สิ้นสุดอุดมการณ์ร่วม
ภาพชัยชนะของผู้ชุมนุมประท้วงชาวอียิปต์ที่ตะโกน โห่ร้องด้วยความดีใจที่ขับไล่ “ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค” ผู้นำเผด็จการหวงเก้าอี้ ลงจากตำแหน่งได้สำเร็จในวันที่ 11 ก.พ. ยังไม่ทันเลือนไปจากความทรงจำของคนทั่วโลก ก็เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ “รอบใหม่” ที่จัตุรัสทาห์รีร์ แต่ครั้งนี้เป้าหมายซึ่งผู้ชุมนุมต้องการขับไล่คือ “นายทหารใหญ่” ที่เคยเป็นแนวร่วมล้มล้างอดีตประธานาธิบดีมาด้วยกัน
สาเหตุ ที่ทำให้ประชาชนอียิปต์ลุกขึ้นต้านทหาร เกิดจากเหตุปะทะนองเลือดในวันที่ 9 เม.ย. ซึ่งกองกำลังรักษาความ มั่นคง ภายใต้บังคับบัญชาของ “โมฮัมเหม็ด ฮุสเซน ทันทาวี” ผู้รั้งตำแหน่งจอมพล รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และผู้นำรัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบัน ใช้อาวุธเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน ผลคือประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 ศพ และบาดเจ็บอีกกว่า 100 คน และผู้ชุมนุมที่โกรธแค้นพากันเผารถประจำทางและทรัพย์สินของ กองทัพเป็นการตอบโต้
ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่ในสังคมอียิปต์คาดหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้ง ใหญ่ในรัฐบาล หลังจากที่สามารถขับไล่อดีตผู้นำออกจากตำแหน่งได้ และคนบางกลุ่มเรียกร้องให้นำตัวมูบารัคและเจ้าหน้าที่รัฐบาล ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชันมาลงโทษ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีความคืบหน้าใดๆมากนัก
ในทางกลับ กัน ทหารและตำรวจกลับตามล่าและจับกุมบล็อกเกอร์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม และผู้สนับสนุนกลุ่มมุสลิมบราเธอร์ฮูด ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการชุมนุมขับไล่รัฐบาลมูบารัค ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ละเว้นที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ รัฐบาลรักษาการภายใต้การนำของทันทาวีเช่นกัน และประเด็นที่กลุ่มคนเหล่านี้โจมตีคือ การที่รัฐบาลรักษาการปล่อยให้มูบารัคลอยนวลหลบหนีความผิดไป ได้ และรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงความคืบหน้าเรื่องการปฏิรูปการปกครอง ใดๆให้กระจ่างชัด
เมื่อมีการนัดรวมตัวครั้งใหญ่ในวันที่ 8 เม.ย.จึงมีคนจำนวนมากออกมาชุมนุมกันที่จัตุรัสทาห์รีร์ แต่ต้องเผชิญกับการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงจากทหารหน่วยความ มั่นคง ซึ่งผู้ชุมนุมหลายรายยืนยันว่าทหารยิงกระสุนจริงเข้าใส่ฝูงชน และมีหลักฐานเป็นปลอกกระสุนที่หล่นเกลื่อนพื้นที่ชุมนุม
การ นองเลือดครั้งใหม่ในอียิปต์ทำให้หลายคนนึกถึงคำเตือนที่นัก วิเคราะห์ประเมินไว้ตั้งแต่กองทัพช่วยประชาชนขับไล่อดีตผู้นำ เมื่อ 2 เดือนก่อน ซึ่งระบุว่าทหารกับประชาชนมี “อุดมการณ์ร่วมกัน” คือการขับไล่มูบารัคที่ยึดกุมอำนาจมานานกว่า 30 ปี แต่เมื่ออำนาจบริหารประเทศและการคุม “ความสงบเรียบร้อย” ตกมาอยู่ในมือของกองทัพ ก็ไม่จำเป็นต้องประนีประนอมกับผู้ชุมนุมอีกต่อไป และการออกคำสั่งให้ใช้กำลังสลายการชุมนุมครั้งล่าสุดอาจเป็น เครื่องยืนยันได้ดี.
|