ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่งมีการจัดแสดงละครเวทีที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งผ่านพ้นไป ละครเวทีเรื่องดังกล่าวคือ "แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา: ชีวิตและความทรงจำบนสายธารประชาธิปไตยไทยของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์" ซึ่งจัดแสดง ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์
ละครเวทีเรื่องนี้เป็นผลงานของนักศึกษา ศิษย์เก่า และอาจารย์ประจำสาขาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย อ.ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ ผู้กำกับการแสดงและเขียนบท ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการสร้าง "แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา" เอาไว้ว่า
เมื่อตนเป็นเด็กนั้น ตนชอบฟังคนรุ่นคุณย่าคุณยายเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตของพวกท่าน โดยเฉพาะเรื่องของผู้คนและเหตุการณ์ในช่วงก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการ ปกครอง พ.ศ.2475 หลายเรื่องที่ได้ฟังนั้นเป็นประสบการณ์ตรงของผู้เล่า บางเรื่องก็เป็นคำซุบซิบนินทาที่เล่าลือสืบต่อกันมาปากต่อปาก ประวัติศาสตร์ในความเข้าใจของตนจึงต่างจากการเรียงลำดับของเหตุการณ์ที่เป็น เส้นตรงอย่างในแบบเรียนที่เราเรียนกัน แต่ประวัติศาสตร์คือประสบการณ์อันหลากหลายของผู้เห็นเหตุการณ์ที่เหลื่อม ซ้อนกันและโยงใยอยู่กับอารมณ์และความคิดของผู้เล่า
ในวาระครบรอบ 110 ปี ชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ สาขาวิชาการสื่อสารการแสดงฯ จึงได้เลือกที่จะนำชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มารังสรรค์เป็นการแสดงเล็ก ๆ ที่จะสะท้อนให้เห็นแง่มุมต่าง ๆ ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับชีวิตของผู้คน ณ ห้วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย บทประพันธ์สำหรับการแสดงครั้งนี้เรียบเรียงขึ้นจากชีวประวัติของท่านผู้หญิง พูนศุข ร่วมกับบันทึกและคำบอกเล่าของสตรีชาวสยามคนอื่น ๆ ที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับท่าน แม้ในความเป็นจริงเส้นทางชีวิตของบุคคลเหล่านี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวพันกัน แต่มุมมองของพวกเธอก็สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของเหตุการณ์และช่วยเติม เต็มภาพของความขัดแย้งทางความคิด และผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างปี พ.ศ.2474 ถึง ปี พ.ศ.2500 ที่จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรนักจาก ณ ห้วงเวลาที่เราอาศัยอยู่นี้
ละครเวทีเรื่องแสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา นำตัวละครสตรีทั้งหมด 12 คน มาร่วมพบปะและปะทะสังสรรค์กัน เพื่อจะถักทอประวัติศาสตร์ช่วง 2475 ผ่านหลายเสียงและหลากอากัปกิริยาของผู้หญิงที่มีตั้งแต่เจ้า, ท่านผู้หญิงพูนศุข, ชนชั้นสูงหัวอนุรักษ์นิยม, สาวชาววัง, เรื่อยไปจนถึงหญิงชาวบ้านและหญิงมุสลิม
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการพยายามทำให้ละครเวที เรื่องนี้เป็นละครที่สะท้อนหลากเสียงทางประวัติศาสตร์ของผู้หญิง แต่เมื่อมีการจัดวางตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุขให้มีสถานะเป็นศูนย์กลางของ เรื่องแล้ว ก็ส่งผลให้ตัวละครผู้หญิงรายอื่น ๆ ต้องถูกทำให้มีความพร่าเลือนไปอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ตัวละครศูนย์กลางอย่างท่านผู้หญิงพูนศุขนั้นถูกแบ่งซอยออกเป็น 3 ตัวละครสำคัญ ได้แก่ "นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์" "นางประดิษฐ์มนูธรรม" และ "ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์" ซึ่งก็สามารถสะท้อนช่วงชีวิตที่แตกต่างของท่านผู้หญิงพูนศุขออกมาได้อย่างน่าสนใจ
แต่ดูเหมือนผู้สร้างละครจะพยายามขับเน้น /สร้างให้ตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุขมีบทบาทเป็นผู้ยึดมั่นใน "ธรรมะ" รวมทั้งเป็นผู้มองเห็นว่าการต่อสู้แย่งชิงอำนาจทาง "การเมือง" นั้นเป็นเรื่องชั่วร้าย
ส่วนหนึ่งในบทพูดของตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุข (โดยเฉพาะในช่วงเปิดเรื่อง) น่าจะถูกเขียนขึ้นมาเองโดยผู้เขียนบท ขณะที่บทพูดส่วนที่เหลือเป็นการนำคำพูดหรือบทบันทึกของท่านผู้หญิงพูนศุขใน วาระต่าง ๆ มาตัดต่อขึ้นใหม่ คำถามที่มีต่อบทพูดส่วนหลังก็คือ ท่าน ผู้หญิงพูนศุขเคยพูดถึงเรื่องการเมืองอันชั่วร้ายและการนำธรรมะมาเปรียบ เทียบกับการเมืองในบริบทใด? บริบทดังกล่าวแตกต่างจากบริบทสังคมการเมืองปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน? ใครคือผู้ที่ทำให้การเมืองไทยมีความชั่วร้ายในความเห็นของท่านผู้หญิงพูนศุข ? และการนำคำพูด/บทบันทึกที่อยู่ในบริบทที่แตกต่างมาใส่ในบริบทแห่งการเกลียด ชังนักการเมืองของคนชั้นกลาง/ชนชั้นสูงบางส่วนในยุคปัจจุบันนั้นมีความสอด คล้องลงรอยกันหรือไม่ อย่างไร?
เพราะถ้าไม่ละเอียดรอบคอบระมัดระวัง แล้วนำคำพูด/บทบันทึกของท่านผู้หญิงพูนศุขมาใส่ผิดบริบทอย่างผิดฝาผิดตัว ตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุขก็จะกลายเป็นฝ่ายที่พยายามทำตัวอยู่นอกเหนือวงจร ทางการเมืองอันชั่วร้ายเลวทรามผ่านการอ้างอิงหลักธรรมอันสูงส่ง ซึ่งเป็นหลักการที่กลุ่มการเมืองที่สร้างบาดแผลสำคัญให้แก่ชีวิตของท่านผู้ หญิงพูนศุขและครอบครัวพยายามนำมาใช้อ้างอิงตลอดเวลา
สำหรับตัวละครผู้หญิงรายอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม สตรีชั้นสูงและสาวชาววัง ที่ผู้เขียนมองว่าถูกสร้างให้มีความพร่าเลือน เบลอร์ และแบน เพื่อนำมารองรับสถานะโดดเด่นของตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุขนั้น ก็เนื่องจากพวกเธอถูกสร้างให้กลายเป็นตัวละครนิยมเจ้า แอนตี้คณะราษฎร ฟุ้งเฟ้อ และดูถูกสามัญชน จนสามารถเหมารวมได้ว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับคณะราษฎรอย่างแทบจะสิ้นเชิง
อาจกล่าวให้แคบกว่านั้นได้ว่าตัวละครเหล่านี้ต่าง อยู่ในขั้วที่ตรงข้ามกับ "ปรีดี-พูนศุข" ไปเสียหมด จนพวกเธอต้องถูกจับยัดให้กลายเป็นฝ่ายสนับสนุนลัทธิชาตินิยมสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งถูกเชื่อว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ "ปรีดี-พูนศุข" อย่างสิ้นเชิงไปโดยปริยาย
หากใครตามอ่านงานบันทึกของสตรีชนชั้นนำในยุค หลัง 2475 ก็จะพบได้ว่าตัวละครสตรีชนชั้นนำทั้งหลายที่ไม่ถูกระบุชื่อในแสงศรัทธาเหนือ ลำน้ำเจ้าพระยา ล้วนเป็นภาพตัวแทนของบุคคลที่มีตัวตนจริงอยู่ในประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น ปัญหาก็คือหากพินิจพิจารณาถึงประวัติชีวิตของพวกเธออย่างถ้วนถี่ ตัวละครที่มีทั้งพระธิดาของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผู้ หมดอำนาจภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลูกสาวของแม่ทัพคนสำคัญของฝ่ายกบฏบวรเดช หรือนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงซึ่งมีสามีคนแรกเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสีย ชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางเครื่องบินขณะร่วมรบกับฝ่ายอังกฤษในสงครามโลกครั้ง ที่ 2 ก็คงจะไม่สามารถถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ร่วมสนับสนุนลัทธิชาตินิยมของจอมพล ป. ได้อย่างง่ายดายดังเช่นที่ละครเวทีเรื่องนี้ทำ (ขณะที่ตัวละครกลุ่มเดียวที่ไม่เฮโลไปกับกระแสชาตินิยมดังกล่าว ก็คือ ตัวละครสามคนที่เป็นตัวแทนสามช่วงอายุของท่านผู้หญิงพูนศุข ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่า "ปรีดี-พูนศุข" มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้างต่อกระแสชาตินิยมของรัฐบาลจอมพล ป. ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2)
การแปะป้ายแบ่งกลุ่มให้กับบุคคลทางประวัติ ศาสตร์ที่มีชีวิตจิตใจและไม่ได้มีความหยุดนิ่งตายตัวจึงไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ แต่เพราะการพยายามทำให้ตัวละครเหล่านี้มีความพร่าเลือนเพื่อขับเน้นตัวละคร ท่านผู้หญิงพูนศุขให้มีความโดดเด่น ลักษณะการเหมารวมตัวละครจึงปรากฏออกมา
(เช่น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตัวละครสตรีคนหนึ่งมีลักษณะเป็นภาพตัวแทนของ "คุณหญิงมณี สิริวรสาร" อย่างเด่นชัด ตัวละครรายนั้นถูกนำเสนอว่าเป็นสาวสังคมชั้นสูงที่เริ่ด เชิด หยิ่ง และดูถูกสามัญชน แต่แน่นอนว่าเมื่อชีวิตของคนเต็มไปด้วยความลื่นไหลและยากแก่การเหมารวม จึงน่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความเห็นว่า "ชีวิตเหมือนฝัน" หนังสืออัตชีวประวัติของคุณหญิงมณีนั้น เป็นหนังสืออัตชีวประวัติที่มีความเปิดเผย จริงใจ และน่ายกย่องมากที่สุดเล่มหนึ่ง แม้ว่าสตรีผู้นี้จะมีความใกล้ชิดกับกลุ่มชนชั้นนำที่อยู่ตรงข้ามกับคณะราษฎร ก็ตาม)
ทว่าตัวละครที่มีความน่าสนใจมากที่สุดในละคร เวทีเรื่องนี้กลับเป็นสองตัวละครหญิงสาวชาวบ้านและหญิงสาวมุสลิม ที่ไม่มีบทพูดใด ๆ ตลอดทั้งเรื่อง (ซึ่งอาจแสดงให้เห็นถึงการไม่มีที่ทางในประวัติศาสตร์ทั้งฉบับทางการโดยรัฐ และฉบับทางเลือกซึ่งเกิดขึ้นจากเอกสารลายลักษณ์อักษรหรือบทบันทึก/คำ สัมภาษณ์ต่าง ๆ ของสตรีชนชั้นนำ) แต่อากัปกิริยา ยามปะทะสังสรรค์กับสตรีชั้นสูงหลากหลุ่มของพวกเธอก็มีนัยยะน่าสนใจและมีส่วน ทำให้ละครเวทีเรื่องนี้มีสีสันและอารมณ์ขันอันร้ายกาจเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังฉากไคลแม็กซ์สำคัญ ซึ่งตัวละครสตรีสองคนนี้ได้หายตัวไปอย่างไม่มีใครได้ทันสังเกต ครั้นพอละครจบลง บรรดาตัวละครสตรีสูงศักดิ์รายอื่น ๆ รวมทั้งตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุขทั้งสามคน ต่างเดินหายลับไป แต่จู่ ๆ ตัวละครสาวชาวบ้านและสาวมุสลิมก็โผล่ออกมาจากผ้าคลุมโต๊ะอาหารที่พวกเธอไป แอบซ่อนตัวอยู่ข้างใต้ พวกเธอหันมามองผู้ชม แล้วพากันก็เดินหายไปหลังฉากบนเวที
ตัวละครสตรีทั้งคู่อาจมีสถานะเป็น "อุปลักษณ์" ที่คมคายที่สุดของแสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา ละครเวทีว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองที่มีเนื้อหาเปรียบเปรยถึงสภาพการ เมืองยุคปัจจุบันอยู่บ้าง ทั้งการให้ตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุขกล่าวเปิดเรื่องด้วยความคำพูดที่แสดงถึง อาการสิ้นหวังต่อการเมืองไทยยุคปัจจุบัน รวมทั้งการมีฉากที่พาดพิงถึง "สีเหลือง" "สีแดง" และ "สีชมพู"
หรือผู้สร้างละครเวทีเรื่องนี้กำลังตั้งคำถามย้อนกลับมายังผู้ชมว่า ถึง เวลาแล้วหรือยังที่ตัวละครสาวชาวบ้านและสาวมุสลิมซึ่งเป็นผู้ปิดฉากให้แก่ แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยาอย่างมีนัยยะสำคัญ/เป็นปริศนานั้น จะได้รับบทบาทนำสำคัญเสียทีใน "ละครการเมืองร่วมสมัย" ที่ตัวละครเช่นท่านผู้หญิงพูนศุข (รวมทั้งวีรบุรุษและวีรสตรีรายอื่น ๆ) ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะรับบทบาทนำคนเดียว/กลุ่มเดียวได้อีกต่อไป
หมายเหตุ ละครเวทีเรื่อง "แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา" จะจัดแสดงอีกครั้งระหว่างวันที่ 22-24 มกราคม 2553 เวลา 19.00 น. (เสาร์-อาทิตย์เพิ่มรอบ 14.00 น.) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน บัตรราคา 200 บาท นักเรียน นิสิต นักศึกษา 150 บาท สำรองที่นั่งได้ที่คุณประวีร์ 089 135 6463 และคุณสโรชินี 089 519 1319