"ทุนมาเลย์-สิงคโปร์"แห่กว้านซื้อสวนยาง สู้ราคาไม่อั้นยึดครองทำเลทอง4จังหวัดชายแดนใต้
ทุนมาเลย์-สิงคโปร์รุกหนัก แห่กว้านซื้อสวนยางพารา ยึดกุมพื้นที่เป้าหมายหลัก 4 จังหวัดแนวพรมแดนไทย-มาเลเซีย พร้อมกำเงินสดสู้ราคาไม่ยั้งไร่ละ 150,000-200,000 บาท ด้าน สกย.สงขลาระบุใช้เป็นฐานการผลิตและสำรองวัตถุดิบ ขณะที่เหตุการณ์ความไม่สงบทุบราคาสวนยางในยะลา ปัตตานี นราธิวาส ลดเหลือแค่ 4-5 หมื่นบาท/ไร่
เจ้าของสวนยางพาราที่จังหวัดสงขลาเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจการทำสวนยางพารามีความเคลื่อนไหวคึกคักมากขึ้น โดยพบว่า มีกลุ่มทุนจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์เข้ามากว้านซื้อสวนยางพาราจำนวนมาก พื้นที่เป้าหมายหลักคือในเขตพื้นที่อำเภอติดกับแนวพรม แดนไทย-มาเลเซีย ครอบคลุม 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยใช้ชื่อเป็น กลุ่ม และใช้ชื่อของบุคคลในพื้นที่ที่เป็นเจ้าของสวน พร้อมกับดูแลและรับจ้างกรีดยางให้ด้วย

|
"เมื่อเร็ว ๆ นี้กลุ่มทุนจากร้านอาหารในรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ได้เข้ามาซื้อสวนยางในพื้นที่จังหวัดสงขลาไปแล้ว ประมาณ 40 ไร่ ราคา 6 ล้านบาท หรือตกไร่ละประมาณ 150,000 บาท และทราบว่ายังเหลือเงินอีก 4 ล้านบาทที่กำลังเจรจาซื้อสวนยางเพิ่มอีก"
เจ้าของสวนยางรายนี้ยังกล่าวอีกว่า พื้นที่เป้าหมายที่กลุ่มทุนมาเลเซียต้องการซื้อมากในจังหวัดสงขลา คืออำเภอนาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย ส่วนอำเภออื่น ๆ ไม่ต้องการเพราะราคาสูง ส่วนที่จังหวัดปัตตานี ได้แก่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดยะลา ได้แก่ อำเภอยะหา กาบัง บันนังสตา ธารโต และเบตง จังหวัดนราธิวาส ได้แก่ อำเภอสุคิริน ศรีสาคร จะแนะ และอำเภอแว้ง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว หนาแน่นด้วยสวนยางพารา
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสต.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า การเข้ามากว้านซื้อที่ดิน ตึกแถว สวนผลไม้ สวนยางพาราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกลุ่มทุนชาวมุสลิมทั้งในพื้นที่ และจากประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ เริ่มมาประมาณ 5 ปีแล้ว แต่มีความต้องการมากตั้งแต่ปี 2553 จนถึงขณะนี้
สอดคล้องกับนายสุนันท์ นวลพรหมสกุล หัวหน้าสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางอำเภอสะเดา สำนักงาน สกย.เขต 2 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า การเข้ามาซื้อที่ดินในพื้นที่จังหวัดแนวพรมแดนไทย-มาเลเซีย มีจำนวนหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยตั้งกลุ่มเป็นบริษัท หรือมีตัวแทนเป็นผู้ซื้อในไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นฐานการผลิตป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมของกลุ่มตนเอง รวมทั้งยังเป็นการสำรองวัตถุดิบและประกันความเสี่ยงด้วย
"การเข้ามาซื้อสวนยางหรือที่ดินเพื่อปลูกยางพาราแนวพรมแดนไทย-มาเลเซีย เพราะอยู่ใกล้กับฐานการผลิต มีด่านเข้า-ออกไปยังประเทศมาเลเซียหลายด่าน เช่นที่จังหวัดสงขลามีถึง 3 ด่าน หรือที่ด่านประกอบ อำเภอนาทวี ก็จะอยู่ใกล้กับ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส"
นายสุนันท์ยังกล่าวอีกว่า การซื้อขายสวนยางพาราที่อยู่ติดกับถนนสายหลักของจังหวัดสงขลา ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 300,000 บาท/ไร่ หากอยู่ในซอยราคา 250,000 บาท/ไร่ ส่วนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 40,000-50,000 บาท/ไร่ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาสวนยางถูกลงเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นายสนิท ภิวัฒนกุล เจ้าของสวนยางพาราในพื้นที่จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ขณะนี้สวนยางพาราในจังหวัดพัทลุง ราคาประมาณ 200,000-220,000 บาท/ไร่ แต่เจ้าของสวนยางส่วนใหญ่ไม่มีการขายเพราะต้องการเก็บไว้เลี้ยงชีพ เนื่องจากราคายางดีมาตลอด หรือหากขายไปแล้วก็ไปหาซื้อสวนยางใหม่ได้ยากและมีราคาแพงขึ้นกว่าเดิมอีก
นสพ.ประชาชาติ |