การระเบียบโลกใหม่ปี 2020 :ผลกระทบและการปรับตัว
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้และตอนหน้า ผมอยากจะฉายภาพกว้างๆ ว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง คือ ระเบียบโลกใหม่ในปี 2020 จะเป็นอย่างไร จะมีผลกระทบอะไรบ้าง และไทยเราจะต้องเตรียมรับมืออย่างไร
ระเบียบโลกในยุคหลังสงครามเย็น
จริงๆ แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า หลายๆ เรื่องจะเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และจะวิวัฒนาการต่อไป เพราะฉะนั้น หากเราต้องการรู้อนาคต เราต้องย้อนกลับไปดูอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็น ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็น มี 3 เรื่องใหญ่เกิดขึ้น * ขั้วอำนาจโลก : เปลี่ยนจาก 2 ขั้วมาเป็น 1 ขั้ว เป็นระบบหนึ่งขั้วอำนาจ กลายเป็นอเมริกาที่ผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก
* โลกาภิวัตน์ (globalization) : เกิดยุคโลกาภิวัตน์ในยุคหลังสงครามเย็น เศรษฐกิจโลก การค้าโลก ขยายตัวเป็นหนึ่งเดียว ทุนนิยมโลกก็ขยายตัว การเงิน ข้อมูลข่าวสาร ทุกอย่างกลายเป็นโลกาภิวัตน์หมด โลกกลายเป็นโลกใบเดียวหลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง
และสิ่งที่เป็นผลจากโลกาภิวัตน์อีกเรื่อง คือ การเกิดขึ้นขององค์การระหว่างประเทศ ที่ในอดีตอาจไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไร แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา องค์การระหว่างประเทศมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง UN WTO IMF รวมถึงองค์กรในระดับภูมิภาค เช่น EU ASEAN องค์กรเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะโลกมีโลกาภิวัตน์มากขึ้น ประชาคมโลกต้องร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลก
* ความขัดแย้ง : เรื่องที่ 3 ที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และจะต่อยอดออกไปในอีก 10 ปีข้างหน้า คือ ความขัดแย้ง สงคราม ซึ่งไม่ได้หมดไป หลายๆ คนในช่วงสงครามเย็นสิ้นสุดใหม่ๆ คิดว่า ต่อไปนี้โลกเราจะมีแต่สันติภาพ แต่ในที่สุดก็เกิดความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นความขัดแย้งและสงครามที่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างคอมมิวนิสต์กับทุนนิยมอีกต่อไป แต่ความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ในยุคหลังสงครามเย็น กลายเป็นความขัดแย้งที่มีสาเหตุหลักมาจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หลังสงครามเย็น สงครามในรูปแบบใหม่ก็ปะทุขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่สงครามบอสเนีย โคโซโว ความขัดแย้งในคาบสมุทรบอลข่าน สงครามในเทือกเขาคอเคซัส สงครามแบ่งแยกดินแดนของชาว Kurd สงครามในอัฟกานิสถาน และปากีสถาน ก็เป็นสงครามที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มศาสนาหัวรุนแรง นอกจากนี้ อินเดีย แคชเมียร์ ศรีลังกา พม่า ก็มีสงครามชนกลุ่มน้อย และสงครามชาติพันธุ์ และไทย ก็มีปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นเดียวกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสงครามในรูปแบบใหม่ที่เป็นสงครามชาติพันธุ์และศาสนา ได้ปะทุขึ้นทั่วโลก
ระเบียบโลกในปัจจุบัน
สำหรับระเบียบโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีลักษณะสำคัญดังนี้
* การก่อการร้าย : หลังจากปี 2001 ระเบียบโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอีก มีเรื่องใหม่เกิดขึ้น คือ การก่อการร้ายสากล โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 ทำให้ปัญหาการก่อการร้ายกลายเป็นปัญหาในระดับโลก และสหรัฐที่เป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกต้องเผชิญกับศัตรูตัวใหม่ คือ กลุ่มก่อการร้ายสากล ทำให้ 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐต้องวุ่นอยู่กับสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และปัญหาการก่อการร้ายก็แพร่ขยายกระจายไปทั่วโลก เป็นการจุดประกายความขัดแย้งทางอารยธรรมและศาสนาระหว่างตะวันตกกับอิสลาม และเป็นการจุดประกายให้กลุ่มหัวรุนแรงในโลกมุสลิม ที่ตีความศาสนาอิสลามโดยมองว่า ตะวันตกชั่วร้าย และจะต้องทำสงครามศาสนากับตะวันตก จะต้องทำให้โลกมุสลิมกลับมา บริสุทธิ์อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการขจัดอิทธิพลของตะวันตกให้ออกไปจากโลกมุสลิมให้หมด
เหตุการณ์ 11 กันยาฯ จึงเป็นการเปิดศักราชใหม่ ความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิมทำให้สหรัฐเลือดเข้าตา บุกยึดอัฟกานิสถาน และบุกยึดอิรัก แต่การใช้ไม้แข็งของสหรัฐก็ทำให้โลกมุสลิมยิ่งโกรธแค้นสหรัฐมากขึ้น ชาวมุสลิมก็เข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายมากขึ้น เพราะมองว่า สหรัฐกำลังทำสงครามศาสนาเพื่อจะยึดครองโลกมุสลิม
* มหาอำนาจใหม่ : เรื่องที่ 2 ที่ผมมองว่าเป็นเรื่องที่โดดเด่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ คือ กลุ่ม BRIC ซึ่งย่อมาจาก Brazil, Russia, India, China เป็นกลุ่ม มหาอำนาจใหม่ ที่เริ่มผงาดขึ้นมาอย่างชัดเจน ก่อนหน้านี้จีนก็ดูธรรมดา ไม่ได้ดูน่ากลัวอะไร แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนผงาดขึ้นมาแรงมาก ทำให้เกิดแนวโน้มของความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน
* กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ และความขัดแย้งเหนือ-ใต้ : อีกเรื่องที่สำคัญมากที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ การเกิดกระแสสวนกลับ ในช่วงหลังสงครามเย็นเกิดกระแสโลกาภิวัตน์ขึ้น แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็เกิดกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ขึ้น โดยเฉพาะหลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เริ่มมีการมองว่า โลกาภิวัตน์ดีจริงหรือ การเปิดเสรีทางการค้า และ FTA ดีจริงหรือ การเปิดเสรีทางการเงินดีจริงหรือ เริ่มมีกระแสต่อต้าน และชะลอกระบวนการโลกาภิวัตน์ลง จึงนำไปสู่ความขัดแย้งในรูปแบบใหม่เกิดขึ้นในระเบียบเศรษฐกิจโลก คือ ความขัดแย้งเหนือ-ใต้ ระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศรวยกับประเทศจนก็ขัดแย้งกันอย่างหนัก โดยเฉพาะในเวที WTO ในการเจรจารอบโดฮา ประเทศรวยก็รวมกลุ่มกัน ประเทศจนก็รวมกลุ่มกัน แล้วก็งัดข้อกันจนตกลงอะไรกันไม่ได้ ทำให้การเจรจารอบโดฮาทำท่าว่าจะล่ม
เช่นเดียวกับการเจรจาภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน เมื่อปลายปี 2010 ก็กลายเป็นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ระหว่างประเทศรวยที่พัฒนาแล้วและเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นตัวก่อปัญหาภาวะโลกร้อน กับประเทศจนที่รวมกลุ่มกันกดดันให้ประเทศรวยลดก๊าซเรือนกระจกลง แต่ประเทศรวยก็ไม่ยอม เพราะเศรษฐกิจจะเสียหายหนัก การเจรจาจึงล้มเหลว
ความขัดแย้งระหว่างประเทศรวยกับประเทศจนดังกล่าว เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกใหม่ ที่ในอดีตประเทศรวยได้ครอบงำเศรษฐกิจโลกทั้งหมด แต่ปัจจุบัน เมื่อประเทศจนมารวมตัวกันมากขึ้น อำนาจการต่อรองก็มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจการต่อรองของกลุ่มประเทศจนได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการผงาดขึ้นมาของ จีน อินเดีย และบราซิล ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่ และประเทศมหาอำนาจใหม่เหล่านี้ก็ประกาศว่า ประเทศตนยังเป็นประเทศจน จึงเข้าร่วมกับประเทศจน ทำให้กลุ่มของประเทศจนมีอำนาจการต่อรองเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และสามารถงัดข้อและต่อกรกับประเทศรวยได้
* การผงาดขึ้นมาของเอเชีย : ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของระเบียบโลกในปัจจุบัน คือ การผงาดขึ้นมาของเอเชีย ซึ่งมาแรงมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การผงาดขึ้นมาของเอเชียรวมถึงการผงาดขึ้นมาของจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และอาเซียน กลุ่มนี้กำลังมาแรงมาก และแน่นอนว่า ในอนาคตจะมีบทบาทอย่างมากต่อระเบียบโลกใหม่ เพราะฐานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฐานเศรษฐกิจ กำลังจะย้ายฐานจากตะวันตกมาตะวันออก และเอเชียจะกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อระเบียบโลกในอนาคต.
(โปรดติดตามอ่านตอนจบในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนหน้า ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2554) |