เรื่องอื้อฉาวทางเพศที่เกิดกับ โดมินิก สเตราส์ คาห์น จนเจ้าตัวต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(ไอเอ็มเอฟ) อาจทำให้ชาวยุโรปเกิดความกังวลว่า ปัญหาหนี้สาธารณะที่ยังแก้กันไม่ตก จะได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร
แต่สำหรับเอเชีย คำถามแรกที่ผุดขึ้นในใจใครหลายคน คือ ถึงเวลาหรือยังที่ชาวเอเชียจะได้ครองตำแหน่งผู้นำไอเอ็มเอฟบ้าง
ในเมื่อเอเชียกลายมาเป็นเสาหลักในการค้ำจุนเศรษฐกิจโลกยุคปัจจุบัน แนวคิดสงวนตำแหน่งผู้บริหารองค์กรการเงินระดับโลกไว้ให้เฉพาะชาวตะวันตก ก็อาจดูไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น เอเชียยังมีบุคลากรทรงคุณภาพหลายคนที่น่าจะสวมตำแหน่งผู้นำไอเอ็มเอฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนแรก ฮารุฮิโกะ คุโรดะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน
คุโรดะ ทำให้ เอดีบี มีบทบาทโดดเด่นในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาให้ความสำคัญกับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคและการศึกษา อันเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคเอเชีย
ผู้มีคุณสมบัติน่าสนใจรายที่สอง ได้แก่ ศรีมุลยานี อิทราวาตี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารโลกเมื่อปีที่แล้ว
ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระหว่างปี 2548-2553 ศรีมุลยานี สร้างผลงานมากมาย ตั้งแต่ลดการใช้จ่ายงบประมาณอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปรับปรุงระบบการธนาคารให้ทันสมัย และเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ประเทศชาติ
โครงการของศรีมุลยานีในการต่อต้านการฉ้อฉล ได้รับเสียงเชียร์อย่างมากจากเหล่านักลงทุน และองค์กรเพื่อความโปร่งใส
เซติ อักตาร์ อาซิส ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย เป็นผู้บริหารอีกรายหนึ่งที่ได้รับการยกย่องในระดับสากล
เซติ มีบทบาทสำคัญในการทำให้กรุงกัวลาลัมเปอร์ กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการเงินอิสลาม ที่มีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ และยังเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่กล้าท้าทายไอเอ็มเอฟและสามารถเอาชนะได้
ช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินเอเชีย มาเลเซีย ส่อเค้าว่าจะต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินหลายพันล้านดอลลาร์จากไอเอ็มเอฟ เช่นเดียวกับ ไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ภายใต้เงื่อนไขเข้มงวด อย่าง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และการปล่อยให้บริษัทบางรายล้มไป
อย่างไรก็ตาม มาเลเซีย ไม่ยอมขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ และ เซติ ก็สามารถนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติมาได้ ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของเธอ
นอกจากสามคนข้างต้นแล้ว เอเชียยังมีทรัพยากรบุคคลอย่าง มอนเทค ซิงห์ อาห์ลูวาเลีย ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีอินเดีย หมิน จู อดีตรองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ธาร์มัน ชันมูการัตนัม รัฐมนตรีคลังสิงคโปร์ และโจเซฟ หยัม อดีตรัฐมนตรีคลังฮ่องกง
เอเชียพร้อมแล้วที่จะรับบทบาทผู้นำระดับโลก แต่ชาติตะวันตกจะยอมรับความจริงหรือไม่ ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟอาจเป็นข้อพิสูจน์
|