ด้านนักการทูตตะวันตกวอล์กเอาต์ไม่อยากฟัง ผู้นำอิหร่านลุกขึ้นด่าอิสราเอล ส่วนโอบามายังเคืองอังกฤษปล่อยตัวมือระเบิดล็อกเคอร์บี ปัดไม่ให้ กอร์ดอน บราวน์ พบถึง 5ครั้ง
 |
กัดดาฟี |
ประธานาธิบดี โมอัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบีย ขึ้นปราศรัยเดือดกลางเวทีประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ จวกยับ สหประชาชาติล้มเหลว ไม่สามารถป้องกันสงครามบนโลกนี้ได้เลย แถมยังปฏิบัติ กับหลายประเทศเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง ตราหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่าเป็นองค์กร ก่อการร้าย ตัวจริง
การขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ของกัดดาฟี หนนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี หลังจากที่ลิเบียโดดเดี่ยวจากนานาชาติ โดยเนื้อหาหลักๆ ที่ผู้นำรายนี้ได้กล่าวถึง คือความไม่เท่าเทียมในคณะมนตรีความมั่นคงแห่ง สหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ที่สมาชิกถาวร 5 ชาติ ได้แก่ สหรัฐ รัสเซีย จีน อังกฤษ และฝรั่งเศส มีสิทธิเหนือประเทศอื่นในโลกด้วยการใช้สิทธิวีโตที่ยับยั้งได้ในทุกประเด็น
องค์กรนี้ควรจะถูกเรียกว่าคณะมนตรีก่อการร้ายมากกว่า ผู้นำลิเบียลั่น พร้อมกับเรียกร้องให้เลิกระบบวีโตเสีย และขยายสิทธิให้กับประเทศในแอฟริกา ละตินอเมริกา โลกอาหรับ และโลกมุสลิมให้มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น
กัดดาฟี กล่าวต่อไปว่า ยูเอ็นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1945 โดยไม่สามารถป้องกันหรือเข้าไปแทรกแซงสงครามที่เกิดขึ้นในโลกนี้ได้เลย โดยเกิดสงครามขึ้นมาแล้วถึง 65 ครั้ง และผู้นำลิเบียยังเรียกร้องให้แก้ปัญหาจักรวรรดินิยมในแอฟริกา เรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นการสอบสวนการเสียชีวิตของ แดก ฮัมมาร์สกอยด์ อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อปี 1961 ขึ้นใหม่ รวมไปถึงให้รื้อฟื้นการลอบสังหารอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ของสหรัฐ เมื่อปี 1963 และรื้อฟื้นกรณีการเสียชีวิตของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ในปี 1968 ด้วย
รายงานระบุว่า ผู้นำแต่ละคนจะได้รับสิทธิขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์คนละ 15 นาที ซึ่งหากเลยเวลาก็จะมีการส่งสัญญาณไฟเตือนสีแดงขึ้น แต่กัดดาฟีได้พูดนานถึง 1 ชั่วโมง 36 นาที จนต้องมีการเปลี่ยนตัวล่ามผู้แปลภาษา ขณะที่ประธานาธิบดี บารัก โอบามา พูดนาน 38 นาที
อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี ฟิเดล คาสโตร แห่งคิวบา คือผู้ที่ขึ้นกล่าวนานที่สุดคือ 4 ชั่วโมง 29 นาที ในช่วงปี 1960
เราจะมีความสุขได้อย่างไร ถ้าความมั่นคงของโลกนี้ถูกควบคุมไปด้วยมหาอำนาจเพียง 4 หรือ 5 ชาติเท่านั้น เราก็เป็นเพียงแค่ไม้ประดับ กัดดาฟี กล่าว และเสนอว่า ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่ง สหประชาชาติซึ่งมีสมาชิก 192 ประเทศ ควรจะมีอำนาจการตัดสินใจเหนือคณะมนตรีความมั่นคงด้วย
นอกจากนั้น ในระหว่างกล่าว สุนทรพจน์ กัดดาฟียังกระแนะกระแหนผู้นำบางชาติที่เผลอหลับไปในระหว่างที่ เจ้าตัวขึ้นกล่าวด้วย
ผมตื่นมาตั้งแต่ตี 4 ก่อนรุ่งสาง แต่พวกคุณก็สมควรที่จะหลับนะ เพราะคงจะไม่ได้หลับกันมาทั้งคืน ผู้นำลิเบีย กล่าว
ทั้งนี้ ความตึงเครียดระหว่างลิเบียและนานาชาติเพิ่มสูงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อรัฐบาลสกอตแลนด์ได้ปล่อยตัว อับเดล บาเสต อัลเมกรานี ผู้ลงมือวางแผนวินาศกรรมเที่ยวบินแพนแอม 103 ของสหรัฐ เมื่อปี 1988 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 270 คน โดยลิเบียได้ต้อนรับการกลับประเทศของ มือวินาศกรรมผู้นี้ราวกับวีรบุรุษทีเดียว
ขณะเดียวกันเวทีสมัชชาใหญ่แห่ง สหประชาชาติก็วุ่นวายขึ้นอีก เมื่อนักการทูตหลายชาตินำโดยฝรั่งเศส สหรัฐ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย อังกฤษ คอสตาริกา เดนมาร์ก เยอรมนี ฮังการี อิตาลี และนิวซีแลนด์ ได้ประท้วงด้วยการวอล์กเอาต์จากที่ประชุม เมื่อประธานาธิบดี มาห์มูด อาห์มาดินจัด แห่งอิหร่าน ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ และกล่าวโจมตีอิสราเอลอย่างรุนแรง ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้กล่าวถึงชื่อโดยตรง แต่ก็ได้ใช้คำว่า อาณาจักรยิว แทน
ผู้นำอิหร่าน กล่าวว่า อิสราเอลได้ใช้นโยบายที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมต่อชาวปาเลสไตน์ตลอดมา แต่รัฐบาลหลายชาติทั่วโลกกลับยังสนับสนุนอิสราเอลอยู่
อาชญากรรมของผู้บุกรุกที่กระทำต่อสตรีและเด็กที่ไม่มีปัญญาต่อสู้นั้นกลับได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหลายประเทศได้อย่างไร แต่ในขณะเดียวกันบุรุษและสตรี (ปาเลสไตน์) เหล่านั้นที่ถูกกดขี่จากการถูกปิดกั้นทางเศรษฐกิจและจะถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กลับถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงสิ่งจำเป็นต่อชีวิตทั้งอาหาร น้ำ และยา ผู้นำอิหร่าน กล่าว
ด้าน มาร์ก คอร์นเบลา โฆษกทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่ผู้นำอิหร่านยังคงเลือกที่จะส่งเสริมความเกลียดชัง ความรุนแรง และการต่อต้านชาวยิว
ทางด้านประธานาธิบดี บารัก โอบามา แห่งสหรัฐ ซึ่งขึ้นกล่าวไปก่อนหน้านี้ ได้เสนอแนวทางความร่วมมือของโลกด้วย 4 เสาหลักใหม่ เพื่อนำประชาคมโลกไปสู่สันติภาพและความมั่นคงด้วยความรับผิดชอบร่วมกันของทุกประเทศ
ทั้งนี้ 4 เสาหลักที่โอบามาเสนอขึ้น ได้แก่ การปลดอาวุธนิวเคลียร์ การส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง การดูแลรักษาโลก และเศรษฐกิจโลกที่สร้างโอกาสให้กับประชาชนทุกคน
วันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลอังกฤษได้ออกมาปฏิเสธข่าวเป็นพัลวันหลังจากที่มีข่าวว่า ผู้นำสหรัฐบอกปัดการขอพบของนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ถึง 5 ครั้ง ทั้งที่ในการประชุมของสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก และที่การประชุมสุดยอดผู้นำ จี-20 ที่กรุงพิตต์สเบิร์ก สหรัฐ
หนังสือพิมพ์เดลี เทเลกราฟ กล่าวว่า แทนที่ทั้งสองจะได้สนทนาอย่างเป็นทางการ แต่โอบามาและบราวน์ได้พูดคุยกันเป็นเวลา 15 นาทีอย่างไม่เป็นทางการเท่านั้น ในระหว่างที่ทั้งสองพบกันในห้องอาหารของสำนักงานใหญ่แห่งสหประชาชาติ
รายงานระบุว่า สาเหตุที่ทำให้โอบามาไม่ตอบรับผู้นำอังกฤษนั้น อาจเป็นเพราะสหรัฐยังคงไม่พอใจที่สกอตแลนด์ปล่อย ตัวมือระเบิดชาวลิเบียที่ก่อวินาศกรรมเครื่องบินของสายการบินแพนแอม เมื่อ ปี 1988 เหนือเมืองล็อกเคอร์บี ไปเมื่อไม่นานมานี้
เจ้าหน้าที่อังกฤษออกมาปฏิเสธใน เรื่องนี้ว่า ผู้นำอังกฤษไม่ได้ถูกบอกปัดจากประธานาธิบดีสหรัฐในการขอพูดคุยเป็นการส่วนตัว และแก้ต่างว่า ผู้นำทั้งสองได้เจอกันหลายครั้ง ทั้งในระหว่างการร่วมรับประทานอาหารค่ำในช่วงคืนวันอังคาร อีกทั้งทั้งคู่จะต้องเป็นประธานร่วมกันในการประชุมครั้งสำคัญในวันพฤหัสบดี ที่ปากีสถาน และยังมีการประชุม จี-20 ที่เมืองพิตต์สเบิร์กอีกด้วย
ทางด้านความเคลื่อนไหวของที่ประชุมสุดยอดผู้นำ จี-20 ที่เมืองพิตต์สเบิร์กในสหรัฐ ที่เปิดม่านเมื่อคืนนั้น อลิสแตร์ ดาร์ลิง รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ ได้เตือนบรรดานายธนาคารทั่วประเทศว่า งานเลี้ยงได้สิ้นสุดลงไปแล้ว และจำเป็นที่ผู้บริหารธนาคารจะต้องหันมาตระหนักถึงความจริงที่ว่าโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีคลังอังกฤษ มีขึ้นในขณะที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี ก่อนที่จะเข้าร่วมการประชุม จี-20 ซึ่งประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่จะยกขึ้นหารือกันก็คือ การควบคุมการจ่ายค่าตอบแทนให้กับบรรดานายธนาคาร และการควบคุมดูแลระบบของธนาคารไม่ให้กลับไปเดินซ้ำรอยเดิม ซึ่งอาจจะนำไปสู่วิกฤตการเงิน รอบใหม่
รัฐมนตรีคลังอังกฤษ กล่าวด้วยว่า บรรดาผู้บริหารธนาคารก็ยังจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างแท้จริงด้วยว่า พวกเขาเองก็จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย
สิ่งสำคัญที่ต้องสร้างความเข้าใจกับบรรดานายธนาคารก็คือ งานเลี้ยงของพวกเขาได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ดาร์ลิง กล่าว
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดผู้นำ จี-20 ครั้งล่าสุด ประกอบไปด้วย การวางมาตรการควบคุมการจ่ายเงินโบนัสของบรรดาธนาคาร การยกเครื่องระบบการเงิน และการวางแนวทางการสร้างการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืนในอนาคต