หมวดหมู่
หน้าหลัก       ยินดีต้อนรับสู่มุสลิมไทย โพสต์
 
พิมพ์หน้านี้  |  ส่งให้เพื่อน
ข่าวภาคใต้วันนี้ กระตุ้น เศรษฐกิจ ชายแดนใต้หนทางสร้างพลังชุมชนดับไฟ

กระตุ้น'เศรษฐกิจ'ชายแดนใต้หนทางสร้างพลังชุมชนดับไฟ

ภาณุ อุทัยรัตน์รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

ปัญหาชายแดนภาคใต้ยังคงประสบกับความรุนแรงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง คนร้ายที่ออกมาตอบโต้การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐมีวิธีการหลากหลายรูปแบบ ทั้งการใช้คาร์บอมบ์จุดชุมนุมของประชาชน การยิงกราดใส่พระสงฆ์หรือชาวบ้าน แม้กระทั่งการบุกยิงเจ้าของร้านทองเสียชีวิต สิ่งเหล่านี้คือความรุนแรงที่ผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ไม่ต้องการให้เกิด แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่หวังร้ายต่อประเทศและถิ่นกำเนิดก่อขึ้นมาอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายหรือบาปกรรมทางจิตใจ

การบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การดูแลของรัฐบาล มีการกำหนดหน่วยงานศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขึ้น เพื่อให้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ปี 2550 ภายใต้แนวคิด ศอ.บต. เป็นเพื่อนเก่าที่กลับมาแล้ว และนำนโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแปลงสู่การปฏิบัติ ใช้กลไกของหน่วยราชการฝ่ายพลเรือนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้ขับเคลื่อนใน 2 มิติ คือ มิติการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และมิติด้านการวางรากฐานในการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนครอบคลุมทุกมิติ

การทำงานกว่า 30 ปี ได้สัมผัสปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด จึงกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า "ชายแดนใต้สันติสุข ไทยเข้มแข็ง" เพื่อแก้ไขปัญหาในรูปแบบการพัฒนามิติใหม่ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเชื่อว่าหากนำความสันติสุขมาสู่พื้นที่ชายแดนใต้ได้ประเทศไทยก็จะเข้มแข็งต่อไป

เราใช้ยุทธศาสตร์หลัก "3 ข." คือ 1.สร้างความแข็งแรง 2.สร้างความเข้มแข็ง และ 3.สร้างความเข้าใจ โดยยุทธศาสตร์แรกเราต้องทำให้คนในพื้นที่ทุกครอบครัวมีความแข็งแรง ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษา สุขอนามัย เศรษฐกิจ เป็นต้น และเมื่อคนในครอบครัวแข็งแรงแล้วเราจำเป็นต้องทำให้หมู่บ้านชุมชนเข้มแข็งด้วยวิถีการพัฒนาโดยอาศัยประชาคมในพื้นที่ รวมถึงการอำนวยความยุติธรรมอย่างเต็มที่

ประชาคมในพื้นที่เปรียบได้กับ 4 เสาหลัก คือ แกนของคณะกรรมการหมู่บ้าน เรามีส่วนผู้นำท้องที่ ปราชญ์ ผู้อาวุโส ผู้นำสตรี ผู้นำเยาวชน มีฝ่ายรักษาความปลอดภัย ช่วยกันคิด ช่วยกันปลุก ให้ทุกคนช่วยกันคิด ให้ทุกคนรู้จักที่จะออกความคิดเห็น หลังจากที่ครอบครัวแข็งแรงกับชุมชนเข้มแข็งแล้ว สิ่งสุดท้าย คือ ประชาชนไทยต้องทำความเข้าใจ หมายถึงเราจะเน้นหนักเรื่องการประชาสัมพันธ์พี่น้องมุสลิม 1.8 ล้านคนในพื้นที่กับอีกกว่า 6.8 ล้านคนทั่วประเทศ คือคนไทยด้วยกัน เราจำเป็นต้องเชื่อมโยงและทำความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง

สำหรับเรื่องการให้ความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังจากที่เราใช้ยุทธวิธีบันได "3 ช." คือ "ช่วย" ชาวบ้าน นำมาสู่การ "ชอบพอ" พัฒนาจนเป็นความ "เชื่อใจ" เป็นวิธีการที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกที่ดีต่อเจ้าหน้าที่ ทำให้เขาเชื่อว่าเราลงไปช่วยเขาจริงๆ จนเกิดความไว้วางใจเชื่อถือศรัทธา อันจะนำมาซึ่งข้อมูลเบาะแสต่างๆ ที่เกี่ยวกับข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทั้งหลาย การแก้ไขปัญหาไม่สามารถใช้กำลังบังคับให้คนพื้นที่มาเป็นพวกเราได้ แต่ต้องให้ความช่วยเหลือดูแลเป็นห่วงกันอย่างจริงใจจนทำให้เขารู้สึกเองว่าเราเป็นพวกเขาจริงๆ คำว่ายุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร คือ รัฐบาลจะไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาแน่นอน

ปีนี้รัฐบาลได้น้อมนำพระราชดำรัส เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา มาดำเนินการแก้ปัญหาด้วย ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเข้าใจ อย่างเข้าถึง นำไปสู่ผลการพัฒนากระบวนการต่างๆ ไปแล้วอย่างเป็นรูปธรรมเห็นได้ชัดเจน คือ เศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2553 มีการพัฒนาเรื่องการยกระดับรายได้ของครัวเรือนเป้าหมายประมาณ 87,000 ครอบครัวที่เป็นเกษตรกรยากจน และอีกกว่า 1,400 ครอบครัวที่ประกอบอาชีพอื่น มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 64,000 บาท เราทำให้เขามีรายได้มากขึ้น และปีใน 2555 จะทำให้มีรายได้ 120,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

การให้โอกาสกับคนในพื้นที่ผลิตสินค้าชุมชน หรือสินค้าโอท็อป ออกมาจำหน่ายก็เป็นแนวทางการพัฒนาอย่างหนึ่ง เมื่อสินค้ามีคุณภาพดีเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการต้องเร่งสนับสนุน แต่สิ่งที่สำคัญของสินค้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือจะต้องส่งเสริมเรื่องของการตลาด เพราะการที่เราจะรอให้ลูกค้ามาหาซื้อของนั้นเป็นไปได้ยากเนื่องจากปัญหาความไม่สงบยังมีอยู่

วิธีการส่งเสริมสินค้าต้องเอาของไปหาคน จัดเทศกาลสินค้าดีชายแดนใต้ ไปตามภูมิภาคใหญ่ๆ ทั่วประเทศ โดยเราให้โอกาสผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบมากเป็นพิเศษ เพราะเรามีผู้ที่ได้รับผลกระทบกว่า 23,000 คน โดยอยู่ในพื้นที่ 18,000 คน เราทำหน้าที่คอยดูแลเอาใจใส่คนกลุ่มนี้ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เราจะส่งเสริมทุกด้านให้กลุ่มคนเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราจะนำสินค้าดีสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ อาทิ เครื่องแต่งกายของพี่น้องชาวมุสลิมมาจำหน่าย ภายใต้แนวคิด "ซื้อของดีชายแดนใต้ ได้ของ ได้ใจ" มันเป็นมูลค่าเพิ่มทางจิตใจจริงๆ ที่คนไทยเราช่วยกันเองในภาวะวิกฤติ

สำหรับสินค้าที่ผลิตได้นั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นของใช้อุปโภคบริโภคทั่วไป ไม่ได้มีความโดดเด่นหรือหรูหรามากเป็นพิเศษ มักใช้แรงงานคน ฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ผสมผสานกันไปเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือเป็นฝีมือของกลุ่มคนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งเราในฐานะข้าราชการและประชาชนทั่วไป จะเป็นแรงสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วยการอุดหนุนสินค้าเพื่อเป็นแรงใจในการต่อสู้ชีวิตและวิกฤติต่างๆ ที่ยังต้องเผชิญกันอยู่

ที่ผ่านมาในแต่ละภูมิภาคได้มีการจัดเทศกาลสินค้าดีชายแดนใต้ จนได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี มีรายได้ต่องานไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และยังมีคู่มิตรทางการค้าซึ่งสั่งซื้อยอดสินค้าเพิ่มเติมด้วย และยังขยายตลาดสินค้าของดีชายแดนใต้ไปยังต่างประเทศ ตามโครงการ 100 ร้านค้า สู่ 100 ล้านบาท โดยเฉพาะที่ประเทศมาเลเซีย ได้รับการตอบรับที่ดีมาก

หากทุกอย่างดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะยากเย็นในการดับไฟใต้.

ที่มา นสพ.ไทยโพสต์

 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :-
 
  เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :-
บทความที่น่าสนใจ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
340 ลาดพร้าว 112 วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทร 0-2514-0593 แฟ็กซ์ 0-2538-4215 Email : [email protected]

Warning: include(../../main/globalsitemap.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185

Warning: include(): Failed opening '../../main/globalsitemap.php' for inclusion (include_path='.:/usr/lib/php:/usr/local/lib/php') in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185