ธนาคารอิสลามเพิ่มทุน 6,000 ล้านบาท ฉลุย เรียกเงินเข้าภายใน 60 วัน พร้อมลุยสินเชื่ออีก 6 หมื่นล้านบาท
 |
ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ |
นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญมีมติให้เพิ่มทุนจำนวน 6,000 ล้านบาท ราคาหุ้นละ 1.80 บาท ซึ่งผู้ถือหุ้นจะต้องโอนเข้าเงินให้ธนาคารภายใน 60 วัน หรือภายในเดือนพ.ย.ที่จะถึงนี้
ปัจจุบันธนาคารอิสลามมีทุนจดทะเบียน 3,123 ล้านบาท การเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำให้ธนาคารรัฐแห่งนี้มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 9,123 ล้านบาท และมีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 24% ซึ่งสามารถที่จะขยายสินเชื่อได้ 10 เท่าหรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท
ขณะที่แผนการขยายสินเชื่อที่ธนาคารตั้งเป้าไว้นั้น ในปีนี้จะขยายสินเชื่อให้ได้ทั้งสิ้น 3.37 หมื่นล้านบาท และเป้าหมายใหม่ที่รัฐบาลมอบหมายให้ขยายสินเชื่ออีก 1.6 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสิ้นจะต้องปล่อยสินเชื่อให้ได้ 4.97 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้เงินกองทุนลดลงเหลือที่ระดับ 10% กว่า
สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารอิสลามประกอบด้วย กระทรวงการคลัง 48.54% ธนาคารออมสิน 39.88% และธนาคารกรุงไทย 9.83% ดังนั้นหากหน่วยงานของรัฐต้องเพิ่มทุนนั้น กระทรวงการคลังจะต้องใช้เงิน 2,912 ล้านบาท ธนาคารออมสินใช้เงิน 2,392 ล้านบาท ส่วนธนาคารกรุงไทยจะต้องใส่เงินเข้าไป 592 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มนักลงทุนมุสลิม
ธนาคารอิสลามกำลังขยายสินเชื่อออกไปให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มพี่น้องมุสลิมโดยกำลังสร้างระบบตัวแทนการปล่อยกู้หรือตัวแทนหาลูกค้าเพื่อร่วมลงทุนให้กว้างขึ้นนอกเหนือจากใช้สาขาปล่อยกู้ นาย ธีรศักดิ์ กล่าว
นายธีรศักดิ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการออกพันธบัตรอิสลามจำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ปล่อยกู้โครงการรีไฟแนนซ์หนี้ ว่าจะเสนอขายได้ในไตรมาส 4 โดยขณะนี้ได้หารือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เพื่อออกกฎเกณฑ์ให้ยอมรับพันธบัตรอิสลาม หรือตราสารทางการเงินของอิสลาม ให้สถาบันการเงินสามารถลงทุนได้ และสามารถเปิดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้
ก่อนหน้านี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ได้จัดสรรเงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งได้รับมาสำหรับเพิ่มทุนให้ธนาคารของรัฐรวม 1.45 หมื่นล้านบาท โดยเบื้องต้นจะจัดสรรเพื่อเพิ่มทุนให้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ วงเงิน 3,000 ล้านบาท ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย วงเงิน 3,000 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะพิจารณาเป็นรายธนาคาร