รัฐบาลจีนส่งนายกฯ เหวิน เจียเป่า และคณะ เดินทางไปร่วมประชุมความร่วมมือจีน-แอฟริกา กับบรรดาผู้นำราว 50 ประเทศในกาฬทวีป ที่เมืองท่าตากอากาศ ชาร์ม เอล-ชีค ของอียิปต์ ช่วงอาทิตย์-จันทร์ ที่ผ่านมา
ในที่ประชุมเหวินประกาศให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่ประเทศในแอฟริกา ในระยะ 3 ปีข้างหน้า เพื่อช่วยในการสร้าง ศักยภาพทางการ เงิน พร้อมกับรับปากจะ โละ หนี้สินให้กลุ่มประเทศ ยากจนที่สุด ในแอฟริกา ที่กู้ยืมจีนไปก่อนหน้านี้ และยังไม่มีปัญญาใช้คืน
จีนจะสนับสนุนสถาบันการเงินในประเทศ ในการก่อตั้งเงินทุนมูลค่า 1,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับให้กู้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย หรือเอสเอ็มอี ในแอฟริกา
และในช่วง 3 ปีข้างหน้า จีนจะสร้างโครงการพลังงานสะอาด ขึ้นใหม่ 100 โครงการทั่วแอฟริกา อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายาม ช่วยรับมือกับปัญหาภาวะ โลกร้อน
เหวินกล่าวย้ำ จีนเป็น เพื่อนแท้และไว้ใจได้ ของแอฟริกา ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของจีนต่อแอฟริกา เป็นความจริงใจ หากว่าในอนาคต แม้โลกจะผันเปลี่ยนและยุ่งเหยิงอย่างไร แต่มิตรภาพของเราจะไม่เปลี่ยน เหวินว่าอย่างนั้น
ควักเงินช่วยก้อนโต และโละหนี้ให้บางส่วน แถมหยอดคำหวานให้ด้วย คนได้ฟังถ้าไม่เคลิ้มคงใจแข็งน่าดู
ประชุมหนนี้ เป็นการพบปะระดับสูงสุด ของทั้งสองฝ่ายเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกพบกันที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 2549 ซึ่งครั้งนั้นประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน รับปากให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ฝ่ายแอฟริกา 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่อนคลายหนี้รวมทั้งยกเลิกหนี้สิน ให้กับ 13 ประเทศ
รู้กันโดยนัยว่า การขยายอิทธิพลสู่แอฟริกาของจีน เป้าหมายหลักคือการเสาะหาแหล่งพลังงาน และทางทรัพยากรธรรม ชาติอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่กำลังขยายตัวเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
การรุกคืบจำเป็นต้องใช้เงินหว่าน นำร่อง เมื่อผลประโยชน์ต่างตอบแทนลงตัว ทุกอย่างก็เดินหน้า สำหรับแอฟริกาจีนเล็งไปที่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งสินแร่ ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายมหาศาล
จากตัวเลขข้อมูลของทางการปักกิ่ง ช่วง 5 ปีล่าสุด การลงทุนทางตรงในกาฬ ทวีปของจีน พุ่งจาก 491 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2546 สู่ระดับ 7.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2551
มูลค่าการค้าจีน-แอฟริกา ผ่านหลัก 100,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2551 หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่าในเวลาแค่ 8 ปี
เป็นธรรมดาที่ทุกความเคลื่อนไหว ของชาติมหาอำนาจเบอร์ 1 ตัวจริงเสียงจริงของเอเชีย จะถูกจับตามองไม่กะพริบ จากบรรดาชาติคู่แข่ง ทั้งในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐ
สหรัฐและกลุ่มชาติตะวันตก กล่าวหาจีน เห็นแก่ได้ หวังตักตวงผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในหลายต่อหลายประเทศของแอฟริกา
ประเด็นนี้จีนโต้ว่า จีนยึดมั่นนโยบาย ไม่แทรกแซงกิจการภายใน ของประเทศอื่น ซึ่งรวมถึงประเทศในแอฟริกาด้วย การเชื่อมสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ ไม่ใช่จีนเพิ่งจะเริ่ม แต่มีมานานร่วม 5 ทศวรรษแล้ว และหลายประเทศจีนเคยช่วยเหลือให้พ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกด้วย
ผู้นำหลายชาติของแอฟริกา พูดเป็นเสียงเดียวกัน จีนแตกต่างจากสหรัฐหรือยุโรป โดยจีนจะเน้นการพัฒนาร่วมกัน แต่ชาติตะวันตกชอบสั่งให้แอฟริกาทำตาม
ฟังแล้วคงไม่ต้องสงสัย ณ เวลานี้ แอฟริกาเลือกใคร ระหว่างจีนกับชาติตะวันตก.