ภายหลังจากการชนะการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา อาจทำให้ใครหลายๆคนโดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน - พนักงานบริษัท - ข้าราชการ - รัฐวิสาหกิจ ตั้งหน้าตั้งตารอคอยความหวังและฝันอยู่กับนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนเริ่มต้นสำหรับปริญญาตรี 15,000 บาท ว่าจะเริ่มต้นเมื่อไร ในทางตรงกันข้ามกลุ่มนายจ้าง กลับยกคณะกรรมการไตรภาคีมาเป็นเครื่องมือว่าการปรับขึ้นค่าแรงทั้งหลายจะต้องผ่านคณะกรรมการไตรภาคีก่อน และแต่ละจังหวัดจะไม่สามารถปรับขึ้นได้เท่ากัน เนื่องจากค่าครองชีพของแต่ละจังหวัดต่างกัน หรือบางกลุ่มอุตสาหกรรมออกมาเรียกร้องว่าเป็นไปไม่ได้ถ้าต้องจ่ายค่าแรงที่สูงขึ้นแล้วจะอยู่กันอย่างไร หรือแม้กระทั่ง นักวิชาการทั้งหลาย ที่ออกมาค้านเรื่องดังกล่าวว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยพุ่งขึ้นอีก

วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่จะเป็นผู้ไขกุญแจปริศนาในเรื่องดังกล่าว
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่าจะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2555 แน่นอนแล้วใช่หรือไม่ ?
กิตติรัตน์ : อาจจะเริ่มต้นได้ก่อนนั้น แต่ต้องขอเล่ากระบวนการว่าหากรัฐใช้วิธีการสั่งให้บริษัทปรับขึ้นค่าแรงให้สูงขึ้น โดยนายจ้างไม่อยากจ่ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การไม่จ้างงาน ก็จะทำให้นโยบายไม่เป็นผล เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำคือต้องการให้คนมีงานทำและมีค่าแรงที่สูงขึ้น ดังนั้นวิธีที่จะทำให้เกิดค่าจ้างขั้นต่ำจาก 215 บาท เป็น 300 บาทในไตรภาคีจึงไม่ใช่วิธีการหลัง แต่วิธีการหลักของรัฐบาลคือ รัฐในฐานะผู้จ้างต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีแรงงานที่ได้ไม่ถึง 300 บาทอยู่มากแค่ไหน ซ่ึงต้องบอกว่ามีแน่นอน ลูกจ้างรัฐที่มีค่าแรงขั้นต่ำส่วนเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท อันนี้หนักกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เพราะไม่มีการควบคุมของไตรภาคีปริญญาตรี ดังนั้น สิ่งที่ทำคือนโยบายของรัฐ รัฐก็จะต้องเดินหน้าก่อน คำว่ารัฐเดินหน้าก่อนก็จะต้องไปโยงกับเรื่องงบประมาณที่ต้องผ่านสภาฯ ดังนั้นการแถลงนโยบายต่อสภาฯทำให้รัฐบาลต้องเร่งทำงานเพื่อเรื่องทั้งหมดกลับเข้ามาภายในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้นเดือน ก.ย.ให้ได้ วันก่อนผมได้คุยกับพวกสมาพันธ์แรงงาน ก็มีคำถามว่าขึ้นค่าแรง 1 ม.ค. 2555 หรือเปล่า ผมก็บอกว่ารอมาได้ตั้งนาน รัฐบาลนี้ทำให้คุณแน่นอน แล้วถ้าถามว่าจะมั่นใจได้อย่างไร ก็บอกว่าถ้าทำไม่ได้รัฐบาลต้องไปถามว่าไปยังไงก็ไม่มีคนเลือกอีกไง
หลักการขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท คืออะไร
กิตติรัตน์ : หลักการขึ้นเงินดือนปริญญาตรี 15,000 บาท คือ การกระจายรายได้ หมายความว่าคนที่มีรายได้น้อยต้องได้เงินเพิ่มมากกว่าคนที่มีรายได้สูง อย่างพวกอธิบดีก็จะไม่มีสิทธิ์ได้ในสิ่งตรงนี้ แต่ถ้ารัฐบาลบอกเพิ่มทั้งฐาน เช่น บางบริษัทที่กำลังคิดอยู่บอกว่าการเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 หมายความว่าฐานปริญญาตรีที่จะได้เพิ่มคืออีก 30-40% งั้นผู้บริหารระดับบนบริษัทเพิ่มให้อีก 10% ด้วย ผมก็บอกเลยว่าคุณคิดดี ถ้า 10% เงินเดือน 100,000 บาท จะได้เพิ่มอีก 10,000 บาท แต่พนักงานระดับล่างได้เพิ่ม 2-3 พันบาท อันนี้จะไม่ใช่การกระจายรายได้ตามที่รัฐบาลบอก ซึ่งกระบวนการคิดของรัฐบาลคือ 1.ใครต่ำกว่า 15,000 บาท ให้ปรับเป็น 15,000 บาท ส่วนคนที่สูงกว่าไม่ต้องเอา 2.บริษัทต้องสำรวจว่า พนักงานเก่าที่เงินเดือน 16,000-18,000 บาท ที่มีความเก่าแก่ตามกาลเวลาหรือประสบการณ์ ควรที่จะได้รับอะไรมากกว่านั้นหรือไม่

ขณะนี้มีการสำรวจข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ หรือยังว่าเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มให้พนักงานส่วนนี้มีจำนวนกี่คนและใช้งบเท่าใด
กิตติรัตน์ : มีแล้ว แต่ผมไม่แม่นเรื่องตัวเลข ส่วนงบประมาณเท่าไหร่ก็ไม่ได้มากจนเกินเหตุ แล้วถ้าถามต่อว่ามากพอมั้ย ก็ตอบได้เลยว่าถ้าไม่พอก็ต้องตัดจากโครงการอื่นมา เพราะต้องบอกว่าตอนนี้จะต้องเลี้ยวประเทศไทยแล้ว เพราะวันนี้ไม่ใช่ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานสูงเหมือนเมื่อก่อนที่มี 7-8% รัฐบาลเลยต้องหางานให้ ค่าแรงถูกก็ต้องเอาดีกว่าไม่มีงานทำ แต่วันนี้หากสังเกตกันให้ดีประเทศไทยมีการจ้างงานเกือบเต็ม ซึ่งสัญญาณอย่างหนึ่งคือการขึ้นทะเบียนต่างด้าวที่ลดลง ซึ่งถ้าถามต่อว่าถ้าการจ้างงานเต็มแล้วทำไมถึงไม่มีการขึ้นค่าแรงหรือค่าแรงขึ้นไม่ได้ ต้องตอบเลยว่า แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมีแทบจะไม่จำกัด นักธุรกิจก็อยู่กับธุรกิจที่เน้นการใช้แรงงานในการสร้างผลผลิตการเติบโต ซึ่งคำถามของผมคือ เราจะโตกันอยู่อย่างนี้เรื่อยๆหรือ เราจะให้อัตราการขยายตัวของแรงงานต่างด้าวโตเป็น 4-7 ล้านคน จากปัจจุบันที่ 1.9 ล้านคนหรือ
แล้วการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือค่าจ้างปริญญาตรี ไม่เป็นการผลักดันแรงงานไทยออก เพื่อให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำแทนเพราะค่าจ้างลดลงหรือ
กิตติรัตน์ : ถูกต้องมันจะเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่มีวิธีป้องกัน เพราะการที่แรงงานต่างด้าวหลั่งไหลเข้ามาเราจะมีวิธีหยุดหรือไม่ คำตอบคือมี แต่จะไม่ได้ 100% แล้วถ้าถามว่าที่ผ่านมาทำไมไม่ทำก็เพราะคนไทยรู้เห็นเป็นใจอยากให้แรงงานต่างด้าวเข้ามา เพราะถ้าไม่มาธุรกิจก็โตไม่ได้ ซึ่งในเชิงนโยบายไม่เอาจริง ถ้าพูดตามหลักธรรมาภิบาลก็จะบอกรัฐบาลปล่อยปละละเลย ก็เอกชนรู้อยู่แล้วว่าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายแต่ยังเอามา แสดงว่าพอใจกับแบบนี้ ดังนั้นผมบอกว่าถ้าคุณจะโตกันแบบนี้ก็เป็นแบบนี้ไม่ต้องขึ้นค่าแรง แรงงานต่างด้าวก็มาอยู่เรื่อยๆเพราะธุรกิจที่ไทยต้องการขยายมันเป็นการใช้แรงงานคนในการสร้างผลผลิต
เตรียมใจหรือยังหากเรื่องดังกล่าวทำไม่ได้ขึ้นมา
กิตติรัตน์ : ต้องทำได้ยังไงก็ต้องทำได้ แต่จะเริ่ม 1 ม.ค. 2555 หรือไม่นั้นอย่าเพิ่งเน้น
การที่รัฐบาลบอกว่าจะให้พนักงานข้าราชการและรัฐวิสาหกิจนำร่องขึ้นก่อนแล้วจะส่งผลทางอ้อมให้เอกชนขึ้นเงินเดือน ถ้าในทางกลับกัน เอกชนไม่ยอมขึ้นเงินเดือนตามนั้นจะทำอย่างไร
กิตติรัตน์ : ก็เสร็จ เสร็จไปด้วยกัน เพราะหากเกิดการหลั่งไหลของพนักงานเอกชนไปทำงานกับรัฐบาลนั้น ต้องบอกเลยว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณมากพอจะมาจ่าย แต่ผมเชื่อว่าเอกชนไม่ยอมเสร็จภายใต้ข้อสมมุติรัฐบาลจ่าย 300 บาท คิดว่ารัฐบาลจะจ่ายคนเดียว 300 บาทจริงหรือ ผมได้พบกับนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เจ้าของนโยบาย สอง ศูนย์ ผมถามว่าคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายดังกล่าว คุณธนินท์บอกว่าถึงรัฐบาลจะไม่ออกกฎหมายอะไรซีพีก็ทำแน่นอนใครไม่ถึง 300 บาท ซีพีขึ้นแน่นอน ใครเป็นปริญญาตรี 15,000 บาทแน่นอน ผมถามว่าแล้วทางซีพีจะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ท่านบอกปีละ พันกว่าล้าน และผมถามว่าทำไมซีพีถึงทำ ท่านบอกท่านเป็นเจ้าของนโยบายสองสูง คือรายได้สูงและสินค้าราคาสูง ซึ่งไม่เพียงแต่ซีพีเท่านั้นที่จะปรับ ปั๊มน้ำมันบางจาก ก็ยืนยันแล้วว่าเด็กปั๊มก็ 300 บาทเช่นกัน และผมเชื่อว่านอกเหนือจาก 2 บริษัทนี้จะยังมีบริษัทอ่ื่นๆที่จะหลั่งไหลมาในนโยบายนี้แน่นอน
ตอนหาเสียงบอก 300 บาททั่วประเทศ แต่ตอนนี้บอกว่าเริ่มที่ข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ และแรงงานในกรุงเทพฯก่อน ส่วนที่เหลือรอไตรภาคี
กิตติรัตน์ : ก็ไปฟังคุณอภิสิทธิ์ มากไป คำว่าทั่วประเทศผมหมายความว่า รัฐบาลเดินเปรี้ยง ถ้า 300 บาทกับพนักงานที่อยู่กทม.ก็ 300 บาทกับพนักงานที่แม่ฮ่องสอน กระบี่ก็ 300 บาท ถามว่าทั่วประเทศทันทีหรือเปล่าทั่วประเทศ ถามว่าทันที ทันทีที่อะไร ทันทีที่งบประมาณฝั่งรัฐบาลเดินออกไปได้ พนักงานร้านเซเว่น อยู่ที่ไหนก็ 300 บาท ถามว่าทำไม 300 บาท เพราะบริษัทฯให้ความร่วมมือ
ถ้าอย่างนั้นดูเหมือนกับรัฐบาลไม่ได้ประกาศให้เป็นค่าแรงวันละ 300 บาท แต่ใช้วิธีการบีบ
กิตติรัตน์ : ไม่ใช่บีบ แต่เป็นวิธีการที่เป็นขั้นเป็นตอนที่จะทำให้ทุกคนจ่ายเกินกว่าที่รัฐบาลประกาศด้วยความสมัครใจ

แต่ตอนที่เพื่อไทยหาเสียงคือพูดค่อนข้างชัดเจนว่าจะประกาศมาเป็นนโยบายแรงงาน 300 บาทหรือเปล่า
กิตติรัตน์ : อันนั้นคิดกันไปเองผมถึงบอกว่าสิ่งที่ประกาศมาผมทำให้มันเป็นได้ก็แล้วกัน แต่ถ้าเรื่องวิธีทำให้เป็นได้โดยใช้กฎหมายก็ง่ายนะออกไตรภาคีมา ซึ่งเชื่อว่าชนะอยู่แล้วลูกจ้างก็เอาอยู่แล้ว รัฐบาลในอดีตเข้าข้างนายจ้างตลอดก็เปล่ียนมาเข้าข้างลูกจ้างก็จบได้แน่นอน แต่ถ้าทำนั้นมีผลดีหรือไม่
แล้วบริษัทขนาดเล็กอย่างเอสเอ็มอีจะมีวิธีการช่วยเหลืออย่างไร เพราะหลายแห่งออกมาโอดครวญ
กิตติรัตน์ : มีสำรวจแล้ว และพบหลายเรื่อง เช่น เอสเอ็มอีจำนวนหนึ่งบอกขาดทุน ถ้าขึ้นค่าแรงมาตายแน่ ต้องย้อนกลับไปว่าเอสเอ็มอียอมรับก่อนหรือไม่ที่บอกขาดทุนเยอะ เพราะแจ้งงบการเงินเป็นเท็จเพื่อหนีภาษี ถ้าถามต่อว่าทำไมถึงหนีภาษีเพราะอัตราภาษีสูงจึงไม่อยากเสีย เลยต้องไปโยงกับการลดอัตราภาษีซึ่งต่างจาก นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ที่บอกอันนั้นประชานิยม อันนี้ก็บริษัทนิยม ไม่ต้องบริษัทนิยมทุกคนก็พูดกันอยู่แล้วว่าประเทศไทยจะเข้าสู่อาเซียน สิงคโปร์เสียภาษี 18% ไทยเก็บ 30% จะให้นักธุรกิจไปแข่งกับต่างประเทศอย่างไร อยากเล่าให้ฟังว่าไม่ใช่ว่าอันนี้ประชานิยมเอาใจแรงงาน อันนี้ประชานิยมเอาใจเกษตรกร อันนี้เอาใจบริษัท ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลง การที่ประเทศไทยยืนบนภาษี 30% มันน่าหนีจะตาย ส่วนจะลงเท่าไหร่นั้นตามที่รัฐบาลประกาศคือปี 2555 เหลือ 23% และในปี 2556 เหลือ 20%
ผลกระทบที่จะเกิดตามมาหลังจากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท
กิตติรัตน์ : เราจะเปล่ียนประเทศด้วยกัน จะบอกว่าข้อดีให้คนอื่นรับและข้อเสียให้รัฐบาลรับไม่ได้ ต้องบอกว่าถ้าจะดีก็ต้องดีไปด้วยกัน และรัฐบาลในฐานะผู้คิดนโยบายก็ต้องมองถึงผลดีมากกว่าไม่ดี เพราะถ้าเดินในแบบเดิมเดินง่ายแต่ไม่ดี คือแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยมีครอบครัวมีลูก แต่ส่งลูกเข้าโรงเรียนในไทยไม่ได้เพราะเป็นปัญหาสังคม รวยกระจุกจนกระจาย เศรษฐกิจมาลุ้นกันทุกเดือนว่าส่งออกจะโตถึง 30% หรือไม่ เพียงเพื่อให้อัตราเฉลี่ยของจีดีพีได้สัก 4% แล้วจะไปมั่งคั่งทางเศรษฐกิจทำไม สิ่งที่เราอยากได้คือ ที่เราขยายตัวทางเศรษฐกิจเพราะเราอยากให้ความสุขกระจายทั่วใช่หรือไม่ ผมเชื่อว่าถ้าเรามีใจเป็นธรรมมาวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันมันก็ง่ายที่จะอยู่ผ่านๆไปแล้วให้จีดีพีโต 4% และก็พึ่งพาการส่งออกเยอะๆ แต่เรารู้อยู่แล้วว่าประเทศผู้ซื้อเราอ่อนแอลงทุกทีๆแล้วไทยจะรอจนกระทั่งลูกค้าเราไม่มีปัญญาซื้อเราและเราก็มางงว่าจะทำยังไงอย่างนั้นหรือ

ตอนนี้มีทุนต่างชาติหลายแห่งที่บอกว่าหากไทยขึ้นค่าแรง 300 บาท จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน
กิตติรัตน์ : ดี เพราะคำว่าย้ายไปไม่ใช่เดินไปปิดโรงงานแล้วย้ายไป แต่เป็นการที่โรงงานใหม่ที่กำลังจะเปิดเพิ่ม ไม่เปิดที่ไทยแต่ไปเปิดที่ประเทศเพื่อนบ้านผมเชื่อว่าดี
แต่เงินทุนที่จะเข้าประเทศก็หายไปและทุนที่เข้ามาก็คือเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นไม่ใช่หรือ
กิตติรัตน์ : ก็ดี ก็ทุนเยอะแล้วตอนนี้ ส่วนการจ้างงานจะเพิ่มทำไม เพราะทุกคนมีงานทำหมดแล้ว มีอย่างเดียวคือค่าแรงต่ำ สิ่งที่เราอยากแก้คือ อยากให้มีงานทำแบบเดิม แต่ค่าแรงที่สูงขึ้น
ตอบโจทย์เรื่องค่าแรงเพิ่มแล้ว ราคาสินค้าเพิ่มจะทำยังไง
กิตติรัตน์ : อย่าให้เพิ่มสิ มันเป็นไปได้ เพราะเวลาที่แบงก์ขึ้นดอกเบี้ยกระทบมั้ย แล้วทำไมไม่เห็นเดือดร้อนเลยว่าขึ้นดอกเบี้ยแล้วเงินจะเฟ้อ เพราะในทางทฤษฎีในการขึ้นดอกเบี้ยเป็นการไปหลอกให้คนยอมรับว่าเป็นเครื่องมือต้านเงินเฟ้อ แต่คนที่เป็นผู้บริหารธุรกิจดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมันคือต้นทุนที่สูงขึ้น ผมไม่ได้บอกให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยลงนะ ผมบอกว่าจะดันดอกเบี้ยขึ้นมาทำไมดอกเบี้ยขณะนี้สูงผิดธรรมชาติ เพราะธปท.ออกพันธบัตรดูดทรัพย์สภาพคล่องมาที่ตัวแล้วเอาพันธบัตรไปให้คน พอถึงเวลาสิ้นปีก็เอาค่าดอกเบี้ยไปจ่าย คุณทำอย่างนี้ทำไม ถ้างั้นผมถามว่าถ้าดอกเบี้ยมันต่ำลงคุณเป็นผู้บริหารระหว่างเอาเงินไปจ่ายดอกเบี้ยที่สูงกับเอาเงินไปจ่ายพนักงานในจำนวนเงินที่เท่ากันคุณอยากทำแบบไหนจ่ายลูกน้องเรายังมีความสุขยังมีกำลังใจ
แต่เหมือนตอนนี้ราคาสินค้ามันขึ้นไปแล้ว
กิตติรัตน์ : ขึ้นเพราะอะไรขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย. คนบอกพอนโยบายพรรคเพื่อไทยออกมาขึ้น แต่ถ้ามองจริงๆเดือนเม.ย.เหตุผลใหญ่ที่ราคาสินค้าขึ้นเพราะ น้ำมันแพง เงินเฟ้อที่ขึ้นมาอย่าไปถูกใครหลอกนะว่าเป็นสิ่งที่ทำกันเอง เพราะตอนนี้คุณกำลังอยู่ในโลกที่เงินเฟ้อแน่นอน ทำไมเงินเฟ้อแน่นอน สหรัฐทำQE พิมพ์ธนบัตรโยนเงินมาสู่ในระบบไม่เฟ้อหรือ ผมไม่ได้บอกว่าการประชุมกนง.ครั้งต่อไปจะต้องลดหรือเพิ่มแต่รู้หรือไม่ว่า ธปท.ออกพันธบัตรมา 5 ล้านล้านบาททำไม กลับโดนตอกว่าอยู่ในฝั่งรัฐบาลอย่ามายุ่งอะไรกับแบงก์ชาติ ผมแค่บอกลองไปคิดดูใหม่ได้หรือไม่ว่าขึ้นดอกเบี้ยแล้วต้านเงินเฟ้อตรงไหนถ้าเหมือนเหตุการณ์ช่วงก่อนต้มยำกุ้งคนเก็งกำไรเยอะผมจะไม่ว่าอะไรเลย แต่วันนี้จริงหรอคนเก็งกำไรจนต้องขึ้นดอกเบี้ยและทำให้ลดเงินเฟ้อหรือ

มีการคุยกับแบงก์ชาติหรือไม่
กิตติรัตน์ : ไม่คุย
มีปัญหากันใช่หรือไม่
กิตติรัตน์ : ไม่มี
แต่ทำไมดูเหมือนหลายๆนโยบายแบงก์ชาติสกัดหมดเลย
กิตติรัตน์ : ธปท.ก็คิดของเค้าผมก็คิดของผม
แล้วจะทำงานด้วยกันได้หรือ
กิตติรัตน์ : ได้ เพราะอะไรเพราะเพิ่งแถลงนโยบายเสร็จจะให้ผมเดินไปคุยกับธปท.ก่อนเดี๋ยวก็จะบอกว่ายังไม่แถลงนโยบายมีสิทธิ์อะไรมาบริหารราชการแผ่นดิน
มีแพลนที่จะคุยหรือไม่
กิตติรัตน์ : ต้องคุยแต่ไม่ใช่หน้าที่ผมที่ต้องคุยต้องเป็นหน้าที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ที่ต้องคุยกัน

ขอคำยืนยันว่าเป็นค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่รายได้ เพราะตอนนี้คนกำลังสับสนว่าเป็นค่าแรงขั้นต่ำ หรือ รายได้รวมขั้นต่ำ 300 บาท
กิตติรัตน์ : คนห่วงกันอย่างนั้นหรือ ผมไม่ได้จะเลี่ยงบาลีนะแต่ผมตั้งคำถามว่าถ้าคนสนใจกันอย่างนั้น สนใจกันเพราะว่าอยากจะให้มันเป็นประเด็นหรือเค้าสนใจในชีวิตจริง ผมยกตัวอย่างอย่างนี้นะ ผมไปเจอบริกรในร้านข้าวต้ม ผมถามว่าได้เงินอย่างไรบริกรบอกได้เดือนละ 4,000 บาท ทำงานทุกวัน ผมถามว่าคุณไปทำอย่างนั้นทำไม บริกรบอกก็ผมกินข้าวฟรีทุกวันที่ร้านผมและเถ้าแก่ก็ให้ผมนอนชั้นบนของร้าน ทริปก็ได้ด้วย เพราะฉะนั้น 4,000 บาท ผมเก็บเต็มๆ สมมุติว่าเราเดินไปบอกทางร้านเลยว่าไม่ได้ต้องจ่าย 9,000 บาท ผมเป็นนายจ้างก็ง่ายนิดเดียว บริกรคนดังกล่าวก็ไม่ต้องกิน ไม่ต้องนอนที่ร้าน คำถามก็คือจะเอาอย่างนั้นหรือ สิ่งที่นายจ้างให้กินก็จะคิดว่า 20 บาท แต่สิ่งที่ลูกจ้างกินลูกจ้างจะรู้สึกว่ามื้อละ 30 บาท สิ่งที่นายจ้างให้คือห้องนอนข้างบนร้าน แต่พออย่างนั้นเอ็งไม่ต้องนอนแล้วหมั่นไส้รัฐบาล สะเออะมาบอก 9,000 บาท ไปเลยไปหาที่ไหนเช่าไปก็ไปเอาอย่างนั้นหรือ แต่ถามว่ากระบวนการตรงนี้เลี่ยงบาลีหรือไม่ ไม่ได้เลี่ยงในเวลาผมก็เรียนไปแล้วว่าในเวลาอนกระชับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงานที่คิดโดยไตรภาคีต้อง 300 บาททั่วประเทศ แต่กระบวนการจะปรับตัวอย่างไรก็เริ่มอย่างนี้รัฐบาลทำ บริษัทใหญ่ๆทำแล้วกระบวนการที่ผมเล่าให้ฟังมีหลายบริษัทที่ทำท่าว่าจะจ่ายไม่ไหวถามว่าทำไมจ่ายไม่ไหว เพราะไม่อยากจ่าย ไม่จำเป็นต้องจ่าย แต่ในเมื่อตอนนี้ลูกจ้างบอกพี่ครับที่อื่นจ่ายกันแล้วถ้าพี่ไม่จ่ายผมคงไปนะถามว่าจะจ่ายหรือไม่
มั่นใจในพลังแรงงานว่าจะมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างได้
กิตติรัตน์ : มั่นใจครับ (ตอบแบบหนักแน่น)
หลังจากนี้บรรดาลูกจ้างแรงงานทั้งหลายก็คงมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าสิ่งที่ รัฐบาลเคยหาเสียงไปก่อนหน้านี้กำลังจะเห็นผลเป็นรูปธรรมแน่นอน ส่วนจังหวัดไหนจะเร็วหรือช้าอย่างไรก็ต้องมาลุ้นกันอีกที
ติดตามบทสัมภาษณ์พิเศษ " กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ตอนที่ 2 เรื่องนโยบายรับจำนำข้าว ได้ที่นี่เร็วๆนี้
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์