หมวดหมู่
หน้าหลัก       ยินดีต้อนรับสู่มุสลิมไทย โพสต์
 
พิมพ์หน้านี้  |  ส่งให้เพื่อน
วิเคราะห์น้ำ ตรวจคุณภาพน้ำดื่ม "น้ำ"กับ"ชีวิต"ที่อิสราเอล

"น้ำ"กับ"ชีวิต"ที่อิสราเอล


คนเราทุกคนรู้ดีว่า "น้ำ" มีความหมายสำคัญยิ่งต่อ "ชีวิต" แต่ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เลือนๆ ไปในประเทศที่มีน้ำเพียงพอหรือเกินความต้องการแทบตลอดทั้งปีอย่างในบ้านเรา

เราคิดถึงน้ำ เหมือนกับเราคิดถึงอากาศที่เราหายใจเข้าไป อย่างไรมันก็มี มีให้หายใจ มีให้ใช้จนไม่รู้จะคิดถึงมันไปทำไม

ผมคิดถึง "น้ำ" เอามากๆ ก็อีตอนเดินทางเยือนอิสราเอล

โดยธรรมชาติแล้ว คนอิสราเอลเกิดมาก็ขาดแคลนน้ำ พื้นที่กว่าครึ่งของประเทศนี้เป็นทะเลทราย ที่เหลืออีกเกือบทั้งหมดอยู่ในสภาพกึ่งทะเลทราย ทะเลทรายเนเจฟกลืนกินประเทศอิสราเอลไปมากกว่าครึ่ง

ฝนที่นี่ตกเป็นละออง แล้วก็หายไปในเวลาอันรวดเร็ว ผมเคยพยายามวิ่งออกไปตากฝนที่อิสราเอล ยังไม่ทันรู้สึกว่าเนื้อตัวจะเปียกทุกอย่างก็หายไปจนหมดแล้ว

นั่นเป็นสาเหตุของธรรมชาติ

อีกสาเหตุก็คือ "คน" นั่นแหละครับ ประชากรของอิสราเอล เริ่มต้นจากราวๆ 2 ล้านคน ในปี 1960 มาเป็นเกือบๆ 8 ล้านคน ในปี 2009 ตามตัวเลขของธนาคารโลก

มีคนก็ต้องใช้น้ำ ทั้งใช้ดื่ม ใช้อาบ ปรุงอาหาร และประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ยิ่งมีคนมาก ยิ่งใช้น้ำมาก ยิ่งเศรษฐกิจขยายตัวมาก ปริมาณน้ำที่ต้องใช้ก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว

แหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติในอิสราเอลมีครับ แต่น้อยมาก แหล่งหลักๆ ก็คือ ทะเลกาลิลี ("ซี ออฟ กาลิลี" ชื่อเป็นทะเลแต่จริงๆ เป็นทะเลสาบ รับน้ำจืดจากแม่น้ำจอร์แดนเป็นหลัก) กับทะเลสาบคินเนเรท

ที่ผมเรียกว่าแหล่งน้ำจืดนั้น เพราะมันจืดกว่าน้ำทะเลเท่านั้น ในความเป็นจริง แม้แต่แหล่งที่จืดที่สุดอย่าง ทะเลกาลิลี ก็ยังมี "เกลือ" (คลอไรด์) ปนอยู่ในระดับ 10 ไมโครกรัมต่อลิตร น้ำที่คินเนเรท "กร่อย" ยิ่งกว่ามีเกลืออยู่ถึง 200 ไมโครกรัมต่อลิตร

ถ้าขุดพื้นทรายทางตอนใต้ของประเทศลงไปลึกพอถึงชั้นน้ำใต้ดิน ก็จะได้น้ำจากแหล่งน้ำใต้ดินที่มีระดับคลอไรด์ปนอยู่ราว 1,500 ไมโครกรัมต่อลิตร

แต่นี่แหละครับคือแหล่งน้ำที่เป็นที่มาของน้ำ "ดื่ม" ของคนอิสราเอล เมื่อรวมกับน้ำจากแหล่งน้ำพุใต้ดินบริเวณภูเขาทางตอนเหนือของประเทศเข้าด้วยแล้ว ก็ตกราว 50 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำที่ใช้กันทั้งหมด

ผมถึงได้บอกว่า คนอิสราเอล-ทันทีที่ลืมตาดูโลก ก็ขาดแคลนน้ำแล้ว

อิสราเอลเอาน้ำอีกครึ่งหนึ่งสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคมาจากไหนกัน?

คนอิสราเอลต้องคิดเรื่อง "น้ำ" เยอะมาก เยอะจริงๆ ครับ ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำในอิสราเอลต้อง "เปลืองสมอง" ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างง่ายๆแค่การนำน้ำจากทะเลกาลิลี มาใช้เป็นน้ำดื่มให้ได้ ต้องทำอย่างไรถึงจะทำให้น้ำดื่นที่ว่านั้น มีคุณภาพที่เหมาะสมกับการดื่ม?

จะสูบน้ำจากใต้ดิน (ซึ่งเดิมก็เค็มอยู่แล้ว) ขึ้นมาใช้ จะทำอย่างไร ไม่ให้น้ำทะเลจากทะเลเมดิเตอเรเนียนซึมผ่านชั้นดินเข้าไปแทนที่จนน้ำใต้ดินกลายเป็นน้ำทะเลไปทั้งหมด? 




เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรจะปกป้อง คุ้มครองแหล่งน้ำที่มีอยู่น้อยนิดอยู่แล้ว ไม่ให้ลดน้อยลงหรือเกิดมลภาวะจน "ใช้การไม่ได้"?

คนอิสราเอลต้องคิดเรื่องน้ำ เพราะน้ำคือชีวิต ไม่มีน้ำ ไม่ว่าจะมีอะไรอื่นใด-มีสันติภาพหรือไม่ อิสราเอลไม่มีวันอยู่ได้

ผมไม่แปลกใจที่อิสราเอลกลายเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีในด้านการบริหารจัดการน้ำที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก และมีหลากหลายเทคโนโลยีที่สุดในโลก

จำเพาะที่ผมได้ไปเห็นมากับตานั้น มีไม่ต่ำกว่า 10 เทคโนโลยี "ขั้นสูง" เกี่ยวกับเรื่องน้ำ

มีตั้งแต่เรื่องที่เราพอคาดเดาออกได้อย่างเช่น การทำน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำดื่ม ที่แทบไม่รู้สึกกระสากลิ้นเลยว่าเรากำลังดื่มน้ำจากทะเลที่เห็นอยู่เบื้องหน้า ห่างไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร

เรื่อยไปจนถึงกระบวนการบำบัดน้ำที่ใช้แล้ว ทิ้งลงท่อน้ำทิ้งตามบ้านเรือน อาคารที่ทำการของรัฐ โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งสลับซับซ้อนและกินเวลาเนิ่นนานอย่างยิ่ง

แต่มันทำให้อิสราเอลเป็นประเทศที่รีไซเคิลน้ำได้มากที่สุดในโลก มากถึงระดับ 75 เปอร์เซ็นต์ของน้ำอุปโภคบริโภคทั้งหมด

ประเทศที่ทำได้ดีรองลงมาคือสเปนครับ แต่สเปนทำได้สูงสุดอยู่ที่ระดับ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ห่างกันอยู่อีกไกลมาก

ความจำเป็นของการมีชีวิตรอด บีบบังคับให้อิสราเอลต้องทำและทำอย่างทุ่มเทเกี่ยวกับเรื่องน้ำ จนทำให้แม้จะเกิดภาวะแห้งแล้งต่อเนื่องกันยาวนาน 4-5 ปีเข้านี่แล้ว อิสราเอลยังมีน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอ

แล้วก็มียังมี "เทคโนโลยี" เรื่องน้ำสำหรับ "ส่งออก" ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะนี้ได้อีกด้วย

คนอิสราเอลทั่วประเทศมีคำขวัญที่ท่องจำจนขึ้นใจตั้งแต่อ้อนแต่ออกอยู่ประการหนึ่งนั่นคือ "Don′t Waste a Drop" ความหมายของมันคือ "อย่าปล่อยให้น้ำสูญเปล่าแม้แต่หยดเดียว" นั่นเป็นเพราะรัฐบาล หรืออันที่จริง คนในชาติทุกคน ทุ่มเททั้งเงินทองและเค้นสมองมากมายกว่าจะได้ "น้ำ" หยดออกจากก๊อก 1 หยด

ถ้าใครได้ไปเห็นโรงผลิตน้ำดื่มจากน้ำทะเลในระบบ รีเวิร์ส ออสโมซิส ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ของบริษัท ไอดีอี-แอชเคลอน ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ไอดีอี เทคโนโลยีของอิสราเอลกับโวลลา วอเตอร์ แห่งฝรั่งเศสแล้วละก็ จะตระหนักข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ที่โรงงานแห่งนี้ เขาปั๊มน้ำทะเลด้วยแรงดันสูงผ่านเข้าไปในระบบกรองของไส้กรองเมมเบรนที่สกัดเอาเกลือออกจากน้ำทะเล เขาใช้น้ำทะเล 2 คิวบิกเมตร เพื่อให้ได้น้ำดื่ม 1 คิวบิกเมตร ทำงานต่อเนื่องในสถานที่ทำนองเดียวกันนี้ 2 แห่งเพื่อผลิตน้ำให้ได้เพียงพอต่อการครอบคลุมให้ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของน้ำเพื่อการบริโภคของคนอิสราเอลทั้งหมด และเมื่อโรงที่ 3 แล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ 




นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของเทคโนโลยีที่ช่วยในการสร้าง "แหล่งน้ำ" ใหม่ให้กับอิสราเอล แต่อิสราเอลรู้ดีว่า เพียงแค่นั้นไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงที่ยืนยาวในเรื่องน้ำ ถ้าหากไม่ใช้น้ำอย่างประหยัด และไม่นำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด มีน้ำมากมายแค่ไหนก็คงไม่เพียงพอ

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ 70 เปอร์เซ็นต์ของน้ำ ถูกใช้ไปเพื่อทำเกษตรกรรม ไม่มีเกษตรกรรมในประเทศที่ให้ผลผลิตเพียงพอ ความมั่นคงด้านอาหารไม่มี คนอิสราเอลใช้ความจำเป็นดังกล่าวนี้เป็นแรงขับในการคิดค้นเทคโนโลยี 2 อย่างขึ้นมาเพื่อรับมือกับปัญหา หนึ่งคือระบบชลประทานแบบน้ำหยดที่เลื่องลือและถูกนำไปประยุกต์ใช้กันทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นจาก เนฟาติม บริษัทในคิบบุตซ์ ฮัลเซอริม ของอิสราเอล

อิกัล ไอเซนเบิร์ก ซีอีโอของเนฟาติม พาพวกเราไปดูความเขียวขจีของไร่ โจโจบา ที่ใช้เทคโนโลยีน้ำหยดของเนฟาติม เทคโนโลยีที่ให้น้ำผ่านท่อเจาะจงไปถึงรากของต้นไม้ เพื่อใช้น้ำให้สูญเสียน้อยที่สุดและเพียงพอต่อความต้องการของพืชในขณะเดียวกัน

"ระบบของเนฟาติม ไม่ใช่เพียงแค่การเจาะรูให้น้ำไหลออกจากท่อ แต่มันเป็นระบบชดเชยแรงดันที่ทำให้ปริมาณน้ำถูกพ่นอออกมาเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ตรงจุดไหนของท่อก็ตามที" เขาบอกอย่างนั้น

ในอีกทางหนึ่งก็คือการ "รีไซเคิลน้ำ" จากระบบระบายน้ำของ "ชาฟดาน" ที่เก็บรวบรวมน้ำจากเขตเมืองทั้งหมด นำมาผ่านกระบวนการบำบัดในลานบำบัดทางด้านใต้ของกรุงเทลอาวีฟ ที่นี่ใช้ระบบบำบัดทางชีววิทยาเพื่อกำจัดอินทรีย์สารที่อยู่ในน้ำเสียออกไป แล้วก็ใช้การบำบัดทางเคมีเพื่อลดเกลือโซเดียมและโบรอนที่ผสมอยู่ในผงซักฟอกส่วนใหญ่ออกไป น้ำในส่วนที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมอาจถูกบำบัดตั้งแต่ที่โรงงาน ก่อนที่จะแยกส่วนที่เป็นสารเคมีทิ้งไปสู่ทะเลในจุดที่ได้รับอนุญาตและมีการตรวจสอบสภาวะนิเวศในบริเวณดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา

น้ำส่วนที่ได้จากระบบบำบัดจะถูกนำไปอัดกลับสู่ชั้นหินชุ่มน้ำใต้ดิน ทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานราว 6 เดือน ก่อนดูดกลับขึ้นมาใช้ใหม่ จัดส่งไปใช้พลิกฟื้นทะเลทรายเนเจฟให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญของอิสราเอล

ราว 60-70 เปอร์เซ็นต์ ของกิจกรรมทางการเกษตรที่นั่น ใช้น้ำที่ผ่านการบำบัดจากชาฟดานทั้งสิ้น

น้ำที่ผ่านการบำบัด หรือผ่านการกรองจากน้ำทะเล มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการดื่มกินและใช้เพื่อการเกษตรได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับระบบควบคุม ตรวจสอบคุณภาพน้ำ การตรวจสอบที่ "ต้นทาง" ไม่ยาก-ปัญหาก็คือทำอย่างไรถึงจะตรวจสอบให้ได้ว่า น้ำมีคุณภาพในระดับเดิมตลอดทางไปจนถึงผู้บริโภค

นี่เป็นอีกเทคโนโลยีที่ผมพบที่ไวท์ วอเตอร์ บริษัทที่ให้บริการด้านความมั่นคงปลอดภัยของน้ำอุปโภคบริโภคที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกของอิสราเอล พวกเขามีเทคโนโลยีทันสมัยที่สามารถตรวจสอบพบแม้แต่ระดับการเพิ่มของสารเคมีเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นกับน้ำในระบบการจ่ายน้ำในเวลานับเป็นเพียงแค่นาที ไม่ใช่ 24-48 ชั่วโมง เหมือนการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการทั่วไป

ผมยังได้พบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทมิทเทล ที่ให้บริการด้านการตรวจสอบระบบจ่ายน้ำที่ก้าวหน้าภายใต้การร่วมมือกับไอบีเอ็มแห่งสหรัฐอเมริกา ระบบของมิทเลใช้ตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำในระบบจ่ายน้ำ และใช้ซอฟท์แวร์ของไอบีเอ็มช่วยในการบริหารจัดการการจ่ายน้ำ ซึ่งนอกจากจะลดการรั่วไหลของน้ำในระบบลงเหลือเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 25 เปอร์เซ็นต์ในยุโรป หรือ 30-40 เปอร์เซ็นต์ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายแล้ว

ยังช่วยเตือนใจให้ผู้บริโภคในแต่ละบ้านเรือนใช้น้ำอย่างประหยัดอีกด้วย

กัลยาณมิตรร่วมทางถามผมว่า เมืองไทยมีปัญหาน้ำเหมือนอย่างอิสราเอลไหม? คำตอบของผมก็คือ เมืองไทยมีน้ำ แต่มักไม่ตรงกับความต้องการของคนไทยสักเท่าไหร่

หน้าเพาะปลูกในบางพื้นที่ ไม่มีน้ำเพียงพอ ในขณะเดียวกัน กลับเกิดภาวะน้ำท่วมในอีกบางพื้นที่

ถึงหน้าน้ำ มีน้ำมาก ถึงหน้าแล้ง น้ำก็ยังขาดแคลนอยู่ดี

นั่นทำให้แนวความคิดในเรื่องการบริหารจัดการน้ำของอิสราเอล น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการจัดระบบน้ำในบ้านเรา อย่างน้อยที่สุดก็เป็นต้นแบบให้ได้คิดว่า เราสามารถบริหารจัดการให้น้ำที่เหลือในอีกที่หนึ่ง สามารถนำไปใช้ในอีกที่ซึ่งขาดแคลนได้

เทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับคนไทย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเวดวงที่ต้องรับผิดชอบเรื่องน้ำในทุกๆ ด้าน

เรารับเอาระบบชลประทานน้ำหยดมาใช้กันแล้ว แต่ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่สามารถประยุกต์ใช้กับสภาวะในบ้านเมืองเราได้

ในเดือนพฤศจิกายนนี้ อิสราเอลเตรียมจัดงานนำเสนอเทคโนโลยีเรื่องน้ำทั้งหมดที่มีอยู่ออกมาอวดสายตาทั้งโลกอีกครั้ง เรียกว่า "วอเท็ค 2011" (WATEC 2011) คนที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยีเรื่องน้ำจะรู้จักดีว่า วอเท็ค เป็นงานแสดงทางอุตสาหกรรมน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องของการแสวงหาแหล่งน้ำ การบำบัดน้ำ เรื่อยไปจนถึงการควบคุมสภาวะแวดล้อม และพลังงานทางเลือก

เป็นงานที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่สำหรับไปศึกษาหาความรู้ และทำความเข้าใจในหลักการและความคิดเบื้องหลังเทคโนโลยีเหล่านั้น สำหรับนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศ

เนื่องเพราะ บูคกี้ โอเว่น ประธานวอเท็ค 2011 ยืนยันกับพวกเราว่า เป้าหมายของงานนี้ก็คือ เพื่อเร่งรัดให้ทั่วโลกรับเอาเทคโนโลยีที่ "ผ่านการพิสูจน์แล้ว" ไปใช้

เพื่อรองรับความท้าทายของปัญหาน้ำทั้งในปัจจุบันนี้และในอนาคตอันใกล้ครับ

ที่มา มติชนออนไลน์

 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :-
 
  เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :-
บทความที่น่าสนใจ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
340 ลาดพร้าว 112 วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทร 0-2514-0593 แฟ็กซ์ 0-2538-4215 Email : [email protected]

Warning: include(../../main/globalsitemap.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185

Warning: include(): Failed opening '../../main/globalsitemap.php' for inclusion (include_path='.:/usr/lib/php:/usr/local/lib/php') in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185