ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 30 พ.ย.- 4 ธ.ค. 2552) ค่าเงินบาทปรับตัวใน ทิศทางแข็งค่า โดยสัปดาห์นี้ปรับตัวในช่วง 33.02-33.39 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 33.21 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์
โดยฟื้นตัวขึ้นตามค่าเงินภูมิภาคหลัง นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ของดูไบเวิลด์ จำนวน 5.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเริ่มมีการขายเงินเหรียญสหรัฐออกมาอีกครั้ง หลัง
ธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้เสนอให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ธนาคารต่างๆ ในดูไบ เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องแก่ธนาคาร และเป็นการจัดการด้านนโยบายเพื่อแก้ไขวิกฤตในขั้นแรก ซึ่งแนวทางดังกล่าวช่วยลดความกังวลที่ว่าวิกฤตหนี้จะลุกลามทำให้การปล่อยสินเชื่อหยุดชะงัก และส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ดี แม้เงินเหรียญสหรัฐจะอ่อนค่าลง แต่เงินบาทยังทรงตัวที่ระดับ 33.18 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากยังขาดปัจจัยที่หนุนให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นต่อ ก่อนที่จะปรับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกลางสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น หลังดูไบเวิลด์เผยแผนปรับโครงสร้างหนี้น้อยกว่าที่ตลาดคาด
ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาดีช่วยสร้างความหวังให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ขณะเดียวกันการเข้าแทรกแซงตลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เริ่มชะลอลงยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งให้เงินบาททะยานขึ้นสู่ระดับ 33.10 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก่อนจะปรับตัวในกรอบแคบๆ ที่ระดับ 33.11 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางปริมาณธุรกรรมที่ค่อนข้างเบาบางในช่วงก่อนวันหยุดยาวสุดสัปดาห์
อีกทั้งนักลงทุนบางส่วนชะลอการทำธุรกรรมเพื่อรอการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานสหรัฐในช่วงค่ำวันศุกร์ โดยคาดว่าการจ้างงานของสหรัฐ จะลดลง 1.3 แสนตำแหน่ง ลดลงเมื่อเทียบกับ 1.9 แสนตำแหน่ง ในเดือนต.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานคาดว่าจะทรงตัวที่ 10.2% เช่นเดิม
ในช่วงสัปดาห์นี้ (วันที่ 8-11 ธ.ค. 2552) สายงานธุรกิจตลาดทุนมองว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ คาดว่าเงินบาทยังคงปรับตัวในกรอบที่ใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเคลื่อนไหวในช่วง 33.05-33.35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธุรกรรมที่ค่อนข้างเบาบางในช่วงปลายปี
ขณะที่ยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาในตลาด อย่างไรก็ดีเงินเหรียญสหรัฐยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงและภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียที่ปรับตัวดี คาดว่ายังเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินภูมิภาค รวมทั้งเงินบาทให้มีโอกาสปรับแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ดี สำหรับปัจจัยในประเทศยังต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองจากการนัดชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในช่วงปลายสัปดาห์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น และอาจเป็นปัจจัยจำกัดการแข็งค่าของเงินบาท ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ที่ต้องจับตาในช่วงสัปดาห์นี้ ตลาดให้ความสนใจข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงปลายสัปดาห์ ได้แก่ ข้อมูลสต๊อกสินค้าภาคค้าส่งข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ การเผยงบประมาณของรัฐบาลกลาง ยอดค้าปลีก รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงปลายสัปดาห์ โดยคาดว่าข้อมูลจะออกมาดีเป็นส่วนใหญ่ และจะช่วยหนุนให้ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวขึ้นต่อได้