ผ่า! 3 ปมเผือกร้อน' ยิ่งลักษณ์'
อดีตสมช.ชี้3 ปมเผือกร้อนรัฐบาล เริ่มจากเขาพระวิหาร-แก้ รธน.-นิรโทษกรรม"ชัยวัฒน์ สถาอานันท์"ชี้โลกสมัยใหม่รัฐไม่แข็งแกร่ง
ตั้งรัฐบาลใหม่ยังไม่ทันได้แถลงนโยบาย ดูเหมือนรัฐนาวาที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะเจอคำถามและแรงกดดันหลายเรื่อง แต่ละเรื่องล้วนโยงถึงความมั่นคงและอายุของรัฐบาลทั้งนั้น
พูดถึงประเด็นด้านความมั่นคงในโลกยุคปัจจุบันนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในโลกยุคข้อมูลข่าวสารและพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เรื่องความมั่นคงไม่จำกัดอยู่เฉพาะนิยามเดิมๆ ว่าด้วยอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนอีกต่อไป หนำซ้ำเรื่องราวที่เคยคิดว่าเป็น "ปัญหาภายใน" ยังส่งผลกระทบทั้งไปและกลับต่อ "ประชาคมโลก" จนแยกไม่ออกว่าเป็นปัญหาภายนอกหรือภายในกันแน่
เมื่อวานนี้ (17 ส.ค.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมกับสมาคมรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย จึงได้จัดสัมมนาเรื่อง “ทิศทางประเทศไทยในสถานการณ์ด้านความมั่นคง” ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ และมีประเด็นด้านความมั่นคงหลายประเด็นที่น่าสนใจ
นายขจัดภัย บุรุษพัฒษ์ นายกสมาคมรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย และอดีตเลขาฯ สมช. (ปี 2541-2545) กล่าวตอนหนึ่งถึงปัญหาความมั่นคงภายในที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์การเมืองว่า ตลอด 5 ปีที่ที่ผ่านมาปัญหาความขัดแย้งในสังคมสร้างผลกระทบให้กับประเทศชาติอย่างรุนแรงที่สุด แม้ขณะนี้เหตุการณ์สงบแล้ว มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งจะหมดสิ้นไป เพียงแต่บรรยากาศที่มีรัฐบาลชุดใหม่เป็นช่วงที่ประชาชนซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านยังเปิดโอกาสให้เวลารัฐบาลพิสูจน์ตัวเองในการแก้ปัญหา
ฉะนั้น นายขจัดภัย จึงฟันธงว่า หากมีเงื่อนไขปลุกกระแสต่อต้านรัฐบาล ก็จะเห็นมวลชนออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง!
ประเด็นที่จะเป็น "เผือกร้อน" อันอาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนขนาดใหญ่มีอยู่ 3 เรื่อง คือ
1.การแก้รัฐธรรมนูญ
2.การออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมทางการเมือง
3.กรณีปราสาทพระวิหาร
"การหาทางคลี่คลายปัญหาสังคมที่ดำรงอยู่ รัฐบาลมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ต้องมีใจที่เปิดกว้างและมีท่าทีต่อนโยบายที่ชัดเจนในทางปฏิบัติให้เห็นจริงในสิ่งที่โฆษณาหาเสียงว่าจะแก้ไขไม่แก้แค้น ต้องดำเนินการให้เห็นจริงให้ได้" อดีตเลขาฯ สมช. ระบุ
นายขจัดภัย ขยายความว่า ความขัดแย้งกับกัมพูชาเป็นระเบิดเวลา และเป็นระเบิดพลีชีพของรัฐบาล ถ้าบริหารจัดการไม่ดีจะเกิดความรุนแรงแน่นอน แม้มีรัฐบาลชุดใหม่แล้วดูเหมือนความสัมพันธ์กลับดีขึ้น แต่เป็นเพราะ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาให้สื่อยกเว้นการเสนอข่าวโจมตีไทย แต่ต้องไปลืมว่าช่วงนี้เป็นช่วงรอการพิจารณาคดีของศาลโลก หากศาลตัดสินตามที่กัมพูชายื่นฟ้องไป คนไทยจะยอมรับได้หรือไม่ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังติดใจคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี พ.ศ.2505 และไม่ยอมรับ นี่คือระเบิดเวลา
ฉะนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเจรจาให้กัมพูชาถอนคำร้องต่อศาลโลก แล้วกลับสู่สถานะเดิม คือใช้เอ็มโอยู (บันทึกความเข้าใจ) เป็นพื้นฐานในการพูดคุยกัน
นายขจัดภัย กล่าวต่อว่า กลุ่มที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปสร้างความสมานฉันท์ หากมองให้แคบลงมาคิดว่ามี 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มของพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มคนเสื้อเหลือง ซึ่งรัฐบาลต้องจริงใจ พร้อมให้ความร่วมมือทั้งในและนอกรัฐสภา เพื่อให้คนที่ไม่เห็นด้วยมองเห็นความจริงใจ และขอให้ดูว่ามีทางไหนที่จะดึงเข้ามาหารือพูดจาทำความเข้าใจกัน เพราะทั้งหมดก็เป็นคนที่รู้จักกันทั้งนั้น สามารถพูดจากันนอกรอบหรือในรอบได้
แต่ถ้าปล่อยให้ขัดแย้งจนมีการตั้งเวที มีคนมาชุมนุมเป็นหมื่นเป็นแสน ก็จะพูดจาไม่รู้เรื่อง เพราะตอนนั้นก็จะเดินหน้าฆ่ากันและโค่นกันลูกเดียว หากพูดคุยกันได้ก่อน คิดว่าปัญหาความขัดแย้งจะคลายความรุนแรงลง
2.กลุ่มข้าราชการ รัฐบาลต้องสร้างสัมพันธ์ให้ดี เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็มักมีการโยกย้ายประเภทล้างบาง คนที่กุมอำนาจไม่มีความไว้วางใจคนของรัฐบาลเก่า จะมองว่าทำงานร่วมกันไม่ได้ ดังนั้นหากจะให้เกิดความปรองดองระหว่างข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง ก็ต้องระวังเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย ต้องให้เวลากับข้าราชการได้พิสูจน์ให้เห็นว่าที่เติบโตขึ้นมานั้น มาด้วยระบบคุณธรรมและความรู้ความสามารถ
ด้าน นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. กล่าวถึงสถานการณ์ด้านความมั่นคงที่แปรเปลี่ยนไปในยุคปัจจุบันว่า เรื่องความมั่นคงมีความซับซ้อนและกว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งมาตรการและนโยบายก็ซับซ้อนขึ้นด้วยเช่นกัน เดิมทีความมั่นคงมีมิติเรื่องอธิปไตย เอกราช หรือดินแดนที่ยังมีอิทธิพลกับสังคมมาจนถึงปัจจุบัน กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต มิติความมั่นคงก็เปลี่ยนโดยสิ้นเชิง คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่หนึ่งจะมีผลกระทบไปถึงอีกที่หนึ่ง สิ่งที่เกิดในบ้านเราก็กระทบกับที่อื่น เราจึงไม่สามารถปิดกั้นความมั่นคงใหม่ๆ กลไกโลก และกลไกอื่นๆ ได้
ดังนั้นความมั่นคงใหม่จะขยายขอบเขต เช่น การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน มีการหารือกัน 5 เรื่อง แต่กลับไม่มีการพูดถึงการบริหารประเทศเลย นั่นหมายความว่าขอบเขตความมั่นคงทางการทหารได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และจะเห็นว่าทูตต่างประเทศ ทูตอียู (สหภาพยุโรป) ยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) เดินเข้าพบนายกรัฐมนตรีของเรา นั่นแสดงว่าเรื่องของบ้านเมืองเราไม่ใช่เฉพาะของเรา หากไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีระเบียบ ก็มีผลกระเพื่อมเป็นลูกคลื่นไปยังที่อื่นด้วย
"เรื่องความมั่นคงในโลกหากเราไม่รู้ก็โง่ เต้นตามก็บ้า เพราะเป็นเรื่องของโลก ดีที่สุดคือเราควรมองว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ต้องมองตัวเราให้มากที่สุด แต่ความอ่อนด้อยต่อปัจจัยภายในของเราทำให้เราอ่อนด้อย ไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ ทำให้เราอยู่ในโลกที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่ผมแนะนำให้เรายืนอยู่บนโลกแล้วมองดูโลก เราอย่าแบกโลกไว้" นายถวิล กล่าว
ขณะที่ นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ดิจิทัลเวิลด์หรือโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันสามารถเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจของรัฐได้หมดแล้ว มีผลโดยตรงทำให้อำนาจรัฐเปลี่ยน อะไรที่เคยคิดว่าทรงพลังก็ไม่แน่แล้ว ไม่เช่นนั้นจะอธิบายการเดินขบวนที่ประเทศอังกฤษได้อย่างไร เพราะมันไม่สามารถบล็อก (ควบคุม) ได้ ดังนั้นเราจะต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่ไกลเกินกว่าเรื่องรัฐบาลใครไปใครมา
“ความรุนแรงในสื่อสิ่งพิมพ์มีน้อยกว่าโลกไซเบอร์สเปซมาก เพราะมันสร้างความเชื่อได้อย่างรวดเร็ว การชุมนุมประท้วงหลายครั้งใช้ไอทีและรัฐบาลก็คุมไม่ได้ ซึ่งประเทศสิงคโปร์เคยคุมเว็บต่อต้านรัฐบาล ก็เกิดคนออกแบบเว็บที่อยู่ได้ 3 วันโดยที่ไม่ต้องไปยุบมันเพราะมันสลายของมันเอง นี่คือความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เร็วและน่ากลัวมาก เพราะการทำลายความมั่นคงของประเทศผ่านไซเบอร์สเปซทำได้เร็วและทำที่ไหนก็ได้ ดังนั้นต้องถามว่าของพวกนี้หน่วยงานความมั่นคงของเราจะรับมือกับมันอย่างไร” นายชัยวัฒน์ ตั้งคำถามทิ้งท้าย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ |