ตะลึง! แฉ 'ชายไทย' นิยมมีเซ็กส์แรกกับ 'เพื่อน-กิ๊ก' มากขึ้น
รองผอ.สถาบันวิจัยประชากร และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล แฉชายไทยปัจจุบันนิยมีเซ็กส์กับ "เพื่อน-กิ๊ก" เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผู้ใหญ่หันมาครองโสดมากถึง20% สถิติครอบครัวหย่าร้างพุ่งเช่นกัน...
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รอง ผอ.สถาบันวิจัยประชากร และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงเพศวิถีที่เปลี่ยนไปในสังคมไทยว่า เพศวิถีที่กำลังเปลี่ยนไปในสังคมไทยในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมามี 4 เรื่องสำคัญคือ 1. เพศสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของผู้ชายไทยที่เรียนรู้ประสบการณ์ทางเพศครั้งแรกกับหญิงบริการ และคู่สมรสน้อยลงเรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่หันไปมีเซ็กส์ครั้งแรกกับเพื่อน หรือกิ๊กมากขึ้น ขณะที่เพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน และการอยู่ก่อนแต่งมีแนวโน้มจะเป็นบรรทัดฐานของคนวัยทำงานและหนุ่มสาวในวัยเรียน สะท้อนถึงความคิดเรื่องการรักษาพรหมจารีของหญิงไทยจนกว่าจะแต่งงานผ่อนคลายลง
2. ความหลากหลายทางเพศมีการยอมรับจากสังคมมากขึ้น 3. การค้าบริการทางเพศเปลี่ยน จากเดิมที่เป็นสำนัก หรือซ่องอย่างเดียวมาอยู่ในรูปแบบที่มีการให้บริการเสริมและฝังตัวในสถานบันเทิงรูปแบบต่างๆ เช่น บาร์ คาราโอเกะ สวนอาหาร อาบอบนวด นวดแผนโบราณ หรือแม้แต่หอพัก ร้านตัดผม เป็นต้น อีกทั้งมีรูปแบบการบริการเคลื่อนที่มากขึ้น ขณะที่ผู้ให้บริการแม้ส่วนใหญ่เป็นหญิงแต่ก็มีผู้ชายขายบริการมากขึ้น 4.เพศศึกษาที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงร่างกายในวัยเจริญพันธุ์ มุ่งควบคุม มาเป็นเพศศึกษารอบด้านที่มีเนื้อหาและกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การรับฟังผู้อื่น การไม่ตัดสินพฤติกรรม ไม่ตีตราเพศวิถีส่วนน้อย ส่วนเพศวิถีที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคือ ความรุนแรงทางเพศที่ผู้หญิงยังเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงทางเพศไม่เปลี่ยนแปลง และผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย
ด้าน รศ.ดร.ชาย โพธิสิตา จากสถาบันวิจัยประชากร และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ครอบครัวไทยปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก คนเริ่มชีวิตครอบครัวหรือแต่งงานเมื่ออายุสูงขึ้น สัดส่วนคนครองโสดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัยที่เลย 40 ปีไปแล้วมีแนวโน้มครองโสดตลอดชีวิต โดยเฉพาะใน กทม.พบผู้หญิงเกิน 20% ยังไม่แต่งงาน ส่วนรูปแบบการจับคู่อยู่กันเป็นสามีภรรยาก็เปลี่ยนไปจากเดิมต้องแต่งงานก่อน แต่ปัจจุบันมีการอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานทีหลัง หรืออยู่กินกันไปเลยเมื่อไม่พอใจก็แยกทางกัน รวมถึงความสัมพันธ์ในชีวิตสมรสทุกวันนี้เปราะบางมากขึ้น แนวโน้มการหย่าร้างสูงมากขึ้น โดยปี พ.ศ.2536 มีตัวเลขการลดทะเบียนหย่าเกือบ 5 หมื่นราย และพุ่งสูงถึงแสนเศษในปี 2552 ขณะที่การจดทะเบียนสมรสกลับลดลง นอกจากนี้ ช่วง 30 ปีมานี้ครอบครัวเดี่ยวลดลงจากร้อยละ 70 เหลือร้อยละ 53
ส่วนศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มาตรการรัฐจะต้องส่งเสริมให้คู่สมรสที่มีความพร้อมมีบุตรโดยไม่เป็นภาระต่อ สังคม เพราะเวลานี้โดยเฉลี่ยสตรีมีบุตรลดลงเหลือ 1.5 คนจากในอดีต 50 ปีก่อนมีมากกว่า 6 คน เพราะแนวโน้มคนไทยจะมีลูกน้อยลงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร ขณะเดียวกันต้องสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมาก ขึ้น และจัดระบบดูแลแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในไทยจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน ทั้งนี้ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กำหนดจัดประชุมวิชาการ "จุดเปลี่ยนประชากร จุดเปลี่ยนสังคมไทย" ในโอกาสครบรอบ 40 ปีสถาบัน วันที่ 1 ก.ค.เวลา 08.30-16.30 น.ที่ห้องมิราเคิลแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิล.
ที่มา : ไทยรัฐ |