กลาย เป็นประเด็นร้อน และชนวนขัดแย้งในสังคม หลังกฎหมายฉบับใหม่ของฝรั่งเศส ที่ห้ามสตรีมุสลิมสวมเครื่องแต่งกาย ชุดคลุมตั้งแต่ศีรษะจดเท้า แบบปกปิดใบหน้ามิดชิด ที่เรียกว่า “บุรกา” และ “นิกอบ” ในที่สาธารณะ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์ (11 เม.ย.) ที่ผ่านมา กลายเป็นประเทศแรกของโลก ที่ห้ามสตรีสวมชุดทั้ง 2 แบบดังกล่าว ในทุกแห่งที่เป็นที่สาธารณะ (ในรถยนต์ส่วนตัวไม่ห้าม) วันแรกก็เจอต่อต้าน ชาวมุสลิมและแนวร่วมราว 60 คน ชุมนุมประท้วงหน้าวิหาร โนเตรอะดาม ในกรุงปารีส รวมถึงผู้หญิง 3 คน ที่สวมชุดผ้าคลุมใบหน้า ซึ่ง 2 คนในจำนวนนี้ถูกตำรวจจับ และปรับคนละ 150 ยูโร (ประมาณ 6,500 บาท) ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งสองยอมเสียค่าปรับโดยไม่ขัดขืน เชื่อว่าการประท้วงจะยืดเยื้อ และอาจจะลามไปทั่วยุโรป เพราะมีหลายประเทศที่รัฐบาลกำลังเผชิญแรงกดดัน ให้ออกกฎหมายแบบเดียวกับฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี เบลเยียม อิตาลี หรือเนเธอร์แลนด์ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีประชาชนนับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก ฝรั่งเศสมีชาวมุสลิมมากกว่าประเทศอื่นในยุโรป ประมาณ 5 ล้านคน หรือเกือบ 10% ของประชากร 62 ล้านคนทั้งประเทศ ปี 2547 รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฎหมายห้ามสวมผ้าคลุมปิดใบหน้ามิดชิด ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมต้น (หมายถึงทั้งครูและนักเรียน) ซึ่งห้ามสวมหมวกครอบศีรษะแบบศาสนายิว ที่เรียกว่า “คิปปา” และไม้กางเขนขนาดใหญ่ของชาวคริสต์ด้วย กฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งผ่านการรับรองจากรัฐสภาเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ด้วยเสียงหนุนท่วมท้นถึง 335 ต่อ 1 เสียง ถูกโจมตีอย่างหนักจากกลุ่มผู้นำทางศาสนา และนักการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งกล่าวหาประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส เอาใจกลุ่มการเมืองชาตินิยมขวาจัด ก่อนถึงการเลือกตั้งใหญ่ ที่จะมีขึ้นในปีหน้า คู่มือบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้สำหรับตำรวจ ไม่ให้จับถอดผ้าคลุมใบหน้าผู้ฝ่าฝืน ต้องเชิญตัวไปที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด แล้วจึงขอให้ถอด และเปรียบเทียบปรับ แต่กฎหมายเอาโทษหนักผู้ที่ “บังคับ” ให้ผู้หญิงสวมผ้าคลุมใบหน้ามิดชิด ที่เข้าข่ายต้องห้ามตามกฎ หมาย จะต้องโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี และปรับอีก 15,000 ยูโร นายราชิด เนคกาซ ชาวฝรั่งเศสมุสลิม นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เรียกร้องสตรีมุสลิมในฝรั่งเศส ร่วมกันแสดงอารยะขัดขืน พร้อมกับประกาศขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ราคาประมาณ 2 ล้านยูโร เพื่อใช้เป็นทุนร่วมรณรงค์ และจ่ายค่าปรับแทน ผู้หญิงทุกคนที่ถูกจับและปรับ ฐานฝ่าฝืนกฎหมาย สวมชุดแบบบุรกาและนิกอบ ทางการฝรั่งเศสเชื่อว่า การต่อต้านฝ่าฝืนจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะชาวมุสลิมในประเทศราว 5 ล้านคน มีสตรีที่สวมชุดแบบต้องห้ามตามกฎหมายใหม่ประจำไม่ถึง 2,000 คน และผลสำรวจหลายรอบพบว่า ผู้นำชุมชนมุสลิมในประเทศจำนวนมาก ไม่สนับสนุนทั้งกฎหมายฉบับใหม่ และการสวมชุดต้องห้ามในที่สาธารณะ นายโคลด กูอองต์ รัฐมนตรีมหาดไทยฝรั่งเศส ยืนยันหนักแน่นว่า จะมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างเต็มที่ เพื่อแสดงถึงสังคมชาวฝรั่งเศส ที่ฆราวาสแยกจากศาสนา และชายหญิงเสมอภาคกัน |