สธ.สั่งโรงพยาบาลทั่ว ปท.เฝ้าระวังเชื้อ"อีโคไล โอ 104"หลัง"ฮู"ยืนยันเป็นสายพันธุ์ใหม่ ดื้อยาปฏิชีวนะ
คำค้นหา เชื้ออีโคไล อีโคไล เชื้ออีโคไลน์ แบคทีเรียอีโคไล เชื้ออีโคไล ในมนุษย์ โรคอีโคไล เชื้อแบคทีเรียอีโคไล เชื้อแบคที่เรียอีโคไล เชื้อ อีโคไล เชื้ออีโคไลในมนุษย์ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด โดยเชื้ออีโคไล จุลินทรีย์อีโคไลสายพันธ์ใหม่ อีโคไลน์ อีโคไล คือ อย. เชื้ออีโคไลโรคระบาด เชื้ออีโคไลคืออะไร จุลินทรีย์ อีโคไล
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งการให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อแบคทีเรียชนิด Shigatoxin-producing E.coli (STEC) หรือเรียกกันว่า อีโคไล โอ 104 (E.coli O 104) หลังเชื้ออีโคไล โอ 104 แพร่ระบาดในประเทศแถบยุโรป และองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายตัว
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนว่า สธ.ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) พบโรคอุจจาระร่วงทั่วไป ถือเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศแถบร้อนปีละประมาณ 1 ล้านราย สำหรับไทย ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีรายงานว่าทั่วประเทศพบผู้ป่วยประมาณ 530,000 คน เสียชีวิต 21 คน แต่ยังไม่พบผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโคไลชนิดรุนแรงที่ทำให้เกิดอาการเม็ดเลือดแดงแตกและไตวาย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในยุโรปขณะนี้
เชื้ออีโคไล โอ 104 เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ทั่วโลกต่างเฝ้าระวัง ทาง สธ.มีระบบเฝ้าระวังใน 2 ส่วน คือ 1.เฝ้าระวังที่ด่านอาหารและยา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการ 2.การเฝ้าระวังภายในประเทศ โดยประสานโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ หากพบผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัยหรือใกล้เคียง เช่น อุจจาระร่วงรุนแรง และมีประวัติการเดินทางก็จะส่งเชื้อไปตรวจในห้องปฏิบัติการทันที หากกรณีที่โรงพยาบาลใดตรวจเชื้อไม่ได้ให้นำส่งไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องกังวล สธ.มีเครือข่ายอยู่ตามโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนอยู่แล้ว การเฝ้าระวังจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กล่าวว่า ได้แจ้งให้สถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศเร่งตรวจผู้ป่วยที่มีการท้องร่วง มีมูกเลือด โดยนำมาตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ แต่เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่เคยพบการระบาด และทั่วโลกในโซนยุโรปยังพบโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออีโคไล โอ 104 น้อย จึงยังไม่น่าห่วงมากนัก
"ปัจจัยที่ก่อให้เกิดเชื้ออีโคไล โอ 104 มีรายงานว่า ในพื้นที่ที่ระบาดเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทำให้อาหารหรือผลิตผลทางการเกษตรมีการปนเปื้อน เมื่อกินเข้าไปก็ทำให้เกิดอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยที่เสียชีวิต ไม่ใช่เพราะเชื้อโดยตรง แต่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ถ่ายไม่หยุด อาเจียนบ่อย ทำให้ไตทำงานหนักจึงช็อค และเสียชีวิต ซึ่งพบว่าอาการจะรุนแรงขึ้นภายใน 3-4 วัน นับจากวันที่ได้รับเชื้อ" นพ.รุ่งเรืองกล่าว
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน อย.ได้สุ่มตรวจผักและผลไม้จากสเปน เยอรมนี บางส่วน แต่ยังไม่พบว่ามีการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไล
ขณะที่สำนักข่าวเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเชื้อ "อีโคไลโอ" ที่แพร่ระบาดอยู่ในยุโรปโดยเฉพาะในเยอรมนี เป็นเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน และมีการตั้งข้อสงสัยว่าเชื้อมาจากมะเขือเทศ แตงกวา และผักกะหล่ำ แต่นักวิจัยก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าผักเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้มีผู้ล้มป่วยกว่า 1,600 คน ใน 10 ประเทศในยุโรป และเสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน โดยมีผู้ป่วยราว 500 คน ที่เริ่มมีอาการไตมีปัญหา
รายงานข่าวระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันจีโนมิกส์ปักกิ่ง หรือบีจีไอในเมืองเสิ่นเจิ้น ประเทศจีนและมหาวิทยาลัยศูนย์การแพทย์ฮัมบูร์ก-เอพเพนดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี วิเคราะห์ดีเอ็นเอของแบคทีเรียอีโคไล ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในยุโรปขณะนี้ จากผลการทดลองของห้องปฏิบัติการบีจีไอของจีน ระบุว่าการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ ที่มีความเป็นพิษร้ายแรง และยังมียีนที่ต่อต้านยาปฏิชีวนะอยู่เป็นจำนวนมาก แบคทีเรียอีโคไลสายพันธุ์ใหม่นี้เกิดจากการรวมตัวกันของเชื้ออีโคไล 2 สายพันธุ์ด้วยกัน ซึ่งนางฮิลด์ ครูส ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยด้านอาหารขององค์การอนามัยโลก (ฮู) เปิดเผยว่า เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบในผู้ป่วยมาก่อน มีคุณลักษณะหลายอย่างที่ทำให้สามารถแพร่ระบาดได้เร็วและมีความเป็นพิษมากกว่าเชื้ออีโคไลที่เคยพบก่อนหน้านี้ภายในลำไส้ของมนุษย์
ข่าวระบุว่า แม้จะยังไม่ทราบต้นตอของการระบาด แต่นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า เบื้องต้นพบว่าเกิดจากการปนเปื้อนในผักสดหรือสลัดในประเทศเยอรมนี โดยเชื้ออีโคไลปกติจะสามารถแพร่จากมนุษย์สู่มนุษย์ได้เพียงทางเดียวเท่านั้น คือจากมูลที่ถ่ายออกมาและเข้าสู่ทางปาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของเยอรมนีได้แนะนำให้ประชาชนใส่ใจกับเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการกินสลัดหรือผักสด
ที่มา นสพ.มติชน |