หมวดหมู่
หน้าหลัก       ยินดีต้อนรับสู่มุสลิมไทย โพสต์
 
พิมพ์หน้านี้  |  ส่งให้เพื่อน
ห้ามแตะนายใหญ่ ระดม ‘องครักษ์’ โต้ฝ่ายค้านย้อน ‘ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ’

ห้ามแตะนายใหญ่ ระดม ‘องครักษ์’ โต้ฝ่ายค้านย้อน ‘ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ’

จับตาขึ้นเขียงยกแรก "ปู" ลั่น "พร้อมค่ะ" แต่เพื่อไทยผวาประชาธิปัตย์ทุบจุดยุทธศาสตร์ เตรียมองครักษ์พิทักษ์นายใหญ่ อ้างมั่วถ้าอยากปรองดองอย่าแทง ไม่ทิ้งนิสัยเดิม "สุนัย" ยกคนที่เลือกเพื่อไทยขึ้นมาขู่ ฝ่ายค้านย้อนศร "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" จะไม่ให้ซัด "แม้ว" ได้อย่างไร วิปแบ่งเวลาอภิปราย รัฐบาล-ฝ่ายค้านทีมละ 11 ชั่วโมง ส่วน ส.ว. 7.40 ชั่วโมง

 ก่อนการเปิดแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของเธอว่า "หลายประเด็นตอนนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเบี่ยงเบนและบิดเบือนความจริง รัฐบาลมีภารกิจหลักที่จะต้องรีบทำ 3 ส่วน คือ แก้ปัญหา เยียวยาเรื่องภัยธรรมชาติ, เศรษฐกิจในประเทศและปัญหาเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบโดยรวม รัฐบาลต้องรีบดำเนินการพร้อมๆ กับนโยบายเร่งด่วนที่จะแถลงต่อสภาฯ พรุ่งนี้ ตรงนี้ขอทุกส่วนมุ่งทำหน้าที่ของตน เพื่อประเทศชาติเป็นหลัก ถึงเวลาทำงาน เราต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติก่อนค่ะ”

 ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ของดให้สัมภาษณ์ 1 วัน อ้างว่ากลัวสื่อมวลชนเบื่อ

 ที่พรรคเพื่อไทยวันเดียวกัน มีการประชุม ส.ส.พรรค โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรีในส่วนของพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยสมาชิกพรรคเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อเตรียมความพร้อมในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ระหว่างวันที่ 23-24 ส.ค.นี้

 นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.การคลัง กล่าวหลังประชุมว่า ฝ่ายรัฐมนตรีและพรรคไม่หนักใจการอภิปรายของพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าซัดเรา เราก็จะซัดกลับ เพราะมีเรื่องให้ซัดกลับมากมาย โดยเฉพาะการบริหาร 2 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สร้างปัญหาอะไรไว้ มีเรื่องให้ซัดกลับ ทั้งเรื่องความล้มเหลวในการแก้เศรษฐกิจ และการสร้างหนี้สิน

 ด้านนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะหนึ่งในทีมองครักษ์พิทักษ์นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า จากการประเมินของทีม ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้ของพรรคประชาธิปัตย์จะมุ่งไปที่การอภิปราย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ไม่ใช่การอภิปรายเรื่องนโยบาย ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ซัด พ.ต.ท.ทักษิณก็คงแย่ แต่รัฐบาลก็จะให้โอกาสพูดเต็มที่ ขอเพียงแต่ให้อยู่ในกรอบกติกา ไม่นอกลู่นอกรอย อภิปรายอย่างสร้างสรรค์
อ้างปรองดองอย่าแทง

 "หากเลยกรอบและกติกาก็คงไม่ยอม โดยเฉพาะถ้าแตะโดยไร้เหตุผลมากๆ วันนี้อยากให้พรรคประชาธิปัตย์ควรสำนึกได้แล้วว่า ชัยชนะที่เกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทย ประชาชนคิดอย่างไรกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ฝ่ายค้านควรปรองดองได้แล้ว ไม่ใช่เริ่มวันแรกก็แทงเลย แต่ถ้าพูดมีหลักมีการจะไม่ประท้วง แต่ถ้าหนักๆ ก็คงต้องลุกขึ้นช่วยประคองนายสุรพงษ์ โดยหลักการชี้แจงพยายามบอกให้เห็นว่า การที่ฝ่ายค้านพูดนั้นยืนยันว่าไม่มีการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ” นายสุนัยกล่าว

 นายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พวก ส.ส.เพื่อไทยคงไม่ยอมที่จะให้ฝ่ายค้านมาแตะคนที่เรารักอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ หากแตะต้องโดยไม่มีเหตุผลคงไม่มีใครยอม เชื่อว่า ส.ส.เพื่อไทยจำนวนมากจะลุกขึ้นประท้วง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เกี่ยวอะไร ฝ่ายค้านไม่ควรอภิปราย เพราะเวทีนี้เป็นการอภิปรายนโยบาย ไม่ควรพาดพิง พ.ต.ท.ทักษิณเพื่อหวังผลทางการเมือง

 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในฐานะที่เป็นหัวหน้าทีมพิทักษ์การประชุม ยืนยันว่าไม่มีการตั้งองครักษ์พิทักษ์นายกฯ และรัฐมนตรีเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นการดูถูกนายกฯ และรัฐมนตรี

 ขณะที่มีรายข่าวจากที่ประชุม ส.ส.พรรคเพี่อไทย เปิดเผยว่า นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ได้กล่าวในที่ประชุมถึงเรื่องการแถลงนโยบาย โดยบอกว่าไม่ต้องกลัวอะไร เพราะนโยบายชัดเจนกันอยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าฝ่ายค้านจะมุ่งไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์มากกว่า แต่จะพูดเรื่องอะไรนั้นยังไม่ทราบได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าฝ่ายค้านคงทำได้เพียงกระแนะกระแหนเท่านั้น เพราะ 2 ปีกว่าก็ไม่เห็นทำอะไรเลย

 "หากฝ่ายค้านพูดมาก็เข้าตัวเองหมด รัฐบาลก็ตอบโต้ไปจังๆ สักที รับรองหงายหลังแน่ อย่างไรก็ตาม ไม่สนับสนุนให้มีการตั้งองครักษ์พิทักษ์นายกฯ และรัฐมนตรี” แหล่งข่าวระบุคำพูดนายเสนาะในห้องประชุม

 ยังมีรายงานว่า ระหว่างประชุม พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ได้วิเคราะห์ว่า ฝ่ายค้านจะหยิบเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาอภิปรายแน่ ซึ่งอาจจะต้องมีการตอบโต้ในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ในที่ประชุม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ควรไปแก้ที่มาตรา 291 เพื่อให้มีการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แต่เป็นเรื่องที่น่าจัดไว้คู่กันในสมัยประชุมหน้า อย่างไรก็ตาม ได้รับมอบหมายให้อภิปรายตอบโต้ในเรื่องการฆ่าตัดตอน และการปราบปรามยาเสพติด รวมถึงกระบวนการยุติธรรม

พร้อมค่ะ

 ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวหลังประชุมสั้นๆ ถึงการประชุมแถลงนโยบายว่า ”พร้อมค่ะ”

 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า องครักษ์ไม่มี มั่นใจว่านายกรัฐมนตรีสามารถตอบคำถามได้ อย่างไรก็ตาม จะมีฝ่ายส่งเสริมประชาธิปไตยของพรรคดูประเด็นท้วงติง เมื่อมีการออกนอกกรอบ หรือนำเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายมาพูด

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทยโดยวิปรัฐบาลได้จัดเตรียมทีมรับมือการอภิปรายของฝ่ายค้าน พร้อมทั้งเตรียมข้อมูลอภิปรายเสริม ครม. โดยแบ่งเป็น 10 ด้านหลัก คือ 1.ด้านความมั่นคงและภาคใต้ มอบหมายให้ พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าจัดทีมและเตรียมข้อมูล โดยให้เตรียมเรื่อง ศอ.บต.ไว้ด้วย 2.ด้านพลังงาน เตรียมข้อมูลเรื่องบัตรเครดิตพลังงาน ที่จะใช้กับรถแท็กซี่, รถสองแถว, รถเมล์, รถมอเตอร์ไซค์ โดยมอบให้ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม เป็นผู้หาคนอภิปรายเสริม 

 3.ด้านต่างประเทศ ให้นายปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น และ น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย เป็นผู้จัดเตรียมทีมอภิปรายเสริม พร้อมทั้งคาดการณ์ประเด็นที่ฝ่ายค้านจะอภิปราย 4.ด้านการคลังมอบให้นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รับผิดชอบ 5.ด้านสังคม เบื้องต้นได้เตรียมทีมอภิปรายไว้ 8 คน 6.ด้านการเกษตร มอบให้พรรคชาติไทยพัฒนาไปดูแล โดยเน้นเรื่องบัตรเครดิตเกษตรกร 7.ด้านการศึกษา ให้เน้นเตรียมข้อมูลเรื่อง Tablet 8.การบริหารจัดการน้ำ ให้ทีมเตรียมข้อมูลจำลองเหตุการณ์ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก มาชี้แจง

 9.ด้านสาธารณสุข ให้นำเรื่องการประกันสุขภาพ 30 บาท การรักษาฟรีมาอภิปราย 10.ประเด็นการเมืองอื่นๆ ให้วางแผนคาดการณ์สิ่งที่ฝ่ายค้านจะพูดและเตรียมตอบโต้ โดยยึดข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน เป็นหัวหน้าชุดประท้วง

 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี มั่นใจว่า การแถลงนโยบายจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คิดว่าไม่มีใครทำนอกเหนือกติกา ไม่รู้เสียแล้วว่านายกฯ เป็นปูทะเลก้ามใหญ่ ไม่ใช่พวกปูนิ่ม อย่าคิดว่านายกฯ พูดไม่เก่ง นายกฯ เขาพูดแบบนันสต็อปนะ

วิปแบ่งเวลา

 นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในฐานะผู้ประสานงานชั่วคราวของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลหรือวิปรัฐบาลว่า การอภิปรายนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 23-24 ส.ค. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ฝ่ายละ 11 ชั่วโมง ส่วนวุฒิสภาใช้เวลา 7 ชั่วโมง ทั้งนี้ จะเผื่อการจัดการและการบริหารเวลาการประชุมไว้ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเนื้องานและการประท้วงของ ส.ส. ซึ่งการประท้วงของ ส.ส.จะไปหักจากเวลาของแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ตาม การอภิปรายในวันที่ 24 ส.ค.อาจจะไปสิ้นสุดหลังเที่ยงคืนก็ได้ เพราะอาจจะมีผู้อภิปรายจำนวนมาก แต่จะไม่มีการเปิดอภิปรายเพิ่มอีก 1 วันอย่างแน่นอน

       เขายืนยันว่า ขั้นตอนการแถลงนโยบายนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเป็นผู้แถลงภาพรวมของนโยบายต่อรัฐสภา จากนั้นจะให้สมาชิกรัฐสภานำโดยผู้นำฝ่ายค้านเป็นผู้อภิปราย ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะตอบข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาในภาพรวม

 ถามว่า การอภิปรายนโยบายจะควบคุมอย่างไร ถ้าหากมีการพาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ นายวิทยา ตอบว่า ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย คิดว่าสามารถอภิปรายได้ แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ผู้ควบคุมการประชุม แต่ทั้งนี้ตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 43 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามพาดพึงถึงบุคคลภายนอก แม้ว่า ส.ส.อาจจะอ้างว่าตนเองมีเอกสิทธิ์คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกดำเนินคดี แต่หากมีการฟ้องร้องตามมาภายหลัง ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลต้องรับผิดชอบ 

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวิปรัฐบาล นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ได้ขอให้ประธานวิปรัฐบาลประสานงานไปยังประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ใช้ข้อบังคับการประชุมอย่างเคร่งครัด โดยห้ามไม่ให้สมาชิกพรรคฝ่ายค้านได้อภิปรายพาดพิง พ.ต.ท.ทักษิณ และขอให้อภิปรายเฉพาะเรื่องของนโยบาย ไม่ควรเบี่ยงเบนไปประเด็นอื่น

 ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงภายหลังการประชุมวิปฝ่ายค้านว่า สรุปจำนวนผู้อภิปรายเหลือเพียง 40 คน จากเดิม 60 คน เพื่อให้เป็นไปตามกรอบเวลา และกำชับทุกคนให้เคร่งครัดกับการอภิปรายครั้งนี้ด้วย โดยจะอภิปรายเฉลี่ยคนละประมาณ 10-15 นาที แบ่งเนื้อหาการอภิปรายเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มการเมืองความมั่นคง 2.กลุ่มเศรษฐกิจ และ 3.กลุ่มด้านสังคม 

  ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ว่าที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ว่า ที่ประชุมมีมติที่จะใช้เวลาอภิปรายทั้งสิ้น 400 นาที โดยแบ่งกรอบการอภิปรายออกเป็น 3 ประเด็น ประกอบไปด้วย 1.ด้านเศรษฐกิจ ที่มีนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าทีม โดยจะมีผู้อภิปรายทั้งสิ้น 16 ราย ใช้เวลา 200 นาที 2.ด้านสังคม ซึ่งมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช เป็นหัวหน้าทีม มีผู้อภิปราย 10 คน ใช้เวลา 80 นาที 3.ด้านการเมือง ความมั่นคง มีนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าทีม โดยจะมีผู้อภิปรายทั้งสิ้น 10 ราย ใช้เวลา 120 นาที รวมผู้อภิปรายทั้งสิ้น 36 ราย รวมเวลา 400 นาที ทั้งนี้ จะเน้นไปที่การติดตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง และชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการดำเนินการตามนโยบาย รวมถึงการเสนอความเห็นถึงมาตรการเพิ่มเติมของรัฐบาล โดยยืนยันว่าการอภิปรายในครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความสร้างสรรค์

ย้อนศร 'ทักษิณคิด'

 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมอบหมายให้รองนายกฯ ชี้แจงในเรื่องที่เกี่ยวข้องว่า การชี้แจงเป็นโอกาสที่ดี ซึ่งหัวหน้ารัฐบาลสามารถส่งสัญญาณสร้างความชัดเจนในนโยบายที่ยังขาดความชัดเจน หัวหน้ารัฐบาลสามารถที่จะแก้ปัญหาได้เพียงแต่ต้องสร้างความมั่นใจ ดังนั้นจึงอยากให้ใช้โอกาสนี้ แต่ก็เป็นสิทธิ์ที่จะตอบหรือไม่ตอบก็ได้

 นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ของพรรคว่า พรรคได้เวลาในการอภิปรายเพียง 1 ชั่วโมง 50 นาที ทำให้ ส.ส.แต่ละคนจะมีเวลาอภิปรายประมาณคนละ 10-15 นาที

 ถามว่า ในการอภิปรายจะมีการพูดพาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ นายศุภชัยกล่าวว่า เรื่องนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายนโยบายของพรรคเพื่อไทย พ.ต.ท.ทักษิณมีส่วนเกี่ยวข้อง และพรรคเพื่อไทยยังเคยหาเสียงอย่างเปิดเผยด้วยว่า "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ดังนั้น ในการอภิปรายการพาดพิงถึงอดีตนายกฯอาจเกิดขึ้นได้

 ที่ประชุมวุฒิสภาวันเดียวกันนี้ มีการหารือถึงสัดส่วนการจัดสรรเวลาให้ ส.ว.อภิปราย ในการประชุมรัฐสภาเพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่น้อยเกินไป แต่นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ส.ว.เชียงใหม่ ในฐานะเลขานุการวิปวุฒิสภา ชี้แจงว่า ล่าสุดทางรัฐบาลยอมแบ่งเวลาเพิ่มให้อีก 40 นาที รวมเวลาที่วุฒิสภาจะได้ คือ 7 ชั่วโมง 40 นาที ส่วนประเด็นการจัดตัวผู้อภิปรายไม่สามารถตกลงกันได้ตามญัตติของนายประเสริฐ ที่จะให้ ส.ว.ที่เข้าชื่อได้อภิปรายในเวลาที่เท่ากัน โดยให้ตัวแทนแต่ละคณะกรรมาธิการที่ได้เวลาคณะละ 10 นาที มาเฉลี่ยเวลาให้ ส.ว.คนอื่น ที่สุดที่ประชุมจึงมีมติเสียงส่วนใหญ่ 60 ต่อ 57 ไม่เห็นด้วยกับญัตติของนายประเสริฐ ดังนั้น การจัดแบ่งเวลาเป็นไปตามตัวแทนคณะกรรมาธิการ 22 คณะ คณะละ 10 นาที เวลาที่เหลือจึงไปเฉลี่ยให้ ส.ว. 59 คนที่เข้าชื่อ

 ขณะที่ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี หารือว่า ในระยะยาวควรมีมาตรการหรือกฎหมาย ให้พรรคการเมืองกำหนดนโยบายหาเสียงที่ทำได้จริง ไม่ใช่เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วทั้งผลักทั้งดันให้เป็นนโยบายของรัฐ แล้วกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เห็นว่าหากรัฐบาลทำไม่ได้ พรรคที่ได้รับเสียงข้างมากสมควรพิจารณาตัวเอง ด้วยการลาออกจากการเป็นรัฐบาล.

ที่มา : ไทยโพสต์

 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :-
 
  เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :-
บทความที่น่าสนใจ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
340 ลาดพร้าว 112 วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทร 0-2514-0593 แฟ็กซ์ 0-2538-4215 Email : [email protected]

Warning: include(../../main/globalsitemap.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185

Warning: include(): Failed opening '../../main/globalsitemap.php' for inclusion (include_path='.:/usr/lib/php:/usr/local/lib/php') in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185