เตรียมเสนอรายชื่อ คกก. เข้าคุม ม.อีสาน จี้มหา'ลัยผลิตครู ส่งรายชื่อนิสิตตรวจสอบ
 |
นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา |
|
 |
เลขาธิการ กกอ. เผยเตรียมเสนอรายชื่อคณะกรรมการเข้าควบคุม ม.อีสาน ให้ที่ประชุม กกอ.พิจารณาวันนี้ รวมทั้งเสนอให้มหาวิทยาลัยที่ร่วมผลิตหลักสูตร ป.บัณฑิต เป็นจำนวนมากส่งรายชื่อนักศึกษาที่จบหลักสูตรและระบุถึงสถานที่ฝึกสอนเพื่อหาวิธีตรวจสอบคุณภาพ ด้านประธาน คกก.มาตรฐานวิชาชีพ คุรุสภา ประชุมกรณีพิเศษพรุ่งนี้ (28 เม.ย.) หาทางออกให้ผู้จบ ป.บัณฑิตจาก ม.อีสาน นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (27 เม.ย.) ในที่ประชุม กกอ. มีการพิจารณาการควบคุมสถาบันอุดมศึกษากรณีพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาการปลอมวุฒิการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต โดยจะเสนอรายชื่อคณะกรรมการเข้าควบคุมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอีสาน เพื่อส่งให้นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เข้าไปวางระเบียบให้มหาวิทยาลัยอีสาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในกลุ่มประชาชน จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งไม่ทราบระยะเวลาที่แน่นอน จากนั้นจะเสนอรัฐมนตรีว่าการฯ ให้ถอดถอนคณะกรรมการควบคุมฯ เพื่อให้มหาวิทยาลัยอีสานเลือกผู้บริหารชุดใหม่เข้าไปดำเนินการ นายสุเมธ กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการอุดมศึกษา จะพิจารณาให้มหาวิทยาลัยที่ร่วมผลิตครู ตามหลักสูตร ป.บัณฑิต เป็นจำนวนมาก ส่งรายชื่อนิสิตนักศึกษาที่จบหลักสูตร รวมถึงสถานศึกษาที่ไปฝึกสอน จากนั้นคณะกรรมการฯ จะพิจารณาหาวิธีการตรวจสอบ ไม่แน่ใจว่าจะใช้วิธีการสุ่มตรวจหรือตรวจทุกกรณี อย่างไรก็ตาม มีผู้สำเร็จการศึกษา ป.บัณฑิต ปีการศึกษา 2553 จำนวน 27,000 คน ด้านนายนิยม ศรีวิเศษ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ คุรุสภา เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (28 เม.ย.) คณะกรรมการมาตรฐานฯ จะประชุมเป็นกรณีพิเศษ ตามที่เลขาธิการคุรุสภา เสนอให้มีการประชุมด่วนเพื่อแก้ปัญหาการปลอมวุฒิ ป.บัณฑิต หลังจากวันนี้ กกอ. จะมีผลสรุป เพื่อจะได้แก้ปัญหาการออกใบประกอบวิชาชีพครูให้กับผู้ที่ใช้วุฒิ ป.บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอีสาน มาขอใบอนุญาตจำนวน 633 คน รวมถึงจำนวนบัณฑิตที่จบอีกกว่า 1,000 คน ถ้าไม่เร่งวินิจฉัย คนเหล่านี้จะเคว้งคว้าง “อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูครั้งแรก มีระยะเวลาครบตามกำหนด 5 ปีแล้ว เมื่อปี 2552 และจะครบอีก 5 ปีในปี 2557 ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพครูจะต้องต่อใบอนุญาตฯ ทุก 5 ปี แต่คณะกรรมการมาตรฐานฯ กำลังพิจารณาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตลอดชีพ หากต่อใบอนุญาตฯ มาแล้ว 2-3 ครั้ง” ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพครู กล่าว |