สมรภูมิการเลือกตั้งในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ไม่มีพื้นที่ไหนที่การแข่งขัน การต่อสู้ การแย่งชิง ของพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อ “ปักธง” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส เพราะในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ถ้าไม่มีพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นตัว ’ชูโรง“ การเลือกตั้งครั้งนั้นจะไร้ซึ่ง “สีสัน” อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากจังหวัดอื่น ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ล้วนถูกยึดครองความนิยมโดยพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมดและเป็นการยึดครองความนิยมที่เหนียวแน่นและยาวนานกว่า 20 ปี
ผิดกับ ’3 จังหวัดชายแดนภาคใต้“ ที่ตั้งแต่ในอดีต จนถึงปัจจุบัน ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถยึดครองที่นั่งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นสมัยที่พรรคความหวังใหม่ของ ’พ่อใหญ่จิ๋ว“ หรือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เจ้าของตำรับ ’ฮารับปันบารู” จะเบ่งบานเต็มที่ หรือยุคที่พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ นายชวน หลีกภัย จะครองใจคนภาคใต้ ชนิด ’กางร่ม“ ให้กับโปสเตอร์หาเสียงรูปของ ’นายหัวชวน“ หรือแม้แต่ครั้งที่ พรรคเพื่อไทย ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเกาะกุมหัวใจของ ’มุสลิม“ ภายใต้การขับเคลื่อนของกลุ่ม’วาดะห์“ แต่ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนที่สามารถยึดครองเก้าอี้ ส.ส.ทุก
ที่นั่งไปครอบครองได้ทั้งหมด
ในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม นี้ พื้นที่ 3 จังหวัดมี 11 ที่นั่งให้ ’ช่วงชิง” ประกอบด้วย จ.นราธิวาส 4 ที่นั่ง จ.ปัตตานี 4 ที่นั่งและ จ.ยะลา 3 ที่นั่ง
เหตุผลที่พื้นที่ 3 จังหวัด ไม่นิยมพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดมาอย่างยาวนาน เพราะหลักการเลือก ส.ส.ของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้ยึดติดที่ ’พรรคการเมือง“ ไม่ได้ยึดที่ ’นโยบาย“ ที่ใช้ในการหาเสียง แต่กลับไปยึดโยงกับตัวบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสำคัญ ดังนั้นผู้ที่จะเป็นส.ส.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องเป็นผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาและนักการเมืองในท้องถิ่นรวมทั้งกลุ่มองค์กรต่าง ๆ การย้ายพรรคของ ส.ส.ในพื้นที่ 3 จังหวัดจึงเป็นเรื่อง ’ปกติ“ ที่ไม่ต้องกลัวว่าจะ ’สอบตก“ เหมือนกับภูมิภาคอื่นเพราะคนในพื้นที่ 3 จังหวัด มองที่ ’ใบหน้า“ ของผู้สมัคร ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ’โลโก้“ ของพรรคการเมืองแต่อย่างใด
จะเห็นว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาและการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เช่นกัน ผู้สมัครที่เป็นอดีต ส.ส.ใน 3 จังหวัดมีการย้ายพรรคกันอย่างอุตลุด
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ การแข่งขันการต่อสู้ เพื่อ ’ปักธง“ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับดุเดือดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี เนื่องจากมีพรรคการเมืองเข้าชิงชัยถึง 7 พรรคการเมืองด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นพรรคน้องใหม่มาแรง พรรคมาตุภูมิ ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ.ที่เป็นเสือปืนไวประกาศยึด ส.ส.ให้ได้ 8 ที่นั่งจากทั้งหมด11ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย ที่ส่งผู้สมัคร พรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีอดีต ส.ส.ในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยที่มี กลุ่ม นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือแม้แต่พรรคของ ’หมอแว“ หรือ นพ.แวฮามะ แวดาโอ๊ะ อดีต ส.ส.นราธิวาส ที่ประกาศลงสมัครภายใต้ชื่อพรรคว่า พรรคแทนคุณแผ่นดิน และพรรคประชาธรรม
ของ นายมุกตา กีระ
เพราะพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการก่อความไม่สงบ มีความรุนแรงและเป็น “สงครามประชาชน” มานานกว่า 7 ปี ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน หลายกลุ่ม หลายพวก ต้องมีส่วนเข้ามา “ร่วมด้วยช่วยกัน” กับผู้สมัครผู้สนับสนุนซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลใน
ท้องถิ่นในการช่วยเหลือผู้สมัครและในอีกทางหนึ่งคือการก่อความไม่สงบเพื่อสร้างความปั่นป่วน วุ่นวายในการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐไทย
อีกประเด็นที่ต้องจับตามองคือการหาเสียงครั้งนี้ของผู้สมัครทุกพรรคยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ คือการหาเสียงกับประชาชน ด้วยการชูประเด็นเขตปกครองพิเศษที่เรียกว่า ’ปัตตานีมหานคร“ และ ’นครปัตตานี“ ที่มีอยู่ 2 โมเดลหรือ 2 รูปแบบด้วยกัน นั่นคือรูปแบบของ พรรคเพื่อไทย ที่ยกร่างเอาไว้แล้ว และร่างของ สถาบันพระปกเกล้า ที่มีการขับเคลื่อนโดยองค์กรในท้องถิ่น 32 องค์กร เพื่อต้องการฟังเสียงตอบรับจากประชาชนในพื้นที่
บทสรุปในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจจะเป็นการ ’ชี้วัด“ ที่ชัดเจนว่า การขายนโยบายเขตปกครองพิเศษ “ปัตตานีมหานคร” ที่รวม 3 จังหวัดและ 4 อำเภอ ของจ.สงขลาเป็น 1 นครและให้มีการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่บริหารที่พรรคการเมือง และผู้สมัครใช้หาเสียงกับนโยบายการกระจายอำนาจผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและไม่เห็นด้วยกับเขตปกครองพิเศษของพรรคประชาธิปัตย์ นโยบายของใครจะเป็นที่โดนใจของประชาชน คงจะเห็นได้หลังจากการนับคะแนน แต่เหนืออื่นใด สิ่งที่เป็นการเร่งด่วนคือ การเตรียมตัวรับมือการก่อความไม่สงบของขบวนการแบ่งแยกดินแดน และขบวนการอิทธิพล เพื่อสร้างสถานการณ์ ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่เห็นแผนงานการบูรณาการของหน่วยงานรัฐในพื้นที่ เพื่อรับมือการเลือกตั้งที่ส่อเค้าของความรุนแรงแต่อย่างใด
อย่ารอให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตเกิดขึ้นก่อน แล้วจึงคิดแก้ปัญหา เพราะวิธีการที่เรียกว่า ’วัวหายล้อมคอก“ ย่อมไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องในการ ’รับมือ“ กับสถานการณ์อย่างแน่นอน
เอกซเรย์ผู้สมัคร
จ.นราธิวาส มี 4 เขตเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์มีอดีต ส.ส.เพียงคนเดียวคือ เจะอามิง โต๊ะตาหยง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาธิปัตย์ ขณะที่เขต 1 นายกูอาเซ็ม กูจินามิง พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่ถึงร้อยคะแนน อีก 2 คือ เขต 2 นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ และเขต 3 นายรำรี มามะ อดีต
ส.ส.เก่า ส่วนเขต 4 เป็นหน้าที่ของเจะอามิง มีพรรคมาตูภูมิเป็นคู่แข่งสำคัญที่ส่งครบเช่นกัน โดยมีนายนัจมุดดิน อูมา ซึ่งลงเขต 3 เป็นอดีต ส.ส.ในพื้นที่ ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนาก็ส่งครบ มี 2 อดีต ส.ส.อย่างนายวัชระ ยาวอหะซัน และนายนาอารีฟ เจตาภิวัฒน์ ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ส่งสมัครแต่ยังตกเป็นรอง ขณะที่ “หมอแว”หรือ นพ.แวฮามะ แวดาโอ๊ะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน ตัดสินใจนาทีสุดท้ายลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออันดับ 1 พรรคแทนคุณแผ่นดิน 4 เขตนี้พรรคประชาธิปัตย์หวัง 2-3 ที่นั่ง อีก 2 ที่นั่งน่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา
จ.ปัตตานี มี 4 เขต พรรคประชาธิปัตย์ส่งครบทั้งหมด เขต 1 นายอัลวาร์ สาและ และเขต 2 นายอิสมาแอ เบญอิสรอฮีม อดีต ส.ส.เขต 3 ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นนายนิมุคตาร์ บาวา อดีต ส.ส.หรือไม่ ส่วนเขต 4 นายซาตา อาแวกือจิ อดีต ส.ส.ครั้งที่แล้ว ด้านพรรคมาตุภูมิ ส่งครบเช่นกัน เขตสำคัญอยู่ที่เขต 4 ที่มีนายมุข สุไลมาน อดีต ส.ส.ลงสมัคร ส่วนนายอนุมัติ ลงแทนนายยุสรี ซูสารอ ลูกชายที่เป็นอดีต ส.ส.ครั้งล่าสุด พรรคภูมิใจไทย ไม่ชัดเจนว่าจะส่งครบหรือไม่ 4 เขตนี้มาตุภูมิมีโอกาสแจ้งเกิดสูงอย่างน้อย 2 เขต
จ.ยะลา มี 3 เขตเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ส่งครบ 3 เขต โดยเขต 1 นายประเสริฐ พงศ์สุวรรณศิริ อดีตส.ส. เขต 2 นายอับดุลการิม เด็งระกีนา เขต 3 นายณรงค์ ดูดิง เพื่อไทยส่งครบเช่นกัน โดยเขต 2 น่าจะสนุกเพราะมีนายซูการ์โน มะทา ส่วนพรรคมาตุภูมิก็ส่งครบเช่นกัน ส่วนพรรคอื่น ๆ การจัดสรรยังไม่ลงตัว 3 เขตนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยืนแน่ ๆ 1 ที่นั่ง อีก 2 ที่นั่งนั้นพรรคเพื่อไทยมีภาษี 1 ที่นั่ง อีก 1 ที่นั่งแต่ละพรรคต้องช่วงชิง.
นสพ.เดลินิวส์