ทำเอาหัวใจนายแบงก์กระตุกกันทั่วหน้า เมื่อได้ยินลมปาก รมว.คลัง “กรณ์ จาติกวณิช” ที่ร่ายมนตร์เป่ากระหม่อม “มนุษย์เงินเดือน” ทั่วประเทศให้นะจังงังกับการช่วยปลดหนี้ จากการเวียนว่ายวัฏจักรหมุนเงินใน “บัตรเครดิต” หลาย ๆ ยี่ห้อในเวลาเดียวกันได้เร็วขึ้น โดยให้ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ดีเดย์อ้าแขนรับ 1 มิ.ย.- 30 ส.ค.นี้ รวมกันเหนาะ ๆ 10,000 ล้านบาท ก่อนกระชากกล่องดวงใจอีกระลอก ด้วยการปลดหนี้ให้สาวโรงงานทั้งหลายที่พก “บัตรกดเงินสด” ตามระลอกแรกไปติด ๆ
เรียกได้ว่า “โครงการลดภาระดอกเบี้ยบัตรเครดิต” ด้วยการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่งเข้าไปซับน้ำตามนุษย์เงินเดือนที่เป็นหนี้บัตรเครดิตจากธนาคารพาณิชย์ ไฟลต์บังคับจ่ายดอกเบี้ย 20% โดยรีไฟแนนซ์หนี้ทั้งหมดและคิดดอกเบี้ยแค่ 10% พร้อมให้วงเงินคนละ 300,000 บาท ผ่อนสบาย ๆ 1-3 ปี ของรัฐบาล “มาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นี้แทบกะซวกกล่องดวงใจนายแบงก์เจ้าของบัตรพลาสติกทั่วประเทศให้เลือดซิบซึมทั่วหน้า จากที่เคยเป็นเสืออ้วนพีนอนกินดอกเบี้ยอิ่มปลิ้น จากอัตราดอกเบี้ยที่ 20% มานาน ต้องลุกขึ้นซุ่มสู้ เพราะเงื่อนไขเดียวที่แบงก์รัฐเข้ามารับรีไฟแนนซ์ครั้งนี้ คือ ต้องหักบัตรเครดิตทั้งหมดที่นำมารีไฟแนนซ์ทิ้ง เหลือไว้ได้แค่ใบเดียว และไม่เปิดใหม่ภายใน 1 ปี
นั่นเป็นเพราะลูกหนี้บัตรเครดิตที่ยังชำระแค่ “ขั้นต่ำ 10%” ของหนี้ทั้งหมด ล้วนเป็นอาหารอันโอชะของนายแบงก์ในการ “ฟันกำไร” ซึ่งปัจจุบันมีลูกหนี้บัตรเครดิตทั้งระบบ 14 ล้านคน คิดเป็นเงิน 190,000 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ที่ดี หรือผ่อนชำระเต็มจำนวน 12 ล้านคน ส่วนอีก 2 ล้านคน เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) โดยบรรดาลูกหนี้ที่ดีมีหนี้สินไม่เกิน 300,000 บาท นั้นมีอยู่ 9.5 ล้านราย คิดเป็น 150,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มี 35% ที่ผ่อนชำระได้แค่ขั้นต่ำ 10% คิดเป็นวงเงิน 53,000 ล้านบาท
เท่านั้นไม่พอเรียกได้ว่าพระศุกร์ยังไม่ทันเข้า พระเสาร์ก็ยังปรี่มาแทรกเข้าให้อีก เพราะรัฐได้เตรียมรีไฟแนนซ์หนี้ “บัตรกดเงินสด” ให้กับบรรดาสาวโรงงานที่มีเงินเดือนไม่สูงพอทำบัตรเครดิตตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ ต้องเลี่ยงไปใช้บัตรกดเงินสดที่โดนชาร์จดอกเบี้ยจุกอกถึง 28% ทำเอาผู้ประกอบการบัตรเงินสด หรือนอนแบงก์ ทั้ง บัตรอีออน เฟิร์สชอยส์ บัตรเงินด่วนศรีสวัสดิ์ เสียววาบระส่ำปั่นป่วนไขสันหลังไปตาม ๆ กันว่าเกณฑ์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร
ต่างจากนายแบงก์เจ้าของบัตรพลาสติก ที่บวกลบคูณหารแล้วยอมจำทนเสียลูกค้าชั้นดีไปแบบสิว ๆ แค่ 5-10% เพราะไม่อยากลดตัวลงมาแข่งกับแบงก์รัฐให้เสียเวลา เนื่องจากมองว่าเป็นเพียงนโยบายสั้น แค่ 3 เดือน ที่ “นักการเมือง” ร่ายมาปลุกผีซื้อใจชนชั้นกลาง-ล่าง ที่มีเงินเดือนชักหน้าไม่ถึงหลัง หมุนบัตรพลาสติกหลายใบตัวเป็นเกลียว ดอกเบี้ยเป็นนอตตอกปิดฝาโลง!
แต่ในส่วนลึกเชื่อได้ว่า บรรดานายแบงก์ต่างเกิดอาการ “ไม่ปลื้ม” กับ 2 โครงการซื้อใจนี้แน่นอน แต่ไม่ถึงกับตั้งป้อมออกมาเปิดศึกดึงลูกค้าคืน เพราะยังกระหยิ่มยิ้มย่องว่า อาหารอันโอชะนั้น ถูกตักแบ่งออกไปเพียงเล็กน้อย ยังเหลือในจานอีกโข ขณะเดียวกันก็พร้อมส่งเมนูใหม่ออกมาล่อ ชนิดที่เรียกว่าทำให้เกิดอาการ “รักพี่เสียดายน้อง” กันเลยทีเดียว หรือถ้าไม่ได้ ก็อาจสวมบทโหด หันไปหาช่องขึ้นค่าธรรมเนียมมาน็อกเอาต์ลูกค้าผู้มีพระคุณแทน
สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่านายแบงก์ต้องเร่งปรุงเมนูส่งออร์เดิร์ฟออกมาสู้ไม่มากก็น้อย นั่นคือ บทวิจัยของ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ที่ระบุว่า แนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งปี 54 นี้ จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 817,550-825,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13.9-14.9% มองภาพคร่าว ๆ ว่า หนี้ทั้งระบบอยู่ที่ 190,000 ล้านบาท แยกเป็นลูกหนี้ดี 170,000 ล้านบาท โดยจ่ายเต็มวงเงิน 120,000 ล้านบาท ผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% ที่ 50,000 ล้านบาท ส่วนพวกหนี้เสียมี 20,000 ล้านบาท
ที่สำคัญ รายได้จากบัตรเครดิตได้สร้างกำไรให้นายแบงก์อย่างมหาศาลเป็นกอบเป็นกำ เพราะแค่ไตรมาสแรกของปี 54 และไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ที่ตรงกับช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ รวมทั้งช่วงเปิดเทอมล้วนดันยอดรูดปื๊ด ๆ ให้พุ่งปรื๊ด ๆ เท่ากับว่า รายได้ของนายแบงก์เพิ่มตามไปด้วย สอดคล้องกับ ธปท. ที่ฟันธงว่าไตรมาสแรกปีนี้ แบงก์มีรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการจากบัตรเครดิต 5,123 ล้านบาท แม้ลดลงจากไตรมาสสุดท้ายปี 53 ที่ 5,158 ล้านบาท แต่หากเทียบกับไตรมาส 3 ปี 53 ที่มียอดเพียง 4,532 ล้านบาท ถือว่ารายได้พุ่งขึ้นเห็น ๆ
ส่วนนายแบงก์จะพลิกเกมสู้อย่างไร คงต้องมาฟังจากปากเจ้าตัวให้ชัดเจน เริ่มจาก เจ้าพ่อบัตรพลาสติก อย่าง “นิวัตต์ จิตตาลาน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย (เคทีซี) ที่ยอมรับว่าโครงการนี้ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินและบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิต อย่างน้อย ๆ แห่งละ 5-10% จากยอดสินเชื่อคงค้าง 190,000 ล้านบาท เพราะต้องมีลูกค้าบางส่วนหันไปเข้าโครงการเพื่อตัดสินใจชำระหนี้คืนให้หมดด้วยดอกเบี้ยถูกลง แต่ในอีกมุม… ยังใจดีสู้เสือ โดยเชื่อว่า คงมีลูกค้าอีกส่วนหนึ่งที่เห็นว่า การใช้บัตรเครดิตช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นด้านการเงิน และยังใช้บัตรต่อไป โดยไม่เข้าร่วมโครงการ
แม้รัฐบาลต้องการให้เอกชนลดดอกเบี้ยด้วย แต่เชื่อว่า คงไม่มีใครปรับลดดอกเบี้ยตามแน่ เพราะดอกเบี้ยในปัจจุบันไม่ได้สร้างรายได้ให้มากนัก รวมทั้งผลกำไรเคทีซีมีไม่ถึง 1% จากการลดแลกแจกแถม และเพดานดอกเบี้ยที่ 20% ต่อปี ถือว่าต่ำ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ และเห็นว่า หากรัฐต้องการให้ประชาชนมีวินัยทางการเงินที่แท้จริง ควรให้ประชาชนรับดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของแต่ละคนมากกว่า หากลูกค้ารายนั้นมีความเสี่ยงสูงก็คิดดอกเบี้ยสูง ซึ่งอยากให้พิจารณาใช้ระบบนี้ดู
ทั้งนี้เคทีซีมียอดสินเชื่อคงค้าง 17% หรือ 34,000 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้างในระบบ 120,000 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าแบงก์และนอนแบงก์ทุกรายน่าจะได้รับผลกระทบใกล้เคียงกัน คือจำนวนบัตรเครดิตลดลง 10% แต่เมื่อพ้น 3 เดือนของโครงการฯ ไปแล้ว ต้องประเมินผลกระทบอีกครั้ง ดูว่ามีลูกค้าหายไปเท่าใด จากนั้นค่อยปรับแผนธุรกิจสู้ใหม่
ขณะที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย “บัณฑูร ล่ำซำ” ได้ยอมรับเต็มปากเต็มคำว่า ธนาคารพาณิชย์คงมีต้นทุนไม่เพียงพอกับภาครัฐในการลดดอกเบี้ยบัตรเดรดิต หรือ โอนหนี้บัตรเครดิต เพราะการดำเนินการใด ๆ ต้องเคารพต่อผู้ถือหุ้น การเป็นภาคเอกชนคงลดดอกเบี้ยลงแรง ๆ ไม่ได้ และเห็นว่าเรื่องนี้ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด อีกอย่าง โครงการเหล่านี้ เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น
ส่วนการหั่นดอกเบี้ยเท่าแบงก์รัฐเพื่อสู้ศึกนั้น คงลำบาก เพราะดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 20% แม้เป็นเพดานสูงสุดก็จริง แต่เมื่อดูเนื้อในของแบงก์แล้ว ได้กำไรจริง ๆ เพียง 8% เพราะในลูกค้า 100 ราย เป็นกลุ่มชำระหนี้เต็มจำนวน 60% ซึ่งแบงก์ไม่ได้รับดอกเบี้ยเลย ขณะที่กลุ่มผ่อนชำระขั้นต่ำมีเพียง 40% ที่แบงก์ได้รับดอกเบี้ย 20% แต่เมื่อหักต้นทุนการเงินตามดอกเบี้ยเงินฝากแล้วอยู่ที่ประมาณ 3% บวกด้วยต้นทุนจากหนี้เสียเฉลี่ย 2% เท่ากับว่า ดอกเบี้ยจริงที่แบงก์ได้รับอยู่ที่ 8% ถ้าหั่นดอกเบี้ยสู้ จะกระทบต่อรายได้ของแบงก์เต็ม ๆ
“ถ้าเป็นมาตรการระยะสั้น วงเงินโดยรวมไม่มาก ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าทำต่อเนื่องย่อมต้องส่งผลต่อแบงก์พาณิชย์ ขณะเดียวกันการยกเลิกบัตรเครดิตไม่ได้แก้ปัญหา เพราะลูกหนี้สามารถกลับไปทำบัตรใหม่ และเป็นหนี้เพิ่มขึ้นได้อีก ตอนนี้คู่แข่งที่สำคัญของแบงก์พาณิชย์คงไม่ใช่แค่แบงก์พาณิชย์หรือนอนแบงก์ แต่กลายมาเป็นแบงก์รัฐไปแล้ว”
ขณะที่ “กรรณิการ์ ชลิตอาภรณ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เชื่อว่า แม้โครงการนี้เป็นเรื่องดีที่ลูกค้าได้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และธนาคารไม่ได้มองว่าแบงก์รัฐเป็นคู่แข่งทางธุรกิจมากขึ้น แต่เห็นว่าการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใด ๆ ต้องไม่มี 2 มาตรฐาน!!
“เรื่องดอกเบี้ยคงไม่ใช่ว่าแบงก์ได้รับดอกเบี้ยทั้ง 20% จากพอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิต เพราะในโครงสร้างพอร์ตมีกลุ่มลูกค้าที่ผ่อนชำระเพียงแค่ 40% เท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าดอกเบี้ยหายไปเกือบครึ่งหนึ่งแล้ว เทียบกับโอกาสในการทำกำไรจากพอร์ตนี้ เรามีเพียง 10-15% เท่านั้น ไม่ได้เต็ม 20% ทั้งพอร์ต”
ฝ่าย “กาญจนา โรจวทัญญู” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานส่งเสริมการตลาดลูกค้ารายย่อย ธนาคารทหารไทย เห็นว่า โดยหลักการแล้วถือว่า เป็นเรื่องดี แต่ทำยาก เพราะเวลาย้ายพอร์ตหนี้ลูกค้าแบงก์หนึ่งไปอีกแห่งหนึ่งนั้นค่อนข้างยุ่งยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากแบงก์ที่รับโอนพอร์ตลูกหนี้ต้องเช็กพอร์ตรวมทั้งหมด เพื่อไม่ให้โดนหมัดสวนจากการสับขาหลอก เจอการสร้างหนี้ซ้ำซ้อน เท่ากับต้องมีการบริหารจัดการที่ดีพอควร ไม่เช่นนั้น ต้องโดนหนี้เสียตามมาหลอกหลอนแน่
ทั้งนี้ทหารไทยจะลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าบัตรเครดิตอยู่แล้ว หากมีวินัยทางการเงิน ชำระหนี้ตรงเวลา ไม่เคยผิดนัดเลย จากเพดานดอกเบี้ยที่ 20% ถ้าชำระตรงเวลา ก็เหลือแค่ 17% แถมยังมีโปรแกรมบัตรโซชิลล์ที่คิดดอกเบี้ย 3 เดือนแรก 9.5% ด้วย
ฟาก “สุภัค ศิวรักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่าโครงการนี้ ช่วยทั้งการกระตุ้นการบริโภค และลดภาระให้ผู้บริโภคด้วย เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาหนี้เสียทั้งระบบ เพราะแต่ละแบงก์ย่อมมีกฎเกณฑ์ในการคัดเลือกลูกค้าอย่างรอบคอบอยู่แล้ว
ส่วนคนกลางอย่าง “สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ประเมินว่า เป็นพัฒนาการที่ต้องจับตามอง เพราะมีผลทำให้การแข่งขันในระบบสถาบันการเงินสูงขึ้น เนื่องจากแต่ละแบงก์คงมีมาตรการเพื่อป้องกันลูกค้าตัวเอง เพราะลูกค้าบางกลุ่มมีอยู่ไม่มาก เช่น ลูกค้าบัตรเครดิตที่ไม่จ่ายเต็มวงเงิน ซึ่งแบงก์เองมีรายได้ดอกเบี้ยจากกลุ่มนี้เพียง 6.75% ของฐานสินเชื่อบัตรเครดิตคงค้าง 152,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันลูกค้าบัตรเครดิตจ่ายเต็มจำนวนมีอยู่ถึง 40-60% แต่ทั้งนี้ เชื่อว่าเหล่านายแบงก์คงไม่ทำให้ถึงขั้นหย่อนความเข้มงวดในการให้สินเชื่อเพราะอาจเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย
ปัจจุบันมีบัญชีบัตรเครดิตช่วงวงเงิน 50,000-500,000 บาท ในสถานะปกติ 12.20 ล้านล้านบัญชี แยกเป็นบัญชีดีที่เข้าโครงการฯได้ 11.6 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นบัญชีที่อยู่ในช่วงวงเงินต่ำกว่า 50,000-300,000 บาท และยังมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ 152,110 ล้านบาท โดยวงเงินที่เตรียมไว้ 10,000 ล้านบาทนั้น เมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ คิดเป็น 6.57% ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในสินเชื่อบัตรเครดิตในกลุ่มลูกค้าดีช่วงวงเงินต่ำกว่า 50,000-300,000 บาท ขณะที่บัญชีบัตรเครดิตที่อยู่ในสถานะระมัดระวัง มี 91,468 ล้านบัญชี และบัญชีที่ค้างชำระมากกว่า 90 วันมี 1.40 ล้านล้านบัญชี
อย่างไรก็ตาม หัวเรือใหญ่ของธปท. “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ยังมีความเชื่อว่า การผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงนั้น ยังจำเป็นต้องพึ่งทั้งกลไกตลาด และกลไกของรัฐ แต่ทั้งนี้ กลไกรัฐที่เข้ามาแทรกแซงตลาดนั้น ต้องระมัดระวังไม่ให้ประชาชนเสียวินัยทางการเงิน ขณะเดียวกันต้องดูแลวินัยทางการคลังด้วย เพราะหากนำงบประมาณออกมาทำนโยบายต่าง ๆ แล้วไม่มีประสิทธิผล จะกลายเป็นภาระผูกพันในอนาคตและสร้างปัญหาทางการคลังได้
“ถ้าทั้งกลไกตลาดและกลไกรัฐประสานกันได้ รักษาทั้งวินัยการเงิน การคลัง ระบบการเงินจะไปได้สวย แต่หากการโยนนโยบายแบบสร้างวัฒนธรรมที่ผิดวิธี เช่น สร้างวัฒนธรรมยืมแล้วไม่คืน ส่งผลให้เกิดหนี้ภาครัฐ และเป็นภาระทางการคลังแบบไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะส่งผลต่อระยะยาว สิ่งที่ได้กลับมาจะไม่คุ้มกับที่เสียไป”
หลักสำคัญของสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่การแยกลูกหนี้ดีกับไม่ดีออกจากกัน หากทำได้ ทำให้ต้นทุนการเงินต่ำลงมาก เพราะพบว่าลูกหนี้ดี ยืมเงินแล้วชำระคืนทุกครั้ง ต้นทุนการเงินอยู่แค่ 5-6% เท่านั้น ต่างจากลูกหนี้ไม่ดี ยืมเงินแล้วไม่ชำระคืน ต้นทุนส่วนนี้จะเต็ม 100% ดังนั้นแบงก์พาณิชย์ส่วนใหญ่คิดผลตอบแทนด้วยการหาค่าเฉลี่ยกลางระหว่าง 5-6% กับ 100%
ทั้งนี้บรรดาข้อดีข้อเสียของโครงการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตนี้ ได้ถูกตีแผ่จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาแล้ว ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์ที่สุดนั้น เห็นจะเป็นประชาชนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ โดย “พรพรรณ ใจเก่งดี” สาวกบัตรพลาสติก ยี่ห้อหนึ่ง ขอให้ความเห็นแทนอีกหลาย ๆ คนว่า ในฐานะประชาชนผู้ใช้บัตรเครดิตแล้ว เมื่อมีโครงการนี้ออกมา ก็รู้สึกชอบ และเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาแบงก์คิดดอกเบี้ยสูงมาก โดยเฉพาะนอนแบงก์ที่คิดสูงกว่าแบงก์ทุกอย่าง ทั้งบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ซึ่งตนเองถือเป็นคนหนึ่งที่ชำระเงินตรงทุกครั้ง ดังนั้นแบงก์น่าจะออกโปรโมชั่นที่จูงใจ ลดดอกเบี้ยให้กลุ่มลูกค้านี้บ้าง แต่ที่ผ่านมา ไม่เคยลดเลยยังคงคิดอัตราเดิมตลอด แต่หากตนไปเข้าโครงการของรัฐ กลับได้ลดดอกเบี้ยลงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
แต่สำหรับ “ชัยวัฒน์ บงกชเกตุสกุล” สาวกอีกผู้หนึ่ง เห็นว่า เรื่องนี้ ต้องเป็นการยินยอมพร้อมใจตั้งแต่ต้น ขณะที่เรื่องของอัตราดอกเบี้ยได้กำหนดไว้ตั้งแต่แรก เมื่อชำระเต็มวงเงินก็ไม่เสียดอกเบี้ยอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการสร้างวินัยที่ดีของแต่ละคนด้วยว่ารู้จักควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองมากน้อยแค่ไหน หากรูดไปแล้วไม่มีเงินใช้คืน ต้องเป็นหนี้สิน เพราะเครดิตไม่ใช่เงินของเราปัจจุบัน แต่เป็นการยืมเงินในอนาคตมาใช้ จึงต้องระวังไว้
นี้เป็นเพียงความเห็นในเรื่องของบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด เท่านั้นยังไม่รวมบรรดาลูกหนี้ประเภทเกษตรกรรากหญ้าที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมส่งบัตรสินเชื่อให้ลูกค้าเกษตรกรที่กู้เงินจากธ.ก.ส.ไปกดเงินสดตามวงเงินที่ขอสินเชื่อผ่านตู้เอทีเอ็มออกมาในเร็ว ๆ นี้อีกเช่นกัน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี มีความสามารถในการชำระบัตรเครดิต เพื่อลูกค้าจะได้ไม่ต้องพกเงินสดก้อนโตออกจากแบงก์ไป และยังเตรียมต่อยอดให้นำไปรูดปื๊ด ๆ กับร้านขายอุปกรณ์ต่าง ๆ ทางการเกษตรในอนาคตได้อีกด้วย
นอกจากนี้ตั้งแต่ 1 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป แบงก์รัฐทุกแห่งเตรียมทำเอทีเอ็มพูลเพื่อให้บริการเอทีเอ็มข้ามธนาคารกันได้ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมแค่ 10 บาทเท่านั้น ต่างจากค่าธรรมเนียมแบงก์พาณิชย์ที่คิดค่าบริการในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 25 บาท
อย่างไรก็ตามการส่งโครงการประชานิยมของนักการเมืองที่ออกมาในช่วงนี้ ต้องถือว่า เพื่อ “หาเสียง ซื้อใจ” อย่างแท้จริง เพราะก่อนหน้านี้ในเรื่องของการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต มีเพียงธนาคารเท่านั้น ที่ทำหน้าที่รับรีไฟแนนซ์หนี้ทุกประเภทจากธนาคารอื่น ทั้งหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีบุคคลค้ำประกัน คิดส่วนแบ่งกำไร 14% ต่อปี ผ่อนสูงสุด 6 ปี และได้รีไฟแนนซ์ไปแล้ว 3,000 ล้านบาท เป็นหนี้บัตรเครดิต 1,650 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล และมีหนี้เสีย 3%
สิ่งเหล่านี้ทำให้ต้องหันกลับไปตั้งคำถามว่า ทำไมแบงก์รัฐถึงสามารถช่วยลูกหนี้ได้? และยังประกอบกิจการอยู่ได้?... และถึงเวลาแล้วหรือยังที่บรรดาแบงก์ และนอนแบงก์จะคืนกำไรให้สังคมเสียที เพราะถ้าลูกค้าอยู่ได้นั่นก็หมายความว่าแบงก์ก็อยู่ได้เช่นกัน !!!!.
ที่มา เดลินิวส์
คำค้นหา รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต โครงการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต รีไฟแนนซ์บัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงไทย รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต เอกสารที่ใช้ ธนาคาร รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต