จากเหตุการณ์เครื่องบินขนส่งอาวุธสงครามน้ำหนักรวมกว่า 35 ตันถูกยึดที่สนามบินดอนเมืองเมื่อวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา มีชื่อของหลายประเทศเข้ามามีส่วนพัวพันกับเรื่องราวของการค้าอาวุธสงคราม เริ่มตั้งแต่คาซัคสถานและเบลารุส ซึ่งเป็นสัญชาติของลูกเรือทั้ง 5 คน จอร์เจียและนิวซีแลนด์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนเครื่องบินเกาหลีเหนือที่ลูกเรือทั้ง 5 ให้การว่าเป็นต้นทางของสินค้า รวมถึงยูเครนและศรีลังกาที่ถูกอ้างว่าเป็นเส้นทางเดินทางของเครื่องบิน ทำให้เป็นที่สงสัยว่าจริงๆ แล้วธุรกิจการค้าอาวุธสงครามผิดกฎหมายนั้นมีเครือข่ายที่กว้างใหญ่และซับซ้อนเพียงใด
ถ้าเราจะเริ่มมองถึงขบวนการค้าอาวุธสงครามเถื่อนข้ามชาติก็คงต้องเริ่มจากผู้ค้าที่สำคัญที่สุด ซึ่งหนีไม่พ้นประเทศเกาหลีเหนือ เกาหลีเหนือถูกองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คว่ำบาตรการค้าอาวุธสงครามอีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาหลังจากทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 2 ในเดือนพฤษภาคม ยูเอ็นอนุญาตให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิ์ตรวจค้นและยึดอาวุธสงครามจากเกาหลีเหนือที่ข้ามผ่านเขตแดนประเทศตนเองได้ รายงานข่าวจากบลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน อ้างอิงคำแถลงการณ์ขององค์การสหประชาชาติในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือว่า เกาหลีเหนือดำเนินกิจการลักลอบค้าอาวุธสงครามข้ามชาติเพื่อหาเงินมาสนับสนุนโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ธุรกิจค้าอาวุธสงครามกำลังกลายเป็นแหล่งนำเข้าเงินตราต่างประเทศหลักของเกาหลีเหนือเพิ่มมากขึ้นทุกที นักวิเคราะห์ประมาณมูลค่าการซื้อขายอาวุธสงครามของเกาหลีเหนือว่าอยู่ตั้งแต่หลายร้อยล้านไปจนถึงพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศอยู่ที่ระดับ 17,000 ล้านดอลลาร์ รายงานจากสถาบันวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ (Institute for Foreign Policy Analysis) ของสหรัฐฯ ระบุว่าเกาหลีเหนือมีรายได้ประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีจากการจำหน่ายขีปนาวุธ โดยมากให้กับประเทศอิหร่านผ่านทางสนามบินในประเทศจีน หนังสือพิมพ์ดงอา อิลโบ ของเกาหลีใต้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม อ้างคำพูดของแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับกรณีของเกาหลีเหนือ คาดว่าในปีนี้มูลค่าการส่งออกอาวุธของเกาหลีเหนือจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปีที่แล้วเป็นประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รายงานยังระบุด้วยว่าก่อนหน้านี้เกาหลีเหนือขายอาวุธให้กับประเทศในตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่ แต่เริ่มขยายขอบเขตการค้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และอเมริกาใต้ ในระยะหลังๆ สาเหตุที่ตัวเลขมูลค่าประมาณการซื้อขายอาวุธของเกาหลีเหนือจากหลายแหล่งมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากเนื่องจากเกาหลีเหนือใช้วิธีการต่างๆ ในการลักลอบขนย้ายอาวุธเพื่อหลบหลีกสายตาของประเทศอื่นๆ ที่กำลังจับจ้องอย่างเข้มงวด ทำให้ไม่มีใครทราบตัวเลขที่ชัดเจน หนังสือพิมพ์โชซอน อิลโบ ระบุในเดือนมิถุนายนว่า เกาหลีเหนือใช้วิธีขนส่งสินค้าทางบกโดยอ้อมผ่านจีนและรัสเซีย ทำให้ตรวจสอบได้ยาก หรือไม่ก็ใช้เครื่องบินในการขนส่งตอนกลางคืน นอกจากนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับที่ท่าเรือ เกาหลีเหนือจดทะเบียนเรือภายใต้ชื่อบริษัทต่างชาติ ปลอมแปลงประเทศต้นทาง หรือทำธุรกิจผ่านประเทศที่ 3 ซึ่งนี่เป็นวิธีที่เกาหลีเหนือสามารถส่งอาวุธสู่อิหร่าน ซีเรีย พม่า และลาวได้ ตัวอย่างของกระบวนการค้าอาวุธสงครามเถื่อนของเกาหลีเหนือที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือกรณีที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จับกุมเรือขนส่งอาวุธของเกาหลีเหนือที่มุ่งหน้าไปอิหร่านเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อิหร่านถูกมองว่าเป็นคู่ค้าอาวุธสงครามรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีเหนือ แลร์รี่ นิคสช์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิภาคเอเชียของ U.S. Congressional Research Service ประมาณว่าเกาหลีเหนือมีรายได้จากการค้าอาวุธกับอิหร่านถึง 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี เรือชื่อ "เอเอ็นแอล ออสเตรเลีย" บรรทุกฐานยิงจรวด เชื้อเพลิงสำหรับจรวดอาร์พีจี และอาวุธสงครามอื่นๆ เป็นเรือขนอาวุธขนาดใหญ่ 1 ใน 5 ลำที่ถูกจับได้ในปีนี้ นักวิเคราะห์ด้านข่าวกรองเชื่อว่าอาวุธเหล่านี้จะถูกนำไปส่งให้กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ หรือกลุ่มคูดส์ของอิหร่าน ประกาศของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของยูเออีและยูเอ็นระบุว่า สินค้าถูกส่งออกมาจากเกาหลีเหนือ เดินทางอ้อมโลกผ่านทางเรือและท่าเรือต่างๆ ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดผนึกอย่างแน่นหนาโดยติดป้ายว่าเป็น "อุปกรณ์สำหรับขุดเจาะน้ำมัน" หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ให้ข้อมูลเส้นทางโดยละเอียดของอาวุธสงครามที่ถูกยูเออียึดได้พร้อมทั้งกล่าวว่าเป็นเส้นทางที่ตรวจจับได้ยาก ข้อมูลการขนส่งระบุว่าตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่จำนวน 10 ตู้เดินทางออกจากท่าเรือนัมโปในเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมในเรือสัญชาติเกาหลีเหนือ จากนั้นอีกสองวันต่อมาสินค้าถูกถ่ายไปขึ้นเรือของจีนที่ท่าเรือในเมืองต้าเหลียนทางตอนเหนือของจีนและมุ่งหน้าสู่เซี่ยงไฮ้ สินค้าถูกขนย้ายอีกครั้งที่เมืองเซี่ยงไฮ้ไปขึ้นเรือเอเอ็นแอล ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเรือที่ติดธงชาติบาฮามาสโดยมีเจ้าของเป็นชาวฝรั่งเศส จากนั้นเรือเอเอ็นแอล ออสเตรเลียออกเดินทางจากเซี่ยงไฮ้ผ่านเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปแวะพักที่ท่าเรือดูไบก่อนจะมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทาง คือ ท่าเรือชาฮิด ราไจ บริเวณช่องแคบฮอร์มุซของอิหร่าน เดวิด อัลไบรท์ อดีตผู้ตรวจสอบอาวุธนิวเคลียร์ขององค์การสหประชาชาติและประธานสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตันกล่าวว่า เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตร ทำให้อิหร่านและเกาหลีเหนือถูกบังคับให้ลักลอบซื้อขายเทคโนโลยีด้านการทหาร โดยเฉพาะอิหร่านที่เลือกใช้วิธีการสั่งซื้อซ้ำๆ กันจากผู้จำหน่ายหลายรายเพราะคาดหมายว่าสินค้าล็อตใดล็อตหนึ่งจะถูกตรวจพบและยึดไป "เครือข่ายเหล่านี้แพร่ขยายเหมือนกับอินเตอร์เน็ต ยิ่งเครือข่ายขยายใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งทำลายได้ยากขึ้นเท่านั้น" นายอัลไบรท์กล่าว พร้อมทั้งกล่าวว่าเครือข่ายเหล่านี้ใช้บริษัทบังหน้าเพื่อซื้อเทคโนโลยีต่างๆ จากผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งจากยุโรป รัสเซีย จีน และสหรัฐอเมริกา แม้ว่าในกรณีของเครื่องบินที่ประเทศไทยยึดมานั้นจะยังไม่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้อย่างชัดเจน แต่จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและเทศมองว่าอิหร่านเป็นจุดหมายที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดประเทศหนึ่ง ในขณะที่สื่อบางรายก็ตั้งข้อสังเกตว่าอาวุธเหล่านี้อาจมีจุดหมายอยู่ที่ประเทศซูดาน ซึ่งถูกสหประชาชาติห้ามส่งออกอาวุธสงครามเช่นเดียวกับเกาหลีเหนือและเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มกบฏในประเทศชาด หรือประเทศเอริเทรียที่ยังมีปัญหาเรื่องพรมแดนกับเอธิโอเปียและให้การสนับสนุนกลุ่มชนชาวอิสลามในประเทศโซมาเลีย |