้สัญญา


นาย ฐากร ตันฑสิทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ กทช. (3 ก.พ. 2553) ที่ผ่านมามีมติให้กำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ไอซี : อินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ) ระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ทั้ง Call Termination และ Call Origination ในอัตรา 0.50 บาท/นาที ส่วน Call Transit หรือการส่งผ่านทราฟฟิกให้ผู้ให้บริการรายอื่นคิดอัตรา 0.20 บาทต่อนาที ซึ่งข้อพิพาทดังกล่าวเกิดจากที่ผ่านมาทั้งคู่ไม่สามารถตกลงอัตราค่าไอซี ระหว่างกันได้

โดยดีแทคต้องการคิด 1 บาท/นาที สำหรับ Call Termination และ 3 บาท/นาที กับ Call Origination ขณะที่ กสทฯกำหนดค่าไอซีที่ 0.21 บาท/นาที ทั้ง Call Termination และ Call Origination ดีแทคจึงยื่นคำร้องขอนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2550 ที่ผ่านมา และได้เริ่มกระบวนการ ไต่สวนข้อมูลในเดือน ธ.ค. 2552 ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท (กวพ.) สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมมีคำวินิจฉัยเมื่อ 31 มี.ค. 2552 ที่ผ่านมาระบุให้ทั้งคู่ใช้อัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายที่ 0.56 บาท/นาที กับ Call Termination และ Call Origination ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป กรณีมีการเก็บค่าไอซีย้อนหลังไปในปี 2552 ให้คิดที่ 0.61 บาท/นาที

นอกจากนี้ยังให้ดีแทคคิดค่าตอบแทนการใช้โครงข่ายตั้งแต่ วันที่ 22 พ.ย. 2550 ซึ่งเป็นวันที่ กทช.มีมติให้ กวพ.รับคำร้องไว้พิจารณา ส่วนกสทฯให้เริ่มคิดตั้งแต่ 17 ธ.ค. 2550 วันที่ กทช.เห็นชอบข้อเสนอการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม อย่างไรก็ตาม เมื่อสถาบัน IC เสนอคำวินิจฉัยของ กวพ.ให้ กทช.พิจารณา และสำนักงาน กทช.ได้ศึกษาข้อมูลต้นทุนของผู้ให้บริการทั้ง 2 รายแล้วได้ปรับลดตัวเลขจาก 0.56 บาท เป็น 0.50 บาท

เมื่อ กทช.มีมติเช่นนี้แล้วอัตราดังกล่าวจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ทั้ง 2 บริษัทรับทราบคำสั่งอย่างเป็นทางการ หากไม่เห็นด้วยสามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งทาง ปกครองดังกล่าวก็ได้

นายฐากรกล่าวต่อว่า อัตราดังกล่าวมีผลเฉพาะกับดีแทคและกสทฯเท่านั้น ไม่ครอบคลุมไปถึงผู้รับใบอนุญาต หรือผู้รับสัมปทานรายอื่น ๆ เนื่องจากว่าผู้ให้บริการแต่ละรายมีต้นทุนไม่เท่ากันนั่นเอง

"เรา ไม่ได้กำหนดย้อนหลัง เพราะคิดว่าจะเป็นปัญหาตามมาได้อีก แต่ทั้งคู่ก็ใช้เรตนี้ไปดำเนินการต่อ จะฟ้องเรียกค่าเสียหายย้อนหลัง หรืออะไรก็แล้วแต่ เช่นเดียวกับผู้ให้บริการรายอื่น ๆ แต่ละรายคงไม่เท่ากันอยู่แล้ว เพราะต่างมีต้นทุนที่แตกต่างกัน"

ทั้ง นี้ ข้อสรุปค่าไอซีดังกล่าวเป็นที่คาดการณ์กันว่าจะมีผลโดยตรงต่อการกำหนดอัตรา ค่าบริการโทรศัพท์มือถือภายใต้แบรนด์ "ฮัทช์" เพราะที่ผ่านมาไม่มีต้นทุนค่าไอซี จึงได้เปรียบผู้ให้บริการรายอื่นในการกำหนดโปรโมชั่นคิดค่าโทร.ราคาถูกมาก ๆ ออก มาได้ เป็นปัญหากับผู้ให้บริการรายอื่นมากด้วยว่าต้องรับทราฟฟิกจากลูกค้าฮัทช์ที่ โทร.มายังโครงข่ายตัวเอง แต่เก็บค่าใช้โครงข่ายไม่ได้

ด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานพาณิชย์ บริษัท ดีแทค กล่าวว่า เป็นอัตราที่ยอมรับได้ แต่ที่มากกว่านั้นน่าจะถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ กทช.ใช้อำนาจที่มีในการตัดสินข้อพิพาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายเรียกร้องมาโดยตลอด

"กทช.มีมติ แบบนี้ก็น่าจะเอาไปใช้กับรายอื่น ๆ ได้ เช่น การเจรจากับผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้าน หรือ Fixed line หากไม่สามารถตกลงอัตรากันได้ก็จะนำเรื่องให้ กทช.ตัดสิน และการแข่งขันก็น่าจะเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องกระทบกับโปรโมชั่นของฮัทช์ เช่น กรณีการโทร.ไปยังโครงข่ายอื่นคงจะไม่มีต่ำกว่า 50 สตางค์ ซึ่งเท่าที่ดูก็เห็นว่าเริ่มมีการปรับราคาบ้างแล้ว"

นายฐากรกล่าวถึง กรณี บมจ.ทีโอทีทำหนังสือหารือเกี่ยวกับประเด็นการเปิดให้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) โรมมิ่ง data กับโครงข่าย 3G ของทีโอทีว่าทำได้หรือไม่นั้น กทช.พิจารณาแล้วมีมติให้เชิญทั้ง 2 บริษัทมาชี้แจงข้อมูลในวันที่ 5 ก.พ. 2553 และ กทช.จะมีประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 8 หรือ 9 ก.พ. 2553 ที่จะถึงนี้ โดย กทช.ต้องการพิจารณาในประเด็นที่ว่า 1.การทำสัญญาโรมมิ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาของ กทช. หรือไม่ 2.การทำสัญญาโรมมิ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขสัญญาร่วมการงานหรือไม่ 3.คำจำกัดความของการโรมมิ่งของทั้ง คู่หมายความว่าอย่างไร เป็นการโรมมิ่งระหว่างโครงข่าย 2G กับ 2G, 2G กับ 3G หรือ 3G กับ 2G เป็นต้น

และ 4.การให้บริการด้วยการโรมมิ่งบนโครงข่าย 3G ของเอไอเอสเข้าข่ายเป็นผู้ให้บริการ MVNO ด้วยหรือไม่

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่ทีโอทีทำหนังสือสอบถาม กทช.มีทั้งหมด 3 ข้อ คือ 1.ความหมายของคำว่าโรมมิ่งในประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่าย หมายความว่าอย่างไร 2.บริษัทเอไอเอสสามารถขอทดลองโรมมิ่ง data กับโครงข่าย 3G ของทีโอทีได้หรือไม่ และ 3.เมื่อผู้รับใบอนุญาตรายอื่นประสงค์จะขอใช้โครงข่าย 3G ของทีโอที จะสามารถดำเนินการในรูปแบบใดได้บ้าง

ทั้งนี้ รายละเอียดของการโรมมิ่ง data ของเอไอเอสนั้น ตามแผนแล้ว เอไอเอสจะเปิดทดลองการให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-31 มี.ค. 2553 จำนวน 50,000 เลขหมายโดยไม่คิดค่าบริการ และหลังจากวันที่ 31 มี.ค.เป็นต้นไปจะเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 500,000 เลขหมาย ทยอยเปิดเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 100,000 เลขหมาย โดยเอไอเอสจะนำอัตราค่าบริการของทีโอทีมีบันเดิลกับบริการของเอไอเอส และเป็น ผู้เก็บเงินแทนทีโอทีด้วย

 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :-
 
  เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :-
บทความที่น่าสนใจ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
340 ลาดพร้าว 112 วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทร 0-2514-0593 แฟ็กซ์ 0-2538-4215 Email : [email protected]

Warning: include(../../main/globalsitemap.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185

Warning: include(): Failed opening '../../main/globalsitemap.php' for inclusion (include_path='.:/usr/lib/php:/usr/local/lib/php') in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185