ผ่านโยบาย5พรรคการเมืองตัดสินโฉมหน้ารัฐบาลใหม่
วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่กำลังจะมาถึงในอีก 47 วันข้างหน้านี้ จะเป็นวันเลือกตั้งใหญ่อีกครั้งของประชาชนคนไทย ที่จะต้องออกไปทำหน้าที่พลเมืองดีในการใช้สิทธิลงคะแนนเสียง เพื่อเลือกผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่คาดหวังว่า พวกเขาจะนำ พาประเทศไปสู่ความก้าวหน้า
ทั้งในการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินตามหลักธรรมาภิบาลที่ยึดถือความสุข ของประชาชนในประเทศเป็นหลัก
ด้วยเหตุผลนี้ ทีมเศรษฐกิจ จึงนำนโยบายของพรรคการเมืองสำคัญๆ 5 พรรคหลัก ทั้งที่เคยร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลมาในอดีต และที่ทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบการทำงานของ รัฐบาล มาตีพิมพ์เผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านในการพินิจ พิเคราะห์คำมั่นสัญญาที่แต่ละพรรคจะทำ ก่อนจะถึงวันไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงจริง
แม้นโยบายจะไม่ค่อยแตกต่างกัน หรือมีทางเลือกไม่มากนัก ขณะที่ระบบการเมืองไทยตลอด 79 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา จะล้มลุกคลุกคลาน และมากไปด้วยสถิติของการปฏิวัติรัฐประหาร และการก่อการกบฏ 24 ครั้ง สลับกับการเลือกตั้ง 23 ครั้งก็ตาม
แต่ยังดีที่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังคงรักษาไว้ได้
พรรคประชาธิปัตย์
สโลแกน “เดินหน้าต่อไป ด้วยนโยบายเพื่อประชาชน”
เริ่มต้นด้วยพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแชมป์เก่ารัฐบาล ซึ่งเน้นหนักที่การสานนโยบายให้สวัสดิการเก่าที่มองว่าขายได้ อย่างค่าไฟฟรี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประกันรายได้ และเรียนฟรี รวมทั้งจัดการสะสางงานที่ยังคั่งค้างของรัฐบาล เช่น 3 จี เสริมด้วยการลงทุนภาครัฐ และนโยบายประชานิยมใหม่สู้กับนโยบายประชานิยมดั้งเดิม ดังนี้ :
กระตุ้นลงทุนหลายแสนล้าน
ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเชื่อมคุนหมิง ภาคอีสานสู่ภาคใต้เชื่อมต่อไปยังมาเลเซีย เพื่อพัฒนาการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว สร้างแหลมฉบังให้เป็นเมืองท่าสมบูรณ์แบบ (Harbor City) พร้อมรถไฟความเร็วสูง เชื่อมกรุงเทพฯ แหลมฉบังและระยอง และเครือข่ายโลจิสติกส์ ด้วยเงินลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท
-รวมทั้งพลิกโฉมเมืองท่องเที่ยวตลอดชายฝั่งทะเลภาคใต้ และแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อให้ ประเทศ ไทยเป็น “มนต์เสน่ห์แห่งเอเชีย” (The Rhythm of Asia) ด้วยเงินลงทุน 10,000 ล้านบาทต่อปี
-สร้างเขตเศรษฐกิจเกษตรพิเศษจัดระบบการผลิต แปรรูป การตลาดสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และมูลค่าสูง
พร้อมเดินหน้าสานต่องานค้าง
นโยบายหลักในกลุ่มนี้ คือ การทำให้ประเทศ ไทยใช้เครือข่ายระบบ 3 จีที่ยังค้างอยู่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงรัฐบาลก่อน และขยายบรอดแบนด์แห่งชาติ 3 จี อินเตอร์เน็ตชุมชน สู่ทุกตำบลทั่วประเทศ ภายใน 4 ปี
-เดินหน้าต่อในการบริหารจัดการแหล่งน้ำทั่วประเทศ ขยายพื้นที่ชลประทาน เพิ่มปริมาณน้ำ อุตสาหกรรม และขยายประปาชุมชน
-เร่งจัดหาพลังงานทดแทน เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จากพืชพลังงาน ลม แสงอาทิตย์ ชีวภาพ และขยะ
จัดหนัก “ต่อยอดประชานิยมเดิม”
โครงการภายใต้รัฐบาลเดิมที่มองว่าได้ใจประชาชน ประชาธิปัตย์จัดหนักครบถ้วน ทั้งโครงการไฟฟ้าฟรีถาวร สำหรับผู้ใช้ไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน มอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ทุกคนทุกเดือน โครงการบ้านมั่นคง (ซ่อมแซม จัดสาธารณูปโภค สร้างบ้านใหม่) ของชุมชนแออัดในเมือง และทั่วประเทศ
-ขณะที่ต่อยอดโครงการบัตรประชาชนใบเดียว รักษาฟรีอย่างมีคุณภาพ
-เพิ่มเงินทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเพื่อการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 250,000 คน
-พัฒนาศูนย์เด็กเล็กคุณภาพในทุกพื้นที่
-ปรับโครงสร้างหนี้นอกระบบ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และสร้างโอกาสใหม่ประชาชนให้ครบ 1 ล้านคน
-ขยายประกันสังคมสำหรับเกษตรกรและแรงงานนอกระบบให้ครอบคลุม 25 ล้านคน เพื่อรับเงินชดเชยรายได้เมื่อเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และบำเหน็จชราภาพ
เสริมทัพ “ประชานิยมใหม่”
-เพิ่มเงินกำไรอีกร้อยละ 25 จากโครงการประกันรายได้เกษตรกร (ชาวนา ชาวไร่ข้าวโพด ชาวมันสำปะหลัง)
-ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 25 ในเวลา 2 ปี พร้อมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
-จัดโฉนดชุมชนให้เกษตรกรมีที่ทำกินอีก 250,000 คน บนที่ดินของรัฐ
-จัดให้มีบำนาญประชาชนหลังอายุ 60 ปี โดยรัฐร่วมสมทบในกองทุนการออมแห่งชาติ
-พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างสินค้าและบริการ บนพื้นฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัย ใหม่ ด้วยงบประมาณ 20,000 ล้านบาท
-จัดการปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาด ด้วยการจัดตั้งกองกำลังพิเศษ 2,500 นาย
พรรคเพื่อไทย
สโลแกน “ขอคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคนอีกครั้ง”
ถอดแนวคิดหลักมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้วางยุทธศาสตร์ของพรรค ภายใต้แนวคิด “ดูเราและดูโลก” คือ เข้าใจตนเอง และเข้าใจโลก ส่วนนโยบายเศรษฐกิจที่เคยเป็นผลงานสร้างชื่อให้กับรัฐบาล ทักษิณ พรรคเพื่อไทยยังคงเจริญรอยตามนโยบายประชานิยมเต็มสูบและ “จัดหนัก จัดเต็ม” เข้าไปอีก ดังนี้ :
ฟื้นลงทุนกระตุ้นท่องเที่ยว
-ก่อสร้างเขื่อนลึกลงไปในทะเลราว 10 กม. ความยาว 30 กม. ตั้งแต่สมุทรสาคร-ปากน้ำ ถมทะเลเพื่อจัดสร้างเมืองใหม่บนพื้นที่รวม 200,000 ไร่ โดยไม่ต้องใช้เงินกู้ เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำทะเลหนุนเข้ามา และน้ำท่วมกรุงเทพฯ
-ก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ครบ 10 สาย ใน กทม.เก็บค่าบริการ 20 บาทตลอดสายทุกสถานี จะสร้างคอนโดให้คนรุ่นใหม่ หรือคนจากต่างจังหวัดเช่าในราคาถูกเดือนละ 1,000 กว่าบาท พร้อมสร้างรถไฟรางคู่เชื่อมชานเมืองทั้งหมด
-เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงไปเชียงใหม่, โคราช ระยอง พร้อมขยายแอร์พอร์ตลิงค์ไปฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยา
-ปรับปรุงลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ และดึงน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จากเขื่อนฮัจจี จากพม่าเขื่อนน้ำงึม จากลาว หรือแม่น้ำสตึงนัม จากกัมพูชา โดยมีการเชื่อมแม่น้ำด้วยคลองใหม่ ก่อสร้างสะพานเศรษฐกิจเชื่อม 2 ฝั่งอันดามันกับอ่าวไทยโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และไม่ทับพื้นที่ของพี่น้องมุสลิมที่ใช้เป็นสุสาน
-นโยบายการท่องเที่ยว สร้างสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง และต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน ขณะที่การบินไทยต้องทำงานในสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมกับเปิดวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง
ซื้อใจฉันทนา-รากหญ้าเต็มสูบ
-ภายใต้แนวคิด “น้อยเพื่อได้มาก” ของพรรคเพื่อไทยนำไปสู่การปรับลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 30% เหลือ 23% ภายในปี 2555 เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างสิงคโปร์ที่จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 18%
-ผลจากการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำกำไรที่ได้จากการปรับลดภาษีไป ปรับเพิ่มค่าแรงให้กับแรงงานขั้นต่ำที่ 300 บาทต่อวัน และผู้จบปริญญาตรี มีเงินเดือน 15,000 บาท
-คืนภาษีให้ผู้ซื้อรถคันแรกไม่เกิน 100,000 บาท และเพิ่มค่าลดหย่อนให้ผู้ซื้อบ้านหลังแรกเป็น 500,000 บาท
ปัดฝุ่นนโยบายประชานิยม
-นโยบายขจัดปัญหาความยากจนให้หมดไปภายใน 4 ปี โดยการรื้อฟื้นกองทุนหมู่บ้าน และกองทุน SML กลับมาเป็นกลไกหลักของการแก้ไขปัญหา พร้อมเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านอีกหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนแก้ไขปัญหาเงินนอกระบบ นำระบบไอทีเข้ามาเชื่อมโยงเพื่อให้เป็นธนาคารประชาชนอย่าง แท้จริง
-ตั้งกองทุนร่วมทุนในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการอนุมัติเงินกู้ให้แก่ธุรกิจที่น่าสนใจ
-ตั้งกองทุนกู้ยืมในมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐ และเอกชน ประเดิมแห่งละ 1,000 ล้านบาท รวมทั้งแจกแท็บเล็ต พีซี สำหรับเด็กไปโรงเรียน 1 คนต่อ 1 เครื่อง และจัดให้มีสัญญาณ Wi-Fi ในที่สาธารณะ
-ฟื้นนโยบายพักหนี้ 3 ปี ในหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท ส่วนหนี้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้
-จัดทำการ์ดเกษตรกร สามารถนำไปรูดซื้อวัตถุดิบการเกษตรและจัดระบบการหักล้างทางบัญชีกับพ่อค้า
-ฟื้นระบบรับจำนำประกันราคาข้าว กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกเกวียนละ 15,000-20,000 บาท
-ฟื้นโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) และโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก
-ฟื้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค พร้อมปรับปรุงโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ ทั่วประเทศ
พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน
สโลแกน “สังคมมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง เศรษฐกิจยั่งยืน”
พรรค ที่มาจากการรวมตัวของพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคเพื่อ แผ่นดิน ดังนั้น แค่ชื่อเท่านั้นที่เป็นพรรคใหม่ แต่นโยบายที่ออกมาก็มีส่วนผสมเต็มสูตร ทั้งด้านการเพิ่มรายได้ เพิ่มระบบขนส่งมวลชน เพิ่มการค้าการส่งออก และนโยบายประชานิยม ก็ขาดไม่ได้เช่นกัน ดังนี้ :
สร้างเถ้าแก่เงินล้าน ค่าแรงดี มีงานทำ
-ทุกหนึ่งล้านบาทสร้างผู้ประกอบการรายย่อย อัตราดอกเบี้ย 0% นาน 3 ปี
-จัดหา แหล่งเงินกู้ให้ผู้ประกอบการฐานราก โอทอปและเอสเอ็มอีทุกราย ตั้งกองทุน 10,000 ล้านบาท ต่อยอดนวัตกรรมการผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสนับสนุนโอทอปและเอสเอ็ม อี มีเป้าหมายให้สินเชื่อ 2 ล้านล้านบาท ใน 4 ปี
-ยกเว้นภาษีนิติบุคคลให้ผู้ประกอบการและบุคคลธรรมดาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 5 ปี
-ชาติ พัฒนาเพื่อแผ่นดินยังมากับมาตรการด้านภาษีเพื่อชดเชยกับการ จ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น โดยกำหนดให้ผู้เริ่มทำงาน 5 ปีแรก ไม่ต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาท ภายใน 3 ปี
-แก้หนี้ทั้งในและนอกระบบให้ผู้ใช้แรงงาน
-ปฏิรูป ระบบโครงสร้างอัตราเงินเดือน ข้าราชการ พนักงานราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจให้ทัดเทียมเอกชน ฝึกทักษะแรงงานฟรี คนไทยมีงานทำ และยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานไทยทั้งระบบ
-ให้สถาบันการ เงินของรัฐสนับสนุนให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ สำหรับผู้ใช้แรงงานที่ต้องการสร้าง ซื้อ หรือปรับปรุงบ้าน และมอบคูปองสุขภาพ 5,000 บาทต่อปีต่อคน สำหรับผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสุขภาพ
ทุกทิศ ทุกทาง เดินทางทั่วถึง
-สร้าง มอเตอร์เวย์ 5 สาย 5 ภูมิภาค ระยะทางไม่น้อยกว่า 800 กิโลเมตร ขยายเส้นทางรถไฟ รถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ เชื่อมโยงทุกภูมิภาค พัฒนาโครงข่ายเส้นทางสายหลักและสายรองเชื่อมโยงทั่วถึงทั่วไทย
-เปิดประตูการค้าอันดามัน ด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลตะวันตก เช่น ท่าเรือปากบารา จ.สตูล
-บัตร โดยสารใบเดียวใช้ได้ทั่วกรุงเทพฯ ตั๋วร่วม รถ รางและเรือ ปฏิรูปค่าโดยสารในประเทศ เครื่องบิน รถไฟ และรถประจำทางปรับอากาศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เร่งรัดการสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 12 สาย
-ปฏิรูป โครงข่ายและระบบโทรคมนาคมให้ทันสมัยและทั่วถึง ทั้งระบบ 3 จี และ 4 จี และสร้างเครือข่ายระบบโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถใน การแข่งขันสินค้าไทยในเวทีโลก
เกษตรกรไทยต้องรวย
-เปิดให้เกษตรกรมีทางเลือกเข้าโครงการประกันราคาข้าวหรือโครงการจำนำข้าว
-จัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพราคาพืชผลเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร เปิดโครงการพัก
ลด ปลดหนี้ให้เกษตรกรไทยที่ประสบภัยพิบัติ และโครงการประกันภัยภัยพิบัติสำหรับการประกันภัยพืชผลการเกษตรทุกชนิด
-ตั้ง สถาบันเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ภูมิความรู้ด้านทักษะทางการเงิน ให้แก่เกษตรกร ขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อเกษตรกรเป็น 250,000 บาท สร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ ด้วยการตั้งธนาคารสหกรณ์
-ขยายพื้นที่เขตชลประทานให้ทั่ว ถึงอีกไม่น้อยกว่า 20 ล้านไร่ พืชพันธุ์ดีแจกฟรีเกษตรกรทั่วไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลไม้ไทยสู่ตลาดโลกและนำพืชผลเกษตรสู่ พืชผลพลังงาน
การค้าไทยสู่ตลาดโลก
-แปรสนามรบกลับเป็นสนามการค้า ขยายตลาดส่งออกให้มีมูลค่าเพิ่มถึง 10 ล้านบาท มุ่งตลาดอาเซียน+6
-จัดหา สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอีเพื่อการส่งออก ดูแลนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรม ทั้งแก่ผู้ประกอบการไทยทั้งส่งออก นำเข้า และผู้บริโภค
-สนับสนุนภาคเอกชนไทยในการจดทะเบียนสิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญาในเวทีโลก
-สร้าง ศูนย์การค้าไทยบนโลกไซเบอร์ เร่งรัดการค้าเจรจาระดับทวิภาคีและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ ไทยเพื่อสร้างโอกาสในข้อตกลงการค้าเสรีกับประชาคมอาเซียน และทั่วโลก
-ขยายพื้นที่อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกแห่งใหม่คู่ขนานกับอีสเทิร์นซีบอร์ด ส่งเสริม
การส่งออกสินค้าพลังงานฐานเกษตร และส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายทำภาพยนตร์
ทุกพรรคจัดหนัก...“ประชานิยม”
พรรคชาติไทยพัฒนา
สโลแกน “เพื่อพัฒนาชาติ การเมืองไม่ขัดแย้ง สร้างแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตที่ดี”
นโยบายของชาติไทยพัฒนา เริ่มที่การปรองดอง โดยมองว่าหากยังมีความขัดแย้งทางการเมือง ความไม่เป็นธรรมของการบังคับใช้กฎหมาย มาตรการใดๆก็ไม่สามารถจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เต็มที่ และทำให้ไทยเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ ขณะที่ในปี 2558 ไทยต้องเตรียมเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยมีนโยบายสำคัญ ดังนี้
สร้างแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยจะมีการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน 5 ล้านล้านบาท เช่น สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพฯ กับหัวเมืองทั่วประเทศ เชียงใหม่ นครราชสีมา ระยอง หัวหิน และหาดใหญ่ และสนับสนุนการขนส่งมวลชน-สินค้าด้วยระบบราง
-ปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม และบริหารการใช้งบประมาณให้ประหยัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เพราะปัจจุบันอัตราภาษีของไทยอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาค
-ปรับปรุงข้อกฎหมาย ระเบียบ วิธีการปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และเป็นธรรมแก่ภาคธุรกิจ และปรับปรุงระบบการศึกษาของประเทศครั้งใหญ่
ยกระดับเกษตรกรไทย
-ลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทาน 1.7 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้แก่ภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันไทยมีพื้นที่ทำการเกษตร 169 ล้านไร่ แต่กลับมีพื้นที่ชลประทานเพียง 28.36 ล้านไร่ มีการบริหารจัดการน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในระบบชลประทาน 34.4 ล้านไร่
-ยกระดับราคาและจัดให้มีการประกันภัยพืชผล คุ้มครองพื้นที่การเกษตร และจัดหาที่ทำกินให้กับเกษตรกร
-จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตร และจัดตั้งสถานีโทรทัศน์การเกษตร
-จัดให้มีอาสาสมัครเกษตรกรประจำหมู่บ้าน (อกม.) ค่าตอบแทน 1,000 บาท
เพิ่มรายได้ประเทศ–ประชาชน
-ยกระดับประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว วงเงิน 100,000 ล้านบาท หารายได้เข้าประเทศ โดยเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดข้างเคียงในฝั่งอันดามัน ทั้งกระบี่ ตรัง และภูเก็ต และฝั่งอ่าวไทย เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี
-เพิ่มเงินสวัสดิการผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน ปรับปรุงค่าจ้างรายวันให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ
-สร้างโอกาสการศึกษาและสาธารณสุขทุกระดับอย่างมีคุณภาพ จัดงบประมาณอาหารกลางวันเพิ่มเติม
-ส่งเสริมการลงทุน ครอบคลุมการพัฒนาด้านท่องเที่ยวและกีฬา สร้างสนามกีฬาตำบลแห่งละ 12 ล้านบาท
พรรคภูมิใจไทย
สโลแกน...พูดแล้วทำ เพิ่มทุน สร้างที่ มีทางพรรคภูมิใจไทยนำเสนอมาตรการที่เรียกว่า “ใจถึง” ด้วยการประกาศปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ลงถึง 2% เพื่อเพิ่มกำลังซื้อของคน ซึ่งจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อช่วยให้ภาคเศรษฐกิจของประเทศที่มีลักษณะ “ซึม” เพราะผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อในปัจจุบันให้สดใสขึ้น
รายจ่ายครัวเรือนลดทันที
-การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7% เหลือ 5% หรือลดลง 2% เป็นมาตรการพลิกฝ่ามือที่ให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ทันทีในภาวะเช่นนี้ เพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้อขึ้นทันที เพราะสินค้าอุปโภคทุกรายการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีราคาถูกลง 2% ขณะที่ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตลดลง ทำให้วัตถุดิบ เชื้อเพลิง พลังงาน น้ำมัน และก๊าซ ที่นำมาใช้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และค่าขนส่ง ที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ราคาถูกลง 2% ไปด้วยการลดภาษีมูลค่าเพิ่มนี้เป็นมาตรการที่จะช่วยลดรายจ่ายให้แก่ผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจและเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงกว่าการลดภาษีนิติบุคคลซึ่งมีแต่ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักประกันใดชี้ชัดว่า ราคาสินค้าจะลดลงตามไปด้วย หรือผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อและความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขณะที่บริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้นแน่นอน
ทั้งนี้ เมื่อเฉลี่ยรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า ประปา ตลอดจนถึงค่าโทรศัพท์ของครัวเรือนไทยในแต่ละปีแล้ว จะพบว่า ครัวเรือนไทยต้องจ่ายถึง 60,000 บาทต่อปีเพื่อการนี้ แต่หากภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง 2% รายจ่ายในครัวเรือนก็จะลดลงถึงครัวเรือนละ 1,200 บาท ถือเป็นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในทันที
-นโยบายนี้ แม้จะกระทบต่อรายได้รัฐบ้าง แต่ในภาวะเช่นนี้หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังซื้อ...ก็ไปไม่รอด การที่เศรษฐกิจจะดำเนินไปได้และรัฐบาลจะอยู่ได้ด้วยนั้น ประชาชนต้องอยู่รอดก่อน และต้องมีกำลังซื้อก่อน จึงต้องคิดนอกกรอบเพื่อประโยชน์ประชาชนมากกว่าประโยชน์ของรัฐและนิติบุคคลเพียงฝ่ายเดียวบ้าง
อัพข้าวเปลือกตันละ 20,000 บาท
-จัดตั้งกองทุนประกันราคาสินค้าเกษตรเพื่อประกันราคาสินค้าเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา ในฐานะเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก และมีเกษตรกรอยู่ในระบบการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิดนี้จำนวนมาก รวมถึงปาล์มด้วย ในการนี้จะประกันราคาข้าวเปลือกให้ได้ตันละ 20,000 บาท เพื่อที่ชาวนาจะไม่เป็นหนี้อีกต่อไปด้วย ขณะเดียวกัน จะใช้มาตรการพิเศษบางประการเข้าไปจัดการกับปัญหาของเกษตรกร
-เพิ่มการลงทุนภาครัฐสู่ท้องถิ่น เพื่อให้เงินไปถึงประชาชนอย่างแท้จริง และเกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน โดยการที่จะใส่เงินเข้าไปนี้ จะต้องเป็นการลงทุนต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนสูง และมีเวลาในการคืนทุนเร็ว โดยข้อเสนอที่ว่านี้ก็คือ การลงทุนด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างน้อยจังหวัดละ 100 ล้านบาทต่อปี เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในทุกจังหวัด ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อและเศรษฐกิจในท้องถิ่นกลับมามีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
สร้างธุรกิจกีฬาอาชีพ
-ธุรกิจกีฬาอาชีพจัดเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก และมีเงินหมุนเวียนหลายแสนล้านบาท หากนักกีฬาไทยได้รับการเพิ่มขีดความสามารถ และทักษะในกีฬาประเภทต่างๆอย่างจริงจัง ประโยชน์ก็จะตกแก่
ประเทศและเยาวชนของชาติในอนาคต ทั้งนี้ พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายจะสนับสนุนให้มีการสร้างนักกีฬาอาชีพขึ้นใน 4 สาขาหลัก คือ มวยไทย ฟุตบอล กอล์ฟ และเทนนิส ด้วยการให้โอกาสนักกีฬาไทยได้ไปแข่งขันในต่างประเทศ ก่อนจะส่งเสริมให้สร้างธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ โดยใช้มาตรการทางภาษีเกื้อหนุน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆให้แก่เยาวชนไทยให้มีรายได้ที่ดีขึ้น และสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้เหมือนนักกีฬาในต่างประเทศ ทั้งยังเป็นแรงจูงใจเพื่อสร้างธุรกิจกีฬาใหม่ๆให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเป็นสำคัญด้วย.
ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ
|