คัมภีร์โบราณอายุ 2,000 ปี สุดล้ำค่าทางประวัติศาสตร์แห่งโลกพุทธ
ก่อนที่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จดับขันปรินิพพาน ได้มีกระแสถึงพระอานนท์ ว่า หลังการปรินิพพานของพระองค์ พระธรรม คือคำสั่งสอนจะเป็นตัวแทนของพระองค์ผู้เป็นศาสดาเพื่อให้ผู้คนได้นำมาปฏิบัติเพื่อนำไปสู่เส้นทางการหลุดพ้น จวบจนวันนี้ 2,000 กว่าปี สิ่งที่พระองค์ได้ทิ้งไว้เป็นมรดกธรรมคือสัจธรรมที่เที่ยงแท้และจรรโลงให้โลกเกิดความผาสุกมาอย่างเนิ่นนาน
พระธรรมเจดีย์ อายุกว่า 2,000 ปี เป็นหนึ่งในพระไตรปิฎกโบราณที่มีความเก่าแก่ที่สุดที่เคยมีการค้นพบจากนักโบราณคดี และถือเป็นหลักฐานเอกสารที่มีการจดบันทึกจากพระอรหันต์ที่เคร่งในพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าจนบรรลุถึงทางสว่างแห่งธรรมสัจชีวิตและได้นำมาถ่ายทอดจดบันทึกเพื่อให้เป็นมดรกที่สำคัญที่เรียกว่าพระไตรปิฎก ซึ่งมีพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนให้เข้าใจและวางหลักในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขที่แท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งพระองค์ได้ตรัสไว้กับพระอานนท์ว่าพระพุทธอุปาฐก ถึงอนาคตแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นธรรมเจดีย์ ว่า “โย โว อานันทะ มะยา ธัมโม จะวินะโย จะ เทสิโต ปัญญัตโต โส โว มะมัจจะเยนะ สัตถา” แปลได้ว่า ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัย ที่เรา (ตถาคต) แสดงไว้แล้ว บัญญัติไปแล้ว จักเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเรา (ตถาคต) ล่วงลับไปแล้ว (มหาปรินิพพานสูตร) นั่นจึงหมายถึงพระไตรปิฎกจะเป็นตัวแทนแห่งพระองค์หลังดับขัน
200 ปี หลังจากพุทธปรินิพพาน พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งพระอรหันต์มัชฌันติกะประกาศ พระพุทธศาสนา ณ ดินแดน แคว้นคันธาระ ดินแดนส่วนหนึ่งในประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ซึ่งเดิมเคยเป็นสถานที่แห่งความเจริญในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะด้านประติมากรรมเป็นจุดกำเนิดในการก่อนสร้างพระพุทธรูปแห่งแรกของโลก ในหุบเขาบามิยัน ซึ่งอดีตเคยเป็นเส้นทางสายไหมจุดแยกสู่จีน อินเดีย ตะวันออกกลางและทรงได้ให้มีการสังคายนาด้านคำสอนร้อยกรองพระธรรมวินัย เป็นตัวอักษรในศตวรรษที่7 โดยใน เบื้องต้นพระอริยะสงฆ์ 500 รูป สังคยานาพระสูตร ชื่อว่าเทศศาสตร์หนึ่งแสนโศลก (บท) ต่อมาสังคยานาพระวินัย ชื่อว่าวินัยภาษาศาสตร์หนึ่งแสนโศลก และสังคยานาพระอภิธรรมปิฎก ชื่อว่าอภิธรรมวิภาษาศาสตร์หนึ่งแสนโศลก รวมเป็นสามสนโศกเก้าล้านหกแสนคำ ซึ่งพระเจ้ากนิษกะมหาราชสั่งให้จารึกอรรถกถาเหล่านั้นและยังมีการยืนยันจากจดหมายบันทึกของพระถังซัมจั๋ง พระนักเดินทางที่ต้องใช้เวลา 19 ปี ในการอัญเชิญพระไตรปิฎกจากอินเดียสู่จีนในพุทธศตวรรษที่ 12
และเส้นทางสายไหมคือสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในประวัติของพระพุทธศาสนา เพราะมีการสำรวจพบศาสนสถานของศาสนาพุทธและฮินดูเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 แห่ง เป็นหนึ่งในจุดศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในบริเวณนั้น ซึ่งศาสนาสถานที่สำคัญที่สุดบริเวณนั้นคือบริเวณเทือกบามิยัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระพุทธรูป 2 องค์ที่มีขนาดใหญ่ องค์แรก สร้างในช่วงปี พ.ศ.1050 (ค.ส.507) มีความสูง 38 เมตร และองค์ที่2 สร้างขึ้นในปีพ.ศ.1097 (ค.ส.554) มีความสูง 55 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักบนฝาผนังที่ใหญ่ที่สุดในโลก และคาดว่าเป็นการสร้างของพระเถระในยุคนั้น และเส้นทางนี้ยังเป็นเส้นทางที่พระสงฆ์จากจีนใช้เดินทางมุ่งหน้าสู่อินเดีย โดยในบันทึกของพระถังซัมจั๋งได้เดินทางไปชมพูทวีปในปี พ.ศ.1173 (ค.ศ.650) มีพระเถระได้เล่าถึงบามิยันว่ามีพระพุทธรูปเหลืองอร่ามไปด้วยทองคำ และมีพระสงฆ์กว่า 1,000 รูป จำวัดอยู่ มีเสียงสวดมนต์ก้องกังวานไปทั่วทั้งหุบเขา ซึ่งศาสนาพุทธจึงเจริญในดินแดนแห่งนี้ นี่เป็นอีกหนึ่งบันทึกที่สำคัญถึงความเจริญในพระพุทธศาสนาในยุคนั้น
ธรรมเจดีย์ ถูกซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาบามิยันมายาวนานกระทั่ง ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2539 ศาสตราจารย์ เจน โบรกวิก ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีแห่งศูนย์การศึกษาก้าวหน้า ประเทศนอร์เวย์ ได้เข้าร่วมประชุมวิชาการที่เมืองไลเดน ได้มีผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า แซม ฟอกก์ พ่อค้าของเก่าแห่งมหานคร ลอนดอน ได้มีการขายสินค้าจำนวน 108 ชิ้นที่คาดว่าจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญทางพระพุทธศาสนาให้แก่นักสะสมชาวนอร์เวย์ คือ มาติณ สเคอเยน ผอ.และเจ้าของสถาบันอนุรักษ์สเคอเยน จึงได้เข้าสอบถามและแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยได้ข้อมูลเพิ่มเติมและได้เข้าให้ ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์พบว่าเอกสารโบราณนั้นจากรึกด้วยอักษรสันสกฤต ในช่วงราว พ.ศ.540-940 เป็นคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ที่กล่าวถึงพระสูตร พระวินัย ตลอดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งบางเรื่องก็เป็นที่ทราบอยู่แล้วและอีกหลายเรื่องรางก็ไม่เคยปรากฏให้ได้รับรู้มาก่อน และถือเป็นเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดของพุทธศาสนาที่เคยมีมา เรียกรวมกันว่าม้วนคัมภีร์ตุ่มเดดซีของพระพุทธศาสนา หลังจากที่ เจน โบรกวิก รู้ถึงที่มาของพระคัมภีร์พุทธแล้ว ทางสถาบันอนุรักษ์สเคอยัน ได้พยายาม “ขนย้าย” พระคัมภีร์ที่เหลือไว้อออกมาจากพื้นที่ทุกรูปแบบเพื่อรักษาเอกสารสำคัญเหล่านั้นให้ได้หลังจากมีการต่อสู้กันของกลุ่มตาลีบาน ในประเทศอัฟกานิสถานมายาวนาน โดยกลุ่มตาลีบานใช้เวลา 6 วัน ในการระเบิดพระพุทธรูปทั้งสององค์ลงสำเร็จ ในปี พ.ศ.2544 โดยให้ความว่าการหลงเคารพศาสนาพุทธนั้นเป็นเรื่องที่ผิดหลักศาสนาอิสลาม แม้จะมีการขอคัดค้านจากนานาชาติเพื่อรักษาไว้เป็นมรดกโลกแต่ก็ไม่สำเร็จ ซึ่งการรวบรวบเอกสารที่ได้มามี 5,000 พันชิ้น ที่เป็นเป็นชิ้นส่วนของใบลาน เปลือกไม้ ที่เป็นชิ้นส่วนจนถึงแผ่นที่สมบูรณ์ และยังมีเศษที่กระจัดกระจายอีก 8,000 พันชิ้นส่วน แต่การสงครามเพื่อแย่งดินแดนยังคงมีต่อไปไปจนถึงการเข้ามาควบคุมสถานการของทหารจากนานาชาติ แม้พระพุทธรูปทั้ง 2 รูป ที่มีอายุ กว่า 1,600 ปี จะถูกทำลายลงแต่หลักฐานสำคัญนั้นสามารถผ่านวิกฤติทางการขัดแย้งของผู้คน รวมถึงเมื่อ 10 ปี ก่อนก็ยังเกิดเหตุแผ่นดินไหว จนทำให้มีสิ่งของต่างๆภายในถ้ำบามิยัน ตกกระจัดกระจายไปทั่วมาแล้วครั้งหนึ่งซึ่งเชื่อว่ามีพระคัมภีร์บางส่วนได้เสียหายและตกลงมาในเหตุการณ์นั้นด้วย เรียกว่าเส้นทางของการคงอยู่ของพระธรรมเจดีย์นั้นเสี่ยงต่อการสูญเสียมานับครั้งไม่ถ้วน
หลังการรวบรวมเอกสารพระคัมภีร์ ซึ่งได้ทำด้วยกระบวนการทางวิชาการแต่การชำระข้อความต่างๆ เป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากต้องใช้ผู้รู้จริงมาดำเนินการ การเริ่มชำระเรื่องราวต่างๆ นั้นเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 เป็นการสัมมนาทางวิชาการครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนและ ครั้งสุดท้ายคือครั้งที่สี่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2542 ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และมีการประชุมย่อยนับไม่ถ้วน และได้มีการจัดแปลและตีพิมพ์ไปบ้างแล้วบางส่วน เช่น เรื่องจังกีสูตร มหาปรินิพพานสูตร พระปาฎิโมกข์ ประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราช การค้นพบธรรมเจดีย์ พระคัมภีร์ โบราณจารึกพระพุทธพจน์ ซึ่งมีคุณค่าอย่างมาก ซึ่งระยะเวลาการชำระพระคัมภีร์ทั้งหมด กว่า 12 ปี นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า การอัญเชิญธรรมเจดีย์ คัมภีร์พุทธศาสนาโบราณเก่าแก่อายุกว่า 2,000 ปี มหาเถรสมาคม ได้มีมติให้มีการอัญเชิญธรรมเจดีย์ มาจัดแสดงในวันสำคัญ เนื่องในเทศกาล วันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2553 แต่ก็เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมือง คณะรัฐมนตรีได้มีมติประชุมให้วันที่ 19 ตุลาคม 2553 ให้กำหนดให้มีการอัญเชิญธรรมเจดีย์จากประเทศนอร์เวย์มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวใน ระหว่างวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 จนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจัดงานขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคลและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา และเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ที่มีมายาวนาน ตั้งสมัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์แห่งทวีปเอเชียพระองค์แรกที่เสด็จไปยังแหลมเหนือ นอร์ดแคปป์ และชาวนอร์เวย์รู้จักพระองค์ ว่า “King Chalalongkorn of siam”
นายกนก แสนประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานพุทธมณฑล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลและคณะสงฆ์ไทยได้อัญเชิญธรรมเจดีย์ คัมภีร์พุทธศาสนาโบราณอายุยาวนานกว่า 2,000 ปีมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ราชอาณาจักรไทย ที่อาคารพิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา พุทธมณฑล เพื่อเป็นสิริมงคล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554 โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้สักการบูชาและชมนิทรรศการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.30น. ถึง เวลา 18.00 น. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชาอย่างกว้างขวางทั่วถึง รัฐบาลและคณะสงฆ์ไทยได้ขยายเวลาสักการบูชาธรรมเจดีย์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปไปจนกระทั่งถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 ทุกวัน
การคณะสงฆ์ รัฐบาลไทย ได้ประสานขอขยายเวลาในการจัดแสดง ธรรมเจดีย์ ถือว่าเป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจต่อกันในการแสดงความสัมพันธ์อันดี แต่ที่นอกเหนือจากนั้นคนไทยต่างหากที่จะได้เห็นกับสิ่งหนึ่งในมหัศจรรย์แห่งโลกธรรม เช่นธรรมเจดีย์ ที่ต้องฟันฝ่าจากทั้งภัยสงครามและภัยธรรมชาตินับครั้งไม่ถ้วนแต่วันนี้จากแรงบันดาลใจของผู้คนในยุคก่อนได้ส่งเสียงมาถึงผู้คนในยุคปัจจุบันว่า พระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะยังคงเป็นสัจธรรมที่นิรันดร์ หากท่านที่สนใจได้เข้าไปชมนิทรรศการครั้งนี้ที่ทุ่มทุนนับ 200 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งประวัติต่างๆ รวมถึงการรวบรวมพระไตรปิฎกของแต่และประเทศในชาติแห่งพุทธเชื่อว่าทุกคนจะได้รับความประทับใจอย่างไม่รู้ลืมในรสพระธรรมชานุ แสงเพ็ญ/นครปฐม
นสพ.บ้านเมือง |