ทำไม่ได้ยังกล้าให้สัญญาประชาคม
รู้ว่าทำไม่ได้แล้วยังกล้าให้สัญญาประชาคม : ขยายปมร้อน โดย ศรายุทธ สายคำมี
ความจริงถ้าแก้ผ้ากันเสียแต่แรกเหมือนอย่างที่ท ปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ตอนนี้นั่งเป็นรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ ตั้งโต๊ะแถลงยอมรับตั้งแต่แรกแล้วว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทำได้ทันทีนั้น เป็นเพียงแค่คำพูดจาหาเสียงของนักการเมืองเสียแต่แรก มาถึงวันนี้ พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็คงจะไม่ลำบากใจจนถึงทุกวันนี้
แต่เข้าใจว่าความเป็นคน เป็นผู้นำ อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีสำนึกของความรับผิดชอบในสิ่งที่พูดไป ก็เลยถูไถดันทุรังกันเรื่อยมา
คุยกับนักธุรกิจ ทั้งสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แม้กระทั่งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนก่อนถึงวันแถลงนโยบายก็ไม่เป็นผล เอกชนยืนกรานถ้าจะขึ้นก็ต้องมีส่วนที่ชดเชย แถมยังบอกด้วยว่า ขึ้นได้ก็ต้องเป็นขั้นบันได
ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ วันละ 300 บาททำได้ทันที ก็เลยกลายเป็นว่า 300 บาทต่อวัน ค่อยๆ ทำกันไป แล้วก็ได้แต่เฉพาะลูกจ้างของรัฐ
เหมือนกับเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท ที่บอกว่าทำได้แต่ผู้ที่จบปริญญาตรีแล้วสอบเข้าเป็นข้าราชการได้สำเร็จ
แต่มันก็ไม่ได้เป๊ะๆ ตามนั้น เมื่อความจริงที่ฝ่ายค้านไล่ต้อน บีบบี้ จนรัฐมนตรีที่รับผิดชอบต้อง "แก้ผ้า" กลางสภา ก็คือ 300 บาทต่อวันนั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เป็นรายได้ เช่นเดียวกับเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท ก็ไม่ได้เป็นตัวเงินเดือนเพียวๆ
แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ บรรดานักการเมืองทั้งหลายกลับพูดหน้าตาเฉยว่า สิ่งที่พูดไปตอนหาเสียงนั่นเพื่อให้ชาวบ้านเขาตัดสินใจเลือก
พูดง่ายๆ ชาวบ้านทั้งหลาย จะมาเอานิยมนิยายอะไรกับนักการเมือง วันหาเสียงมันก็พูดกันอย่างนี้ พอได้เป็นแล้ว ก็ปลิ้นมาอย่างนี้อยู่แล้ว
ใครที่หลงเลือกไปแล้วจะไปก่นด่าว่า กะล่อน ตอแหล ก็แล้วแต่ ไม่ได้เป็นผลต่อคะแนนเสียงที่ได้ตัดสินใจเลือกไปแล้ว
ยิ่งคำอธิบายถึงการพลิกพลิ้วของนโยบาย 300 บาทต่อวันทำได้ทันที ของยิ่งลักษณ์ ก็ยิ่งทำให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่เพียงปลอดประสพ แม้แต่ผู้นำประเทศ หรือน้องสาวเจ้าของพรรค ก็ยังคิดไม่ต่างกัน
และยังจะดูคลุมเครือมากขึ้น เมื่อยิ่งลักษณ์บอกว่า "ความจริงแล้วเป็นการคุยกันในเรื่องของการตีความตามตัวอักษร"
การตีความตามตัวอักษรคืออะไร
ก็ในเมื่อการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ไม่ได้เป็นการขึ้นตามคำสั่งของรัฐบาล ยิ่งเป็นรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากประชาชน การที่จะไปใช้อำนาจเผด็จการสั่งการให้ผู้ประกอบการทั้งหลายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศทันทีนั้นมันเป็นไปไม่ได้
ก็ไม่รู้ว่า ยิ่งลักษณ์ และคนที่คิดค้นนโยบายนี้ขึ้นมาเข้าใจถึงกระบวนการนี้บ้างหรือไม่ หรือมีความรู้เรื่องของ "คณะกรรมการไตรภาคี" ที่มีขึ้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานบ้างหรือไม่ ?
คณะกรรมการไตรภาคีซึ่งประกอบไปด้วย ตัวแทนภาครัฐ เอกชน และลูกจ้าง ที่มานั่งถกกันเรื่องการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ยังต้องไปพิจารณาตามเกณฑ์ที่มีอยู่ 9 เกณฑ์ ตามกฎหมายนั้นด้วย
ไม่มีหลักพิจารณาของกฎหมายข้อไหนที่ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นให้เป็นไปตามคำสั่งของรัฐบาล
แล้วก็ไม่มีใครเชื่อว่า ผู้รู้ทั้งหลายในพรรคเพื่อไทยจะไม่รู้ข้อจำกัดข้อนี้ อย่างน้อยๆ เลขาธิการพรรค จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตปลัดแรงงาน ก็น่าจะแม่นกฎหมายคุ้มครองแรงงานมากเป็นพิเศษ
ถามว่า ผลักดันสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ออกมาทำไมในช่วงที่หาเสียงเลือกตั้ง
คำตอบของยิ่งลักษณ์อาจดูซื่อๆ จริงใจ อยากให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น และเห็นว่าการตีความตามตัวอักษรนั้นเป็นปัญหา...แล้วจะให้ทำอย่างไร ในเมื่อบ้านเรามันเป็นนิติรัฐ ทางเดียวที่จะทะลุมิตินี้ไปได้ก็คือ การแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับนี้
แต่ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้พูดออกมาสักแอะ
กลับไปบอกว่า จะ "เพิ่มรายได้ให้ผู้ใช้แรงงาน" เลี่ยงที่จะพูดถึงคำว่า "อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ"
นั่นก็คือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังอยู่เหมือนเดิม แต่อาจจะมีเงินจากส่วนอื่นเช่น คูปอง หรือสวัสดิการอย่างอื่นมาเพิ่มให้อย่างนั้นใช่ไหม
แต่เดิมคิดว่า คนที่คิดค้นนโยบายพวกนี้ไม่ได้อธิบายให้ยิ่งลักษณ์ ด้รับรู้ถึงอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นกับนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททำได้ทันทีทั่วประเทศ แต่เมื่อยิ่งลักษณ์แบไต๋ออกมาว่า ปัญหาเพราะ "ตีความตัวอักษร" ซึ่งก็น่าจะเป็นตัวกฎหมายที่ระบุถึง "ไตรภาคี" ก็เลยเข้าใจได้ว่า ยิ่งลักษณ์รับรู้ปัญหานี้มาตั้งแต่แรก
ถ้ารู้มาแต่แรกแล้วยังกล้าที่จะพูดออกไปเป็นสัญญาประชาคม แล้วจะให้เข้าใจเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร ?
ที่มา : คมชัดลึก |