อินเด็กซ์ปรับแผนเพิ่มกำลังการผลิต 20-30% รองรับแฟรนไชซีดูไบ ที่เตรียมกันงบลงทุน 1,700 ล้านบาทขยาย 10 สาขารวดช่วง 3-5 ปี ทั่วตะวันออกกลาง หลังเปิดสาขาแรกชิมลางในดูไบมอลล์ ทำยอดขายกระฉูด แจงแม้ตลาดอสังหาฯตก 30 % แต่ได้อานิสงส์คอนโดฯส่งมอบ 8 หมื่นยูนิตทำความต้องการเฟอร์นิเจอร์พุ่ง
นายกิจจา ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการบริหาร บริษัท อินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าจากการที่แฟรนไชซีคือบริษัท รีเทล อีส ดีเทล (แอล.แอล.ซี.)ฯ ( Retail Is Detail (L.L.C.) ที่เมืองดูไบ ประเทศ สหรัฐอาหรับอามิเรตส์ มีแผนที่จะขยายสาขาช่วง 3-5 ปีอีก 10 สาขาในประเทศแถบตะวันออกกลางทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาบูดาบี บาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย ไปจนถึงสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะใช้งบลงทุนรวมประมาณ 40-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,360- 1,700 ล้านบาท) นั้น
จากแผนงานดังกล่าวทำให้ทางบริษัทจำเป็นต้องกลับมาทบทวนแผนการผลิตใหม่ไม่ว่าจะเป็นการผลิต หรือประเภทสินค้า ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะต้องเพิ่มกำลังการผลิตอีก 20-30% และวางแผนระบบโล
จิสติกส์การจัดการสต๊อกสินค้าให้เพียงพอกับคำสั่งซื้อเพราะยอดขายสูงเกินคาดถึง 30-40% ทำให้มีปัญหาสินค้าส่งไม่ทันเวลา แม้จะมีคลังสินค้าในกรุงเทพมหานคร(กทม.)อยู่ 2 จุด มีพื้นที่ประมาณ 60,000 ตารางเมตรถูกจัดเก็บเต็มพื้นที่แล้วมีมูลค่าสินค้า 600 ล้านบาท จึงต้องพิจารณาเรื่องสินค้าคงคลังใหม่
"การเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการขยายสาขาเพิ่มทั้งในต่างประเทศและในประเทศ เพราะนอกเหนือจากการเปิดสาขาบางนาที่มีพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 18,000 ตร.ม.ช่วงเดือนธันวาคมนี้มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ยังเตรียมหาพื้นที่ขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่กทม.เพิ่มอีกคือย่านถนนเลียบด่วนเอกมัย-รามอินทรา ถนนราชพฤกษ์และรามอินทราเพื่อให้มีศูนย์ทั้งหมด 10 แห่ง แต่ด้านยอดขาย คาดว่าปีนี้ยังคงอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาทเติบโตขึ้นจากปี 2551 ประมาณ 5% เป็นส่วนการส่งออกต่างประเทศประมาณ 25-30 %"
นายกิจจากล่าวว่า การเปิดสาขาแรก ในดูไบ แม้ว่าเปิดขายตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมากลับพบว่าสามารถทำยอดขายได้อย่างมาก สาเหตุมาจากการตกแต่งและออกแบบร้านให้มีบรรยากาศที่สดใสแปลกตา สร้างอิมเมจให้เป็นสินค้าดีแต่ราคาไม่แพง และที่สำคัญคือสินค้าเน้นสไตล์โมเดิร์นยุโรป ซึ่งเป็นรสนิยมของคนที่นี่และยังเป็นสินค้าที่ใช้งานจริง จึงพบว่าลูกค้าที่เข้ามาในร้านแม้ไม่ตั้งในซื้อสินค้า แต่ก็จะมีการซื้อสินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ กลับไป จึงทำให้คู่ค้าค่อนข้างมั่นใจกับแบรนด์และสินค้าของบริษัท
ด้านนายแซนเวีย กิล กรรมการฝ่ายปฏิบัติการและจัดซื้อ บริษัท รีเทล อีส ดีเทล (แอล.แอล.ซี.)ฯ แฟรนไชซีของกลุ่มอินเด็กซ์ กล่าวว่า บริษัทนี้ก่อตั้งมาได้ประมาณ 6 เดือน เพื่อดูแลธุรกิจในดูไบและประเทศในตะวันออกกลาง โดยเป็นบริษัทลูกของ กิล แคปปิตอล ประเทศสิงคโปร์ ( Gill Capital )ที่มีความเชี่ยวชาญธุรกิจค้าปลีกแฟรนไชส์เจ้าของ
แบรนด์ดังอาทิ Zara ,Ted ปัจจุบันมี 8 แฟรนไชส์3กลุ่มธุรกิจ คือรองเท้า ลูกกวาดและเฟอร์นิเจอร์
"ร้านอินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ ในดูไบมอลล์ ที่มีพื้นที่ประมาณ 5,000 ตร.ม. ลงทุนประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 170 ล้านบาท) และคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 12 เดือนนี้ และช่วง3-5ปีนี้เตรียมขยายให้ถึง 10 สาขาในดูไบและตะวันออกกลาง โดยตั้งเป้าว่าสาขาต่อไปคือที่อาบูดาบี กาตาร์ บาห์เรน และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น แต่ละสาขาคาดว่าจะมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนตารางเมตร เน้นพื้นที่ในศูนย์การค้าเป็นหลัก ส่วนที่บาห์เรน สาขา 2 นั้นอาจมีพื้นที่ถึง 1.7 แสนตารางเมตร คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 40-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 1,360 - 1,700 ล้านบาท) ซึ่ง 10 สาขานี้จะไม่รวมส่วนของบริษัทแม่ที่สนใจจะเปิดสาขาที่ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 9-12 เดือน
"แม้ภาวะเศรษฐกิจจะไม่ดีภาคอสังหาริมทรัพย์ตกลงประมาณ 20-30% แต่ยังมีโอกาสเพราะมีการส่งมอบบ้านและคอนโดมิเนียมให้ลูกค้าที่ซื้อในปี 2551 อยู่ประมาณ 60,000-80,000 หน่วย ทำให้มีความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์และอีกประการหนึ่งเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีคนอยู่บ้านมากขึ้นก็จะมีการลงทุนเกี่ยวกับบ้านมากขึ้นซึ่งเป็นโอกาส และการที่ลงทุนที่ดูไบเพราะแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวประมาณ 30 ล้านคนจึงน่าที่จะเป็นฐานที่จะทำให้คนรู้จักแบรนด์นี้มากขึ้นก่อนที่จะขยายสาขาไปประเทศอื่น" |