|
สว.สหรัฐล้มกม.ขยายหนี้ โลกผวา กระทบเศรษฐกิจพังพาบ |
|
|
สว.สหรัฐล้มกม.ขยายหนี้ โลกผวา กระทบเศรษฐกิจพังพาบ |
 |
|
 |
สว.สหรัฐล้มกม.ขยายหนี้ โลกผวา กระทบเศรษฐกิจพังพาบ โอบามาจี้ประนีประนอมผ่าทางตัน ลุ้นอีกเฮือกก่อนเส้นตายนัดชำระ2สค. "คลัง"จับตาเงินทะลักทำค่าบาทแข็ง ส่งออกอ่วม-หุ้นตีปีกรับทุนไหลเข้า
ทั่วโลกยังคงต้องจับตาปัญหาวิกฤติหนี้ในสหรัฐอเมริกาต่อไปอย่างระทึก ภายหลังจากวุฒิสภาสหรัฐซึ่งมีพรรคเดโมแครทครองเสียงข้างมาก ลงมติคว่ำร่างกฎหมายปรับลดงบประมาณรายจ่ายและปรับเพิ่มเพดานหนี้ชั่วคราวที่เสนอโดยพรรครีพับลิกัน ทั้งที่สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐเพิ่งให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านั้นไม่ถึง 2 ชั่วโมง ทำให้ต้องเร่งมีการเจรจาประนีประนอม เพื่อผ่าทางตันการผิดนัดชำระหนี้ที่จะถึงเส้นตายในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม
สส.สหรัฐผ่านกม.ขยายหนี้
ทั้งนี้สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ตามเวลาในประเทศไทยว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายปรับลดงบประมาณรายจ่ายและปรับเพิ่มเพดานหนี้ชั่วคราวที่เสนอโดย นายจอห์น เบเนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ที่จะให้เพิ่มเพดานหนี้เป็น 2 ระยะ และตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐลงกว่า 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยคะแนน 218 ต่อ 210 เสียง แต่การลงมติดังกล่าวปรากฏว่า ไม่มีส.ส.เดโมแครทรายใดให้การสนับสนุนแม้แต่คนเดียว ขณะเดียวกันก็มีส.ส.รีพับลิกันอีกราว 20 คน ที่มองว่า ยังตัดลดงบประมาณลงไม่มากพอ
"วุฒิสภา"โหวตคว่ำทันที
ขณะที่คล้อยหลังจากนั้นเพียง 2 ชั่วโมง เมื่อมีการนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากอยู่ ก็ปรากฏว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ถูกคว่ำลงทันทีด้วยมติ 59 ต่อ 41 โดยวุฒิสมาชิกฝ่ายเดโมแครตชี้ว่า ข้อเสนอของฝ่ายรีพับลิกันที่ให้ขยายเพดานหนี้ในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 6 เดือน จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในช่วงต้นปีหน้า โดยเฉพาะในช่วงที่สหรัฐกำลังมีการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี
เร่งประนีประนอมก่อนเส้นตาย
ความชะงักงันที่เกิดขึ้นทำให้สมาชิกพรรคเดโมแครท และรีพับลิกันต้องเปิดการหารือประนีประนอมกันอีกครั้งตลอดช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดย นายแฮรี่ รีด ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า พรรคเดโมแครทพยายามประนีประนอมอย่างเต็มที่แล้ว และจะยังคงเปิดกว้างสำหรับการประนีประนอมกันต่อไป และหวังว่า นายมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาจากพรรครีพับลิกัน จะช่วยกันบรรลุข้อตกลงสุดท้ายก่อนที่จะถึงเส้นตายชำระหนี้ของสหรัฐในวันที่ 2 สิงหาคม
"โอบามา"เรียกร้องเร่งผ่าทางตัน
ด้าน ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ บอกว่า ข้อเสนอของพรรครีพับลิกันเป็นเพียงความพยายามเพื่อหาเสียงในพรรคเท่านั้น แต่เวลานี้ประเทศต้องการข้อตกลงที่จะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ และประเทศไม่มีเวลาสำหรับการต่อรองเหลืออีกแล้ว โดยประธานาธิบดีโอบามาสนับสนุนร่างข้อเสนอของ นายรีด ที่ปรับลดงบประมาณ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และขยายเพดานหนี้อีก 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีข้อเสนอของทั้งนายเบเนอร์และนายรีดมีความคาบเกี่ยวกันในหลายประเด็นสำคัญ ทั้งในส่วนของการตัดลดงบประมาณในระยะเวลา 10 ปี และเปิดทางให้มีการปรับเพิ่มการเก็บภาษีคนรวย และบริษัทห้างร้านขนาดใหญ่ตามนโยบายของประธานาธิบดีโอบามา
ชี้หาทางลงไม่ได้กระทบหนัก
ทั้งนี้สหรัฐได้ก่อหนี้เต็มเพดาน 14.398 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีการใช้วิธีปรับบัญชีและการใช้จ่าย รวมถึงปรับตัวเลขภาษีสูงกว่าที่คาดไว้ เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปตามปกติ แต่มาตรการเหล่านี้จะสามารถยืดได้ถึงวันอังคารนี้เท่านั้น หากรัฐสภายังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันเพื่อขยายเพดานหนี้เหนือ 14.398 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ทันในวันอังคารที่ 2 สิงหาคม สหรัฐก็จะผิดนัดการชำระหนี้เป็นครั้งแรก และจะทำให้ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อศรษฐกิจสหรัฐ ที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว โดยขณะนี้สหรัฐมีอัตราการว่างงานสูงตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในปี 2551 เป็นต้นมา รวมถึงยังกระทบเศรษฐกิจโลกโดยรวม
เปิดบัญชีหนี้"สหรัฐ"บักโกรก
สำหรับตัวเลขหนี้ 14.398 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐนั้น เจ้าหนี้ 1 ใน 3 เป็นรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ ส่วนอีก 1 ใน 3 เป็นกองทุนบำนาญสหรัฐ รวมถึงนักลงทุนอเมริกัน โดยสหรัฐติดหนี้ตัวเองก้อนใหญ่ที่สุดประมาณ 5.7 ล้านล้านดอลลาร์ อยู่ในรูปของสินทรัพย์ที่กู้ยืมจากโครงการบำนาญ ประกันสังคม และระบบประกันสุขภาพสำหรับคนชรา
ส่วนหนี้ที่ติดค้างต่างประเทศ ที่ตวจสอบล่าสุดถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2554 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยรัฐบาลจีนและนักลงทุนจีนถือครองหนี้สหรัฐมากที่สุด 1,200 ล้านล้านดอลลาร์ อันดับสอง ได้แก่ ญี่ปุ่น 912,000 ล้านดอลลาร์ ตามด้วยอังกฤษ 346,000 ล้านดอลลาร์ และประเทศในกลุ่มผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปค) 230,000 ล้านดอลลาร์ บราซิลถือครองหนี้สหรัฐ 211,000 ล้านดอลลาร์ ไต้หวัน รัสเซีย และฮ่องกง รายละกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์
ราคา"หุ้น-น้ำมัน"กอดคอดิ่ง
ปัญหาความชะงักงันดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐปิดการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ในแดนลบ โดยดัชนีดาวโจนส์ ลดลงร้อยละ 4.2 ปิดที่ระดับ 12,143.24 เช่นเดียวกับ แนสแดค และเอสแอนด์พี ที่ร่วงกว่าร้อยละ 3 ส่วนราคาน้ำมันดิบตลาดโลกดิ่งลงเกินคาด จากปัจจัยเดียวกัน โดยไลท์ สวีต ตลาดนิวยอร์ค นัดส่งมอบเดือนกันยายน ปรับลดลง 1 ดอลลาร์ 74 เซนต์ ปิดที่บาร์เรลละ 95 ดอลลาร์ 70 เซนต์ ด้านเบรนท์ ทะเลเหนือ ตลาดลอนดอน นัดส่งมอบเดือนเดียวกัน ดิ่งลง 62 เซนต์ ปิดตลาดที่ระดับ 116 ดอลลาร์ 74 เซนต์ ต่อบาร์เรล
ทั่วโลกจับตาเข้ม-กังวลผลกระทบ
สำนักข่าวต่างประเทศระบุด้วยว่า ภายหลังจากวุฒิสภาสหรัฐคว่ำร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรฐกิจโลก รวมทั้งตลาดหุ้น ตลาดทุน ตลาดเงิน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะทองคำ
คลังจับตากระทบส่งออก-บาทแข็ง
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า หากสหรัฐไม่สามารถผ่าทางตันไปได้ ตลาดหลักที่จะได้รับผลกระทบ คือ ตลาดทุน โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรและตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงตลาดการค้าทั่วโลก เนื่องจากสหรัฐเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่มีการนำเข้าในปริมาณที่สูงมาก ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้น อาจทำให้สหรัฐลดปริมาณการนำเข้าสินค้า และบริการต่าง ๆ ลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงภาคการส่งออกของไทยด้วย
นอกจากนี้ยังอาจส่งผลทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นในระดับที่ต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลล่าร์ เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกเริ่มมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนออกจากสหรัฐ มายังภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทย
เตือนดูแลปัจจัยภายในประเทศ
"การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยภายใต้สถานการณ์นี้ จำเป็นต้องควบคุมปัจจัยภายในให้ดี และค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งต้องหาจังหวะเวลาในการดำเนินนโยบายแต่ละด้านที่เหมาะสม ที่สำคัญคือ ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน เพื่อให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ อยู่ในระดับสมดุล และไม่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่มากเกินไป ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสามารถผ่านช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหาไปได้"
แนะพลิกวิกฤติดึงเงินลงทุน
นายนริศ กล่าวต่อไปว่า ภายใต้สถานการณ์เงินกำลังไหลออกจากสหรัฐ ประเทศไทย ควรดำเนินมาตรการจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติ ที่เคลื่อนย้ายเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ร่วมลงทุนกับภาครัฐ ในรูปแบบ PPP หรือ โครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นการพัฒนา ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาฝีมือแรงงาน การผลิตที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการค้าและการจัดจำหน่าย
ตลาดหุ้นไทย-เอเชียลุ้นเงินทะลัก
ด้าน นายกัณฑรา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) (FSS) กล่าวว่า สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในสัปดาห์หน้า ยังคงต้องรอความชัดเจนในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ ในการขยายเพิ่มเพดานหนี้จากสภาสูงของสหรัฐอเมริกาก่อน แต่โดยส่วนตัว ก็ยังมองว่า พรรครีพับลิกันและเดโมแครทจะสามารถหาทางประนีประนอมเพื่อบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายก่อนเส้นตายได้ แต่หากผลออกมาในทางลบ ก็คงจะส่งผลกระทบต่อตลาดโลกโดยรวม ทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่จะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นทั่วเอเชียรวมทั้งไทยด้วย
ลุ้นฝ่าแนวต้าน1,150จุด
"ในส่วนข่าวที่เป็นลบ จะส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในช่วงต้นสัปดาห์วันจันทร์-อังคาร เท่านั้น หลังผ่านช่วงของการรอผลที่แน่นอนแล้ว คาดว่าตลาดหุ้นไทยและเอเชียจะได้รับผลดีในระยะสั้น ด้วยแรงบวกจากผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนลง โดยเรามองแนวรับ ในช่วงสัปดาห์หน้า อยู่ที่ 1,125-1,120 จุด แนวต้าน 1,150 จุด หรือใกล้เคียง" นายกัณฑรา
กูรูหุ้นชี้ ไม่รุนแรงอย่างที่คิด
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการลงทุนในหุ้น กล่าวถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐว่า จะส่งผลในเชิงจิตวิทยาต่อบรรดานักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งก็จะทำให้มีแรงเทขายออกมาให้เห็น ในช่วงเปิดตลาดวันแรกของสัปดาห์ ก็คือวันจันทร์นี้ และจะส่งผลทำให้ SET Index ปรับตัวลดลง แต่ลดลงแบบกลางๆ คือ ไม่แรงอย่างที่หลายคนวิตก
เตือนอย่ารีบร้อนขายหุ้น
"ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยนั้น ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน แต่ผลจากกระทบจากการปรับตัวลดลงของดัชนี้ดาวน์โจนส์ ก็คงจะมีเข้ามาบ้าง แต่ต้องบอกว่า ไม่ถึงกับวิกฤติ อย่างไรก็ตามอยากจะเตือนนักลงทุนว่า อย่ารีบร้อนขายหุ้นในพอร์ทออกมา เพราะผมมั่นใจว่า ในท้ายที่สุดสหรัฐต้องแก้ปัญหานี้ได้" ดร.นิเวศน์ กล่าว
ตลาดเงินป่วน-บาทแข็งค่า
นายเกียรติศักดิ์ เจนวิภากุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) มองว่า หากสหรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาทันวันที่ 2 สิงหาคมนี้จริง ก็จะกระทบต่อตลาดการเงินมากที่สุด เงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าต่อเนื่องไปจนกว่า ตลาดจะเริ่มลดความกังวล และเงินบาทมีโอกาสปรับตัวแข็งค่าได้ถึง 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้สหรัฐก็คงถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ รวมทั้งราคาพันธบัตร และค่าเงินดอลลาร์
"แต่ผลกระทบในเชิงลบดังกล่าว จะต่ำกว่ากรณีที่สหรัฐผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากบริษัทประเมินว่านักลงทุนที่เป็นผู้ถือครองพันธบัตรสหรัฐส่วนใหญ่ ได้แก่ จีนและญี่ปุ่น จะไม่เทขายพันธบัตรสหรัฐ ที่ถือครองอยู่ออกมา เนื่องจากเป็นการสร้างความเสียหายให้กับตัวเอง"
ทองคำแตะ1,800-2,000 เหรียญ
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า ราคาทองคำสัปดาห์หน้าจะยังคงผันผวนไปจนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ของสหรัฐ ขณะที่ นพ.กฤชรัตน์ หิรัญศิริ ประธานกลุ่มบริษัทห้างทองแม่ทองสุก และกรรมการสมาคมค้าทองคำ ชี้ว่า ภายใต้สถานการณ์นี้ ราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จะไม่หวือหวาเหมือนตลาดหุ้น และหากสหรัฐไม่สามารถจบปัญหานี้ได้ โอกาสที่ราคาทองคำในตลาดโลกจะพุ่งขึ้นไปถึง 1,800 - 2,000 เหรียญ ต่อออนซ์ ก็คงจะได้เห็นในเร็วๆ นี้
กระทบส่งออกชัดเจน
นายประสิทธิ์ชัย วีระยุทธวิไล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า หากสหรัฐขยายเวลาออกไปเพื่อแก้ไขปัญญาดังกล่าว ก็น่าจะมีผลกระทบในระยะยาวทั้งในแง่บวกและแง่ลบ โดยในแง่บวก และอาจจะมีการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในภูมิภาคที่เศรษฐกิจแข็งแกร่ง อาทิ ภูมิภาคเอเชีย ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วยเพราะที่ผ่านมาตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ขณะที่ผลกระทบเชิงลบคือ สหรัฐอาจจะต้องลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งก็หมายความว่า ตลาดนำเข้าสินค้าเป็นอันดับ 1 ของไทยมีปัญหา ซึ่งก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงกระบวนการผลิตและการจ้างงานของไทยด้วย
"ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบอะไรได้มากนัก เพราะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่หลายฝ่ายก็ออกมากังวลซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องจับตาเป็นพิเศษ" นายประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า |
|
|
|
เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :- |
|
|
|
|
|
|