หมวดหมู่
หน้าหลัก       ยินดีต้อนรับสู่มุสลิมไทย โพสต์
 
พิมพ์หน้านี้  |  ส่งให้เพื่อน
ร่วม7ปีแล้ว บทสรุบ3จังหวัดชายแดนภาคไต้จะเป็นอย่างไร

 

ข่าวคราวความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดูเหมือนจะมีความรุนแรงแทบทุกวัน ล่าสุดเมื่อวันสองวันที่ผ่านมาโจรใต้ก็ปฏิบัติการคาร์บอมบ์ในกลางเมืองยะลา ทำให้สูญเสียเสียทหารไป 1 รายและมีผู้บาดเจ็บอีกหลายราย ความรุนแรงของสถานการณ์ภาคใต้ดังกล่าว และแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์รายวันอย่างยืดเยื้อยาวนานกว่า 7 ปี ซึ่งคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ายุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถปลดชนวนความขัดแย้งเพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นได้
 
จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า จึงได้จัดโครงการ “Press tour” ขึ้น โดยการนำสื่อมวลชนจากส่วนกลางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและสื่อมวลชนท้องถิ่นลงไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่โดยตรงและได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ว่าเขาเหล่านั้นรู้สึกและอยู่กันอย่างไร

หลังจากเดินทางมาถึงพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คณะสื่อมวลชนได้ไปที่ค่ายสิริธร กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปถึงการดำเนินงานของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. โดยมี พล.ต.อัคร ทิพโรจน์ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน.(2) ให้การต้อนรับสื่อมวลชน โดยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการ “Press tour” ครั้งนี้ว่า เป็นการนำสื่อมวลชนมาดูถึงการทำหน้าที่ของทหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงว่าเขาทำอะไรกันอยู่ เมื่อสื่อมวลชนได้มารับรู้ ได้มาเห็นจะได้ถ่ายทอดออกสู่สาธารณะและตอบคำถามสาธารณะว่ากองทัพทำอะไรกันอยู่  

โดยเราจะทำงานด้านการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร หรือ Information power คู่ขนานกับงานการเมืองนำการทหาร ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสดีที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ที่นำสื่อมวลชนมาดูการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เห็นสิ่งที่ทหารดำเนินการได้เห็นเนื้อแท้ และคิดว่าคนที่จะสร้างความน่าเชื่อถือได้ดีที่สุดคือ “สื่อมวลชน” ซึ่งตรงนี้ทหารยังมีจุดอ่อนเรื่องของการประชาสัมพันธ์ แต่เราก็ดีใจที่สื่อมวลชนได้มาเสริมจุดอ่อนให้กับเรา และจากการที่สื่อมวลชนได้มาดูได้มาเห็นและนำไปถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับรู้ทั่วโลกได้รับรู้ถึงการดำเนินงานของทหาร

“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมทหารในพื้นที่ภาคใต้ ได้บอกว่าตัวเลขสถิติไม่ใช่ดัชนีชี้ปัจจัยความสำเร็จในการทำงานเวลานี้ เพราะตัวเลขสถิติจะเป็นตัวบ่งบอกถึงจำนวนครั้ง แต่ละครั้งอาจจะทำร้ายประชาชนมากกว่าจำนวนครั้งที่มีตัวเลขมาก ๆ ด้วยซ้ำ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนทั่วไป ประชาคมโลกมองเห็นถึงความโหดร้าย ความรุนแรงที่เกิดขึ้น  ท่านจึงบอกว่า พยายามให้สื่อได้รับรู้ถึงเนื้อหา เจตนารมณ์ ความตั้งใจ ความทุ่มเท ความเสียสละของเจ้าหน้าที่ และในอนาคตอันใกล้จะมีกองกำลังทหารในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความเข้มแข็งขึ้นมาทดแทน และกำลังพลที่มาจากกองทัพภาค1 2 และ 3 จะได้กลับไปสู่มาตุภูมิของเขา และให้กำลังพลจากกองทัพภาคที่ 4 ดูแลประชาชนในพื้นที่ต่อไป แม้ว่าสถานการณ์จะยุติแต่ทหารยังคงต้องอยู่กับประชาชนต่อไป ดังนั้นผบ.ทบ.จึงมีแนวทางในการปรับการทำงานให้ถูกฝาถูกตัว นับตั้งแต่บัดนี้ ” พล.ต.อัคร กล่าว
   
ขณะที่ พ.อ.ชินวัตร แม้นเดช  ผอ.รร.เสริมสร้างสันติสุข กล่าวว่า กอ.รมน.ภาค 4 สน.ถือเป็นหน่วยงานหลักของรัฐ ซึ่งมีหลายหน่วยที่เข้ามารับผิดชอบต่อการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ทำงานด้านนี้และศึกษาเรียนรู้ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ต้องยอมรับว่าการก่อความไม่สงบในยุคปัจจุบันตั้งแต่ปี 2547-ปัจจุบัน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงแห่งรัฐโดยรวม ตนคิดว่าต้องใช้องคาพยศของรัฐทั้งสิ้นมาสร้างความเข้าใจให้เป็นเอกภาพเพื่อนำไปสู่การยุติปัญหาเหล่านั้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้

พ.อ.ชินวัตร กล่าวว่า วันนี้เราต้องรู้ว่าเรากำลังสู้กับอะไร โครงสร้างของสามจังหวัดชายแดนปัญหาภาคใต้ มีโครงสร้างของปัญหาที่หลากหลายจนแยกได้ยากว่าเกิดจากอะไร เมื่อรัฐมุ่งสู่การปราบปรามเกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้นมาก็คือขบวนการค้ายาเสพติด วันนี้ยาเสพติดระบาดทั่วทั้งสามจังหวัดและมีสถิติที่สูงมาก ดังนั้นปัญหาขบวนการค้ายาเสพติดจึงเป็นปัญหาคู่ขนานกันด้วย อย่างการฆ่ารายวันก็ไม่ใช่ว่าจะมาจากความรุนแรงแต่มาจากปัญหายาเสพติดที่เป็นอาชญากรรมภายในชาติและอาชญากรรมข้ามชาติด้วย
ต่อมาเป็นปัญหาอิทธิพลอำนาจมืดในท้องถิ่น เป้าหมายคือผลประโยชน์ในท้องถิ่น ซึ่งมีความขัดแย้งสูงมาก ระหว่างนายก อบต.กับ กำนัน ซึ่งอยู่คนละพวก หรือแพ้การเลือกตั้ง ถึงขั้นยิงกันตาย ซึ่งเราต้องไปแก้ปัญหาเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราจึงต้องแยกแยะปัญหาการฆ่ากันออกให้ได้ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติภาคใต้ได้แยกออกอย่างชัดเจน ว่าการตายรายวันเกิดจากสาเหตุใด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจนอกกฎหมายทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นปัญหาทั่วไปของชายแดนที่มีการค้าข้ามชาติ ค้าของเถื่อน กองทัพบก แต่ในส่วนของภาคใต้แตกต่างจากจังหวัดอื่นก็คือมีการค้าน้ำมันเถื่อนสูงมากซึ่งไปเกี่ยวพันกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงด้วย สิ่งเหล่านี้คือโครงสร้างของปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
    
สำหรับปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่ามีตัวแสดงอยู่ 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่ม “รัฐ” ทั้งหมดที่เป็นองคาพยศของรัฐหรือกลไกของรัฐทั้งหมด ทั้งส่วนกลางและในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน 2. กลุ่ม “ผู้ก่อเหตุรุนแรง” ที่ต่ำกว่ารัฐ เป้าหมายคือ สู้กับรัฐเพื่อปลดปล่อยอำนาจรัฐไทยออกจากกลุ่ม “ประชาชน” และ 3. กลุ่ม “ประชาชน”ส่วนใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ หากศึกษาการต่อสู้ของกลุ่มผู้ก่อเหตุความรุนแรงในยุคสงครามเย็นจะพบว่า จะใช้ฐานการต่อสู้บนภูเขา แต่เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุด กลุ่มดังกล่าวจึงเลิกฐานการต่อสู้บนเขาแล้วมาจัดตั้งฐานการต่อสู้ในหมู่บ้านอิงอยู่หลังประชาชน และทำลายระบบรัฐด้วยการลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่เป็นบุคคลหรือลอบวางระเบิดแล้วเข้ามายิงซ้ำ เพื่อให้มองว่าเจ้าหน้าที่รัฐอ่อนแอ หรือไม่ก็โฆษณาชวนเชื่อของกระบวนการต่อพี่น้องประชาชนอย่างเป็นระบบ เป้าหมายเพื่อให้พี่น้องประชาชนเกิดความขัดแย้งระแวงรัฐ อย่างเช่น การลอบยิงพี่น้องมุสลิมแล้วแต่งกายเป็นทหารพราน หรือวิธีการที่ทำให้เกิดความร้าวฉานแตกแยกในกลไกของรัฐที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดความอ่อนแอในตัวมันเองนั่นก็คือรัฐ

“อยากจะบอกว่าปัญหาภาคใต้ สิ่งที่เห็นอาจจะยังไม่ใช่ สิ่งที่ใช่อาจจะยังมองไม่เห็น สิ่งที่ได้ยินอาจจะยังไม่ใช่ สิ่งที่ใช่ท่านอาจจะยังไม่ได้ยิน เพราะขบวนการปลุกระดม ขบวนการโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ และพี่น้องประชาชนที่ถูกหลอกหรือเห็นว่าใส่ชุดนั้น ชุดนี้จริงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้คือปัญหาใหญ่ที่สร้างความเข้าใจผิดกับพี่น้องประชาชน” พ.อ.ชินวัตร กล่าว 
อย่างไรก็ตามเรายอมรับว่าในปี 2547-2549 เรามองไม่เห็นตัวตนของผู้ก่อเหตุความรุนแรง แต่เรามองเห็นความรุนแรงที่ส่งผ่านมาจากประชาชน เพราะใช้ฐานต่อสู้มาจากหมู่บ้าน เมื่อออกมาเราจำเป็นต้องยุติความรุนแรงก็ต้องทำการปิดล้อมหมู่บ้าน เนื่องจากผู้ก่อเหตุรุนแรงยิงแล้วก็หายไปในหมู่บ้าน ดังนั้นหน่วยงานด้านความมั่นคงไม่รู้จะทำอย่างไรก็ต้องยุติจึงต้องปิดล้อมตรวจค้นทางการทหาร แต่มาวันนี้เรารู้แล้วว่ามันมีตัวตนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและแอบอยู่หลังพี่น้องประชาชนจริง และพี่น้องประชาชนก็ไม่รู้ว่ามีกลุ่มนี้อยู่

“จะเห็นว่าเหตุการณ์กรือแซะ เหตุการณ์ตากใบ เป็นเหตุการณ์ที่ถูกสร้างดึงรัฐเข้าสู่วงจรแห่งความรุนแรง เพื่อตอกย้ำประวัติศาสตร์เชิงบาดแผลร่วมสมัยในการเข้าไปกระจายให้ประชาชนเกลียดรัฐ ระแวงรัฐมากขึ้น จะเห็นกระบวนการทางการเมืองของกลุ่มนี้จะไม่หยุดเรื่องกรือแซะ เรื่องตากใบ จะฟื้นขึ้นมาเรื่อย ๆ และฉวยใช้ผู้ที่ไม่เข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้นประโคมข่าวต่าง ๆ ออกมา ทำให้เหตุการณ์กรือแซะและตากใบไปยืนยันประวัติศาสตร์เรื่องบาดแผลที่ประชาชนเกลียดรัฐจึงตกเป็นจำเลยจากการพูดกันในร้านน้ำชาและสื่อยังยืนยัน สิ่งที่ผมเรียกร้องการวิเคราะห์ปัญหาภาคใต้เราต้องมองตัวแสดงให้ครบถ้วน ถ้ามองไม่ครบจะมองแค่สองตัว คือรัฐและประชาชน ส่วนผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่เผยให้เราเห็น กลายเป็นว่า รัฐตกเป็นจำเลย” พ.อ.ชินวัตร กล่าว

อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาของรัฐในยุคปัจจุบัน ถ้าดูตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบกและนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 นโยบายสานใจสู่สันติ ซึ่งเป็นนโยบายที่สอดรับกันนั้น เราสู้ภายใต้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ที่มีสองระดับ คือ การเมืองเชิงกว้าง ด้วยการให้พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ที่ขัดแย้ง ระแวงรัฐ เกลียดรัฐหันหน้าเข้าหารัฐ และ การเมืองเชิงลึก ก็คือการเข้าไปสู่มวลชนหลักของการต่อสู้ของเขาที่อยู่ในหมู่บ้านอย่างลับ ๆ เราต้องทำมวลชนกับชาวบ้าน ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน นอกจากนี้ก็บังคับใช้กฎหมายเฉพาะกลุ่มติดอาวุธ ที่มีหมาย ป.วิอาญา หรือไม่มีหมาย ป.วิอาญาก็ตาม แต่เขาทิ้งร่องรอยของการก่อเหตุเอาไว้ นี่คือแนวทางการต่อสู้ของรัฐในปัจจุบัน ดังนั้นจะเห็นว่า การปิดล้อมตรวจค้นอย่างไร้เหตุผลจะไม่เกิดขึ้น จะทำแต่เฉพาะการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มนั้นจริง ๆ ตามฐานข่าวที่มีและพบ

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาในระดับรัฐบาลได้ปรากฏในรูปแบบของประกาศ ระเบียบ คำสั่ง ทั้งในเรื่องของการปรับปรุงระเบียบการบริหารจัดการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้เกิดเอกภาพ รวมทั้งการออกกฎหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ที่สำคัญได้แก่ นโยบายการเสริมสร้างสันติสุข พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ และ แผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือว่าเป็นแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

เพื่อให้การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม กอ.รมน.ในฐานะหน่วยงานที่รัฐบาลได้มอบหมายให้รับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาโดยตรงตาม พ.ร.บ.ฯ จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น เพื่อให้หน่วย/ส่วนราชการต่างๆ ใช้เป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงาน โดยให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยรับผิดชอบในการบูรณาการแผนและการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ในภาพรวม ทั้งด้านความมั่นคง และ ด้านการพัฒนา โดยมุ่งเน้นที่ประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่การปฏิบัติการทางทหารโดยตรงต่อกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงตามนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ซึ่งจากผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มาเป็นระยะเวลาหนึ่งทำให้สถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของ กอ.รมน. “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้นโยบายในการทำงานยังคงยึดถือแนวทางการทำงานของผู้บังคับบัญชาคนก่อน ๆ รวมทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ กอ.รมน. ใช้ยุทธศาสตร์หลักคือ ยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนี้แล้วยังมี 6 ยุทธศาสตร์รองเพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ 1.การเสริมสร้างความเข้าใจ เพื่อลดและขจัดเงื่อนไขเรื่อง อัตลักษณ์รวมทั้งประวัติศาสตร์อันนำมาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข 2.การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพและความถนัดของแต่ละบุคคล รวมทั้งโอกาสที่เท่าเทียมกัน 3.การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน อันได้แก่ ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ และน้ำมันเถื่อน รวมทั้งการกระทำที่ผิดกฎหมายต่างๆ เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้รับการสนับสนุนจากทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ 4.การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ในพื้นที่ถูกยกระดับเข้าสู่เวทีสากล โดยยึดถือกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ได้เน้นย้ำว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่มีการกระทำนอกกฎหมายอย่างเด็ดขาด 5.การ รปภ.ในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยและประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และ 6.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ/สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน
จากการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมไปกับการพัฒนาปรับปรุงวิธีการเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามสถานการณ์ในแต่ละห้วงเวลานั้น นอกจากจะใช้สถิติในการก่อเหตุเป็นปัจจัยในการพิจารณาถึงความรุนแรงของสถานการณ์ในพื้นที่แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องนำมาร่วมพิจารณาด้วย จากการประเมินในภาพรวมพบว่า สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับที่เห็นเป็นรูปธรรมดังนี้ ด้านสถิติการก่อเหตุลดลง แม้ว่าจะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ้างแต่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมากนัก ซึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการก่อเหตุในชุมชนเมืองที่สามารถควบคุมอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ด้านการข่าว สามารถกำหนดเครือข่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรม และได้รับข่าวสารจากประชาชน ทำให้สามารถติดตามจับกุมแนวร่วมระดับแกนนำได้หลายคน ส่งผลให้เครือข่ายบางพื้นที่ถูกทำลาย และหลายครั้งผู้ก่อเหตุรุนแรงถูกจับกุมในขณะเตรียมจะก่อเหตุรุนแรง  การมีส่วนร่วมของประชาชนดีขึ้น จากการที่ทุกฝ่ายเข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพทำให้เกิดกิจกรรมร่วมกัน ประชาชนให้การตอบรับและให้ความร่วมมือในการดูแลหมู่บ้านและช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น สังเกตได้จากการที่ประชาชนกล้าออกมาประกาศแสดงตนไม่สนับสนุนการก่อเหตุร้ายเพิ่มมากขึ้น

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมาดีเหมือนเดิม ดังจะเห็นได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมการจัดงานในวันสำคัญๆ พื้นที่จัดงานทุกแห่งมีความปลอดภัยไม่เกิดเหตุร้าย มาตรการรักษาความปลอดภัยสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นต่อประชาชน จึงทำให้ทุกแห่งมีประชาชนเข้าไปเที่ยวงานอย่างหนาแน่น นอกจากนั้น ประชาชนหันกลับมาใช้วิถีชีวิตแบบเดิมมีการไปมาหาสู่กันไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืนมากยิ่งขึ้น โดยมีการสัญจรบนท้องถนน การพบปะสนทนาตามร้านน้ำชาและการค้าขายในเวลากลางคืน.
   
จากการรับฟังความเป็นมาของปัญหาชายแดนภาคใต้และจากการได้สัมผัสดูการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร บอกได้แต่เพียงว่าทุกคนต่างทุ่มเทแรงกาย แรงใจในการทำงาน เพื่อปกป้องดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยไม่แยกเชื้อชาติ ศาสนา ว่าเขาเหล่านั้นเป็นใคร แต่ทุกคนทำเพื่อพี่น้องประชาชนคนไทยด้วยกัน ดังนั้นจึงเชื่อว่า นโยบายของผู้บัญชาการทหารบกได้เดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :-
 
  เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :-
บทความที่น่าสนใจ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
340 ลาดพร้าว 112 วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทร 0-2514-0593 แฟ็กซ์ 0-2538-4215 Email : [email protected]

Warning: include(../../main/globalsitemap.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185

Warning: include(): Failed opening '../../main/globalsitemap.php' for inclusion (include_path='.:/usr/lib/php:/usr/local/lib/php') in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185