นางอัญญาอร พาณิชพึ่งรัช หัวหน้าเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวถึงการจัดเรตติ้งใหม่ ว่า ทางเครือข่ายครอบครัวสนับสนุนเต็มที่ในการที่ภาครัฐ ออกมาผลักดันเรื่องการจัดช่วงเวลาให้สอดคล้องกับการจัดเรตติ้ง เพราะเป็นเรื่องที่เครือข่ายครอบครัวเรียกร้องกันมานานมาก การผลักดันเรื่องช่วงเวลาจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบเรตติ้งมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ตนไม่อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาให้สัมภาษณ์แล้วเงียบหายไป แต่อยากให้ดำเนินการอย่างจริงจัง ในเบื้องต้น ทางเครือข่ายครอบครัว จะออกมาร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผล โดยในวันที่ 9 พฤษภาคม ตนพร้อมด้วยแกนนำเครือข่ายครอบครัว จะเดินทางเข้าพบ นายนิพิฏฐ์ พร้อมทั้งมอบเอกสารที่ได้ดำเนินการผลักดันการจัดระบบเรตติ้งให้เหมาะสมกับช่วงเวลาให้เป็นแนวทางในการดำเนินการอย่างเร่งด่วนด้วย
นางอัญญาอร กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ทางเครือข่ายครอบครัว พร้อมเป็นเจ้าภาพ ในการจัดประชุม เพื่อหารือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจะเชิญผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้แทนสถานีโทรทัศน์ ผู้เขียนบท หน่วยงานภาครัฐ และตัวแทนเครือข่ายครอบครัว มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อหาแนวทางร่วมในการกำหนดการดำเนินการจัดเรตติ้ง ซึ่งทางเครือข่ายครอบครัวไม่ได้โทษว่าทางผู้ประกอบการผิดหรือเป็น จำเลย แต่อยากหาทางจุดร่วมให้เข้าใจตรงกันว่า ถ้ามีรายการโทรทัศน์ที่ยังมีความล่อแหลม ทางด้านเนื้อหา ควรมองไปถึงครอบครัวที่ไม่พร้อม ให้พวกเขาคิดได้ว่าจะผลกระทบยังไง อยากให้ใช้ละครทุกประเภท สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับครอบครัวได้อย่างไร และให้ครอบครัวใช้ประโยชน์จากการบริโภคละครได้อย่างไร ทั้งนี้ ตนมองว่าหาเราสามารถดำเนินการเรื่องการกำหนดช่วงเวลาได้สำเร็จ ครอบครัวเองก็จะต้องทำหน้าที่ดูแลเด็กและเยาวชน
"ที่ผ่านมา เราได้เสนอแนวทางการจัดเรตติ้งให้เหมาะสมกับช่วงเวลามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น จึงเกิดละครลักษณะที่ล่อแหลม ขาดการควบคุมเนื้อหา และภาพ ออกมาสู่สังคมให้เห็นกันเกลื่อน รวมไปถึงผลกระทบต่อเนื่อง อาทิ กรณีที่มีข่าวที่ลูกต่อว่าแม่ว่าทำตัวเลียนแบบละครดัง จึงทำให้แม่น้อยใจกระทั่งกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย ดังนั้นถ้ามีการจัดทำเรตติ้งใหม่ ก็จะทำให้ลดปัญหานี้ลงไป เรื่องนี้ ตนไม่อยากเอามาผูกโยงกับละคร แต่มองว่าเด็กอาจจะมีภาวะทางอารมณ์ ด้วยสาเหตุจากที่แม่ดุด่า ส่วนจะโทษว่าเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมละครดังหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากพื้นฐานพฤติกรรมของเด็กว่าเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งอาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงอยู่แล้ว เมื่อชมละครที่มีเนื้อหารุนแรง ก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่รุนแรงยิ่งขึ้น หรือ หากเด็กมีพฤติกรรมเหมือนเด็กทั่วไป ไม่ก้าวร้าว เมื่อชมละครก็อาจจะอยากเลียนแบบการกระทำของตัวละครได้" นางอัญญาอร กล่าว
นายสงขลา วิชัยขัทคะ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า กรณีการจัดเรตติ้งทีวี
กำหนดโดยอาศัยประกาศหรือระเบียบหรือกฎเดิมของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่มีสภาพเป็นกฎหมายแล้ว ดังนั้น ขณะนี้จึงใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ปี 2551 ที่ให้อำนาจของ กสทช. แต่เนื่องจาก กสทช.ยังไม่เกิด เมื่อไม่มี กสทช. บทเฉพาะกาลได้ให้อำนาจเลขาธิการสำนักงาน กสทช.ซึ่งมีอำนาจสามารถสั่งระงับการเผยแพร่ได้ รวมถึงให้ยกเลิกได้ ตามมาตรา 37 ของกฎหมายดังกล่าว
“สำหรับละครดอกส้มสีทอง ที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่เวลานี้ ถามว่ามีความผิดตามกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องมีคนมาร้องเรียนก่อน ถึงจะถือว่าเข้าข่ายและสามารถเอาโทษได้ ซึ่งอาจจะระงับรายการ จนถึงเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมายปี 2551 ซึ่งผิดกับภาพยนต์ถ้าขัดต่อความสงบเรียบร้อย ขัดต่อศีลธรรมอันดี ก็สามารถดำเนินการได้เลยไม่ต้องมีคนร้องเรียน แต่เรตติ้งโทรทัศน์จัดกันแบบหลวมๆ เท่านั้น ไม่ได้มีสภาพบังคับทางกฎหมาย เป็นแค่คำเตือน คำแนะนำเท่านั้น” นายสงขลา กล่าว
|