โครงการขยายท่าอากาศยานนราธิวาส งบประมาณ 474 ล้านบาท ทั้งเพิ่มขนาดรันเวย์ และปรับปรุงลานจอดเครื่องบินให้สามารถรองรับการลงจอดของอากาศยานขนาดใหญ่ได้ เป็นอีกหนึ่งโครงการพัฒนาของรัฐที่วางยุทธศาสตร์กันมานาน แต่งบประมาณเพิ่งพร้อม และได้ฤกษ์ลงนามความร่วมมือระหว่างกรมการขนส่งทางอากาศ กับกิจการร่วมค้าไทยโพลีคอนส์ พี.เอส.เอ็ม.ไปเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมานี้เอง
อีก 700 วัน หรือประมาณ 2 ปี พี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้ชื่นชมสนามบินนราธิวาสโฉมใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ปลุกการท่องเที่ยว และที่สำคัญจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางไปแสวงบุญ หรือประกอบพิธีฮัจญ์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีเป็นประจำทุกปีได้มากทีเดียว
เพราะชัดเจนว่าจะมีการเปิดเส้นทางบินตรง นราธิวาส-ซาอุฯ อย่างแน่นอน!
นายอิสมาแอ แวมุสตอฟา ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดอัลฮิจเราะห์ จ.ปัตตานี มองว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีและเป็นโอกาสของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะได้รับความสะดวกมากขึ้นในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ เพราะที่ผ่านมาการเดินทางต้องไปขึ้นเครื่องบินเหมาลำจากท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ หรือท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต โดยล่าสุดในปีนี้จะมีท่าอากาศยานกระบี่มารองรับเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย
แม้จะมีสนามบินรองรับหลายแห่ง แต่พี่น้องประชาชนจากสามจังหวัดก็ต้องเดินทางจากพื้นที่เพื่อไปยังสนามบินเหล่านั้นอยู่ดี ทำให้ไม่สะดวก ยิ่งถ้าเป็นสนามบินภูเก็ตหรือกระบี่ อาจจะต้องไปพักค้างคืนก่อนขึ้นเครื่อง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่หากท่าอากาศยานนราธิวาสสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ที่เป็นเครื่องเหมาลำบินตรงไปเมกกะได้ (นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย สถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์) ประชาชนในสามจังหวัดก็จะได้รับความสะดวกมากทีเดียว
นายอิสมาแอ ยังบอกด้วยว่า พี่น้องมุสลิมในพื้นที่นี้และในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่จะนิยมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในช่วง 10 วันแรก เนื่องจากจำนวนผู้ประกอบพิธียังน้อยอยู่ จะเกิดความสะดวกในการทำพิธีกรรมแบบไม่แออัด แต่ที่ผ่านมาท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่รองรับเครื่องบินประเภทเช่าเหมาลำสำหรับผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้เพียงวันละ 2-3 เที่ยวเท่านั้น ถ้ามีท่าอากาศยานนราธิวาสเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สร้างความสะดวก และเพิ่มเที่ยวบินได้อีกหลายเที่ยวบิน
ที่ผ่านมาภาครัฐก็อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในหลายๆ ส่วน อย่างเช่นการทำหนังสือเดินทาง ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดก็ไม่ต้องไปทำหนังสือเดินทางที่ จ.สงขลา แต่สามารถไปทำที่ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่ อ.เมือง จ.ยะลา ได้เลย ซึ่งก็ช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกไปส่วนหนึ่งแล้ว ดังนั้นถ้ามีท่าอากาศยานนราธิวาสอีกแห่งหนึ่ง ก็จะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นไปอีก นายอิสมาแอ กล่าว
นอกเหนือจากการอำนวยสะดวกให้กับผู้แสวงบุญแล้ว สิ่งที่หลายฝ่ายในพื้นที่มุ่งหวังก็คือ การขยายท่าอากาศยานนราธิวาสหนนี้ น่าจะเป็นตัว ฉุด การท่องเที่ยวที่ฟุบมายาวนานให้กลับมาคึกคักขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างมาเลเซีย
ทุกวันนี้เวลาคนมาเลเซียจะเดินทางไปกรุงเทพ โดยเฉพาะชาวมาเลย์ในรัฐกลันตัน (รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซียซึ่งอยู่ติดกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้าน จ.นราธิวาส) ส่วนใหญ่จะเข้ามาใช้บริการที่ท่าอากาศยานนราธิวาสมากกว่าจะเดินทางย้อนกลับไปยังกัวลาลัมเปอร์ (เมืองหลวงของมาเลเซีย) เพราะเข้ามาทางนราฯง่ายกว่า อีกทั้งตั๋วเครื่องบินก็ถูกกว่ามาก ฉะนั้นถ้าโครงการขยายท่าอากาศยานนราธิวาสเสร็จเมื่อไหร่ เชื่อได้เลยว่าจะมีสายการบินมาให้บริการเพิ่มขึ้นแน่นอน จากที่ปัจจุบันมีเพียงแอร์เอเซียสายเดียว นายอิสมาแอ ระบุ
ขณะที่ นางกรรณิกา ดำรงวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส แสดงความเชื่อมั่นว่า หากการปรับปรุงท่าอากาศยานนราธิวาสแล้วเสร็จ ธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่จะขยายตัวมากขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการรองรับนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย
ที่ผ่านมาชาวมาเลย์ในรัฐกลันตันก็นิยมเดินทางเข้ามาต่อเครื่องบินไปกรุงเทพฯที่สนามบินนราธิวาสอยู่แล้ว เพราะระยะทางจากชายแดนด้าน อ.ตากใบ ถึงสนามบินก็แค่ 30 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าย้อนกลับไปกัวลาลัมเปอร์จะไกลกว่ามาก ที่สำคัญค่าใช้จ่ายยังถูกกว่า เพราะเมื่อมาถึงที่นราธิวาสก็จะเป็นสายการบินในประเทศ แต่ถ้าเดินทางจากท่าอากาศยานที่กัวลาลัมเปอร์ไปกรุงเทพฯ จะเป็นสายการบินระหว่างประเทศซึ่งค่าตั๋วแพงกว่า
นางกรรณิกา มองว่า เมื่อนักท่องเที่ยวจากรัฐกลันตันเข้ามามากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือปริมาณนักท่องเที่ยวใน จ.นราธิวาส จะมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเรื่องการใช้จ่ายในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวได้ อย่างเช่นการเดินทางเข้ามาพักเพื่อจะเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ ก็ทำให้ธุรกิจโรงแรมมีรายได้
หลังจากเหตุร้ายรายวันเริ่มลดจำนวนลงตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้ภาพรวมของธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาสเริ่มดีขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซนต์ หากมีสนามบินนราธิวาสมาช่วยสนับสนุน คงจะดีขึ้นกว่านี้มาก แต่ก็ต้องอยู่ที่การประชาสัมพันธ์ด้วย
ในแง่ประชาสัมพันธ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาสมองเลยไปถึงการดึงผู้แสวงบุญจากรัฐกลันตันเข้ามาใช้บริการท่าอากาศยานนราธิวาสในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์
ไม่ใช่แค่การเดินทางผ่านของนักท่องเที่ยวมาเลเซียเพื่อไปกรุงเทพฯหรือจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยเท่านั้นที่เราให้ความสนใจ แต่ถ้าสนามบินนราธิวาสมีศักยภาพและขนาดใหญ่มากกว่าสนามบินในรัฐกลันตัน ผู้แสวงบุญชาวกลันตันก็อาจเดินทางมาใช้บริการสนามบินนราธิวาสด้วยก็ได้ ซึ่งก็จะยิ่งสร้างความคึกคักให้กับภาคธุรกิจในพื้นที่ นางกรรณิกา กล่าว
สอดคล้องกับ นายอะหมาน หมัดอะดัม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส ที่บอกว่า โครงการปรับปรุงท่าอากาศยานนราธิวาสนั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่จุดน่าจะเป็นประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ นอกนั้นก็น่าจะเป็นผู้ที่ต้องเดินทางขึ้น-ลงระหว่างกรุงเทพฯกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งชาวมาเลเซียในรัฐกลันตัน ซึ่งที่ผ่านมาจำนวนผู้โดยสารชาวกลันตันที่เข้ามาใช้บริการที่ท่าอากาศยานนราธิวาสเพื่อเดินทางไปกรุงเทพฯโดยสายการบินไทยแอร์เอเซีย ก็คิดเป็น 20-30 เปอร์เซ็นต์ของผู้โดยสารทั้งหมดอยู่แล้ว
แต่ถึงที่สุดย่อมมิอาจปฏิเสธได้ว่า การพยายาม บูม เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวยังคงมีอุปสรรคสำคัญอยู่ที่สถานการณ์ความไม่สงบที่ยังไม่คลี่คลาย และนั่นคือโจทย์ข้อใหญ่ของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องเร่งแก้ไขกันต่อไป!