ดูเหมือนเป็นการผจญภัยที่ยาวนานกลางหลุมพรางทะเลทราย เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีมติให้กองกำลังนานาชาติเข้าโจมตีลิเบีย ในกระแสเซ็งแซ่ของชาวโลกเกี่ยวกับผลประโยชน์บ่อน้ำมัน และการตัดสินใจอันรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ ทำเอา พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี โจทก์สำคัญแสดงท่าทีแข็งกร้าวหลังจากระเบิดลูกแรกมาเยือนฐานทัพของตน เช่นเดียวกับอนาคตอันกำกวมของชายผู้กุมอำนาจลิเบียว่าจะจบแบบไหน?
มีหลายคนคาดการณ์ว่าเขาอาจจบเหมือน “ซัดดัม 2” ในกงเล็บของพญาอินทรี หรือทางกลับกันอาจต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เหมือน “บิน ลาเดน 2” แต่ที่แน่ ๆ “กัดดาฟี” ไม่เคยเป็นสองรองใครในแนวทางอนุรักษนิยมของชนชาติอาหรับ และถือเป็นจุดอ่อนอันนำไปสู่การโค่นบัลลังก์กลางทะเลทรายให้สั่นคลอน
“กัดดาฟี เป็นคนที่พยายามรณรงค์ให้กลุ่มประเทศอาหรับพูดภาษาท้องถิ่นของตน และยึดขนบธรรมเนียมในแบบโลกมุสลิมเคร่งครัด เขาแสดงออกอย่างชัดเจนในการไม่ชอบชาติตะวันตก เห็นได้จากนักเรียนที่ส่งไปเรียนต่างประเทศไม่มีใครถูกส่งไปเรียนในอเมริกา นั้นกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไม่รู้เขารู้เรา”
ดร.วิศรุต เลาะวิถี หัวหน้าภาควิชาอิสลามศึกษา ม.รังสิต วิเคราะห์ถึงผู้นำซึ่งกำลังถูกรุกไล่
เป็นที่แน่นอนว่า การโจมตีลิเบียครั้งนี้จะกินเวลาในการรบอย่างยืดเยื้อ เห็นได้จากสัญญาณประชาชนในประเทศ ที่กลุ่มต่อต้านบางส่วนเริ่มหันมาสนับสนุน “กัดดาฟี” ในการป้องกันประเทศ หากมองภาพรวมของกลุ่มประเทศอาหรับที่มีการประท้วงอย่างแพร่หลาย แต่ลิเบียต่างออกไปจากการประท้วงใน ตูนิเซีย, อียิปต์ เนื่องจากมองในภาพรวมประชาชนลิเบียมีรายได้ที่สูงกว่าหลายชาติ ขณะที่ “กัดดาฟี” ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ส่วนผู้ต่อต้านก็เป็นเรื่องที่ผู้นำซึ่งอยู่มานานต้องยอมรับ และมีการตั้งข้อสังเกตถึงการประท้วงในหลายพื้นที่อาจมีกลุ่มคนต่างชาติเข้ามาสนับสนุน อย่างลับ ๆ
หากวิเคราะห์ถึงภูมิประเทศในการรบกองกำลังนานาชาติอาจนำเรือรบเข้ามาโจมตีบริเวณชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนและยึดครองพื้นที่ในลิเบียริมชายฝั่งได้ แต่สำหรับพื้นที่ในทะเลทรายที่มีอยู่กว้างขวางการรบภาคพื้นของทหารฝ่ายนานาชาติจะได้รับความเสียหายอย่างหนัก เพราะไม่ว่าอย่างไร “กัดดาฟี” จะไม่มีวันหนีออกนอกประเทศ เนื่องจากโดยนิสัยส่วนตัวเป็นคนมุ่งมั่นและไม่ยอมสยบกับอะไรง่าย ๆ
ถ้ามองถึงการยุติสงครามครั้งนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากทหารนานาชาติได้ทำการโจมตีอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพอมีทางที่สันนิบาตชาติอาหรับจะเข้ามาเป็นตัวแทนในการเจรจาของทั้งสองฝ่ายเพื่อยุติศึกครั้งนี้ แต่สิ่งที่อาจเป็นอีกตัวแปรสำคัญคือท่าทีของรัสเซียและจีน ที่ทำให้ชาติอาหรับหลายประเทศที่ไม่เห็นด้วยต่อการโจมตีครั้งนี้เตรียมจะแสดงทีท่าไม่เห็นด้วยออกมาอย่างชัดเจน
“ถ้ามองการลงมติในการโจมตีครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่รวดเร็ว และที่ผ่านมามีบทเรียนอย่างอิรักที่คนทั้งโลกยังจดจำถึงมติของนาโตในการโจมตีเนื่องจากอ้างว่ามีอาวุธนิวเคลียร์สะสมไว้ แต่หลังจากสงครามในอิรักจบลงทหารที่เข้าไปสำรวจก็ไม่พบอาวุธร้ายแรงอย่างที่อ้าง นั้นแสดงถึงการตัดสินใจผิดพลาดและทำให้ประเทศในโลกอาหรับเห็นถึงพฤติกรรมอย่างชัดเจน”
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในสงครามครั้งนี้จะเห็นว่าการจะโจมตีประเทศใดมหาอำนาจต้องมองถึงการคุ้มทุนเพราะอาวุธที่ใช้ในการสู้รบต้องใช้เงินในการซื้อทั้งนั้น ดังนั้น การลงมติอย่างรวดเร็วอาจเป็นผลจากการมองว่าในลิเบียมีทรัพยากรที่สามารถครอบครองได้จะได้ทุนคืน และที่สำคัญมีบ่อน้ำมันขนาดใหญ่เทียบเท่าซาอุดีอาระเบีย และเป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศในแอฟริกาหรือตะวันออกกลางที่ไม่มีบ่อน้ำมันจะเป็นประเทศที่ยากจนและไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจ
สำหรับภาพ “กัดดาฟี” ที่ออกมาส่วนใหญ่จากสื่อตะวันตกจะเป็นคนก้าวร้าวหัวรุนแรง ซึ่งนั้นถือเป็นจุดอ่อนของสื่อไทยที่ยังไม่ค่อยให้พื้นที่กับสื่อที่อยู่ในโลกอาหรับ เห็นได้จากที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงโลกอิสลามสื่อไทยมักพูดถึงในมุมแคบ ๆ ดังนั้นสื่อเองควรมีมุมมองในการวิเคราะห์ทั้งสองด้านจากตะวันตกและโลกอาหรับ เช่นเดียวกันประชาชนที่ติดตามสื่อเองก็ควรวิเคราะห์จากการเสพสื่อให้หลากหลายและพยายามขมวดปมความคิดอย่างวิเคราะห์โดยไม่เชื่อการชักนำของสื่อ
“บทสรุปสุดท้ายสงครามในลิเบีย กัดดาฟี อาจถูกยิงเสียชีวิต แต่สำหรับเขาไม่มีวันหนีจะสู้ยิบตาเนื่องจากถ้ายอมแพ้ก็ต้องได้รับโทษไม่ต่างกัน แต่ที่แน่ ๆ ถ้าชาติตะวันตกเข้ามาครอบครองลิเบียได้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแอฟริกาเพราะอย่างน้อยได้จัดการกับหนามยอกอกที่ต่อต้านมาตลอดด้วยแนวคิดอนุรักษนิยม เมื่อนั้นชาติตะวันตกจะมีแผนครอบงำผู้นำประเทศอื่น ๆ อย่างไรต้องคอยดู”
เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์หลังสงครามครั้งนี้จบว่าประเทศมหาอำนาจเมื่อได้เข้าไปครอบครองจะมีการจัดสรรผลประโยชน์ในบ่อน้ำมันกันอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าประเทศที่มีน้ำมันไม่มีผลทำให้ราคาในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมากนัก แต่ประเทศที่เป็นผู้กำหนดราคาในตะวันตกมีโอกาสปั่นราคาน้ำมันให้สูงมากกว่า ซึ่งเมื่อมีบ่อน้ำมันและกำหนดราคาได้เองทุกอย่างก็อยู่ในมือ ไม่แน่อนาคตอันใกล้คนไทยอาจได้ใช้น้ำมันที่มีราคาแพงมากขึ้นอีกก็ได้
ขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลไทยมีมติสนับสนุนมหาอำนาจในการโจมตีลิเบียอาจส่งผลถึงแรงงานไทยที่ไปทำงานในหลายประเทศของโลกอาหรับ ดังนั้นควรมีการชะลอและที่สำคัญควรมีการปรึกษากับหลายชาติในอาเซียนถึงการแสดงท่าที เนื่องจากที่ผ่านมาการตัดสินใจของนาโตก็มีความผิดพลาด แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไทยตัดสินใจโดยไม่ดูถึงท่าทีชาติอื่นในอาเซียน ซึ่งอย่างน้อยการรวมกลุ่มกันย่อมมีพลังป้องกันการคุกคามที่จะตามมาของประเทศที่ไม่พอใจได้ ขณะเดียวกันหากไทยสนับสนุนปัญหาในภาคใต้อาจมีทีท่าว่าจะรุนแรงมากขึ้น
หากมองในภาพรวมการปฏิวัติในโลกอาหรับส่วนใหญ่เกิดในประเทศที่มีประธานาธิบดีปกครอง แต่สำหรับประเทศที่มีพระมหากษัตริย์มักไม่มีการประท้วง เนื่องจากระบบประธานาธิบดีที่ผ่านมามีการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับครอบครัวของตน
สิ่งที่น่าจะเป็นการป้องกันการเกิดสงครามได้ในอนาคตประเทศมหาอำนาจเองควรมีระบบการลงโทษผู้นำที่ตัดสินใจดำเนินสงครามที่ผิดพลาด โดยไม่มีเหตุผลด้านจริยธรรมในการเข้าไปช่วยเหลือมากพอ ซึ่งการแทรกแซงอำนาจการปกครองในลิเบียครั้งนี้ย่อมมีผลต่อประเทศผู้สนับสนุนไม่มากก็น้อย
สำหรับพญาอินทรีซึ่งบินอยู่บนผืนฟ้า ด้วยท่าทีน่าเกรงขามและไม่ใช้กรงเล็บตะปบเหยื่ออย่างพร่ำเพรื่อ จึงทำให้พวกมันจัดอยู่ในยอดของห่วงโซ่อาหาร เช่นเดียวกันต้องติดตามมวลหมู่พญาอินทรีในสงครามลิเบียหลังเหตุการณ์สงบว่าพวกเขาจะมาด้วยเกียรติหรือความหิวโซอย่างฝูงแร้ง!!?.
@@@@@
ปมในใจ 'กัดดาฟี'
พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี เมื่ออายุได้ 14 ปี ในปี ค.ศ. 1956 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับ ได้ก่อให้เกิดความสำนึกทางการเมืองแก่กัดดาฟี เนื่องจากปีนั้น นัสเซอร์ ผู้นำแห่งอียิปต์ได้โอนคลองสุเอชเป็นของรัฐ ยังผลให้อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอล ยกทัพบุกอียิปต์ กัดดาฟีได้จัดตั้งกลุ่มนักเรียนขึ้นเพื่อสนับสนุนนัสเซอร์ ผู้เป็นวีรบุรุษของเขา
กัดดาฟี เคลื่อนไหวทางการเมือง จนถูกไล่ออกจากโรงเรียนต้องจ้างครูมาสอนที่บ้านจึงเรียนจบ เมื่ออายุได้ 19 ปี เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยที่แบงกาซี ตามแบบนัสเซอร์ เมื่อเป็นนักเรียนนายร้อยกัดดาฟี ค่อย ๆ ปลูกฝังความคิดในเรื่องชาตินิยมอาหรับแก่เพื่อนชั้นเดียวกัน จัดตั้งขบวนการนายทหารเสรีในวัยหนุ่ม เพื่อปฏิวัติโค่นราชบัลลังก์ฟารุค
เมื่อจบจากโรงเรียนนายร้อยแล้ว กัดดาฟีได้เป็นนายทหารในกองทัพบก และทำงานใต้ดินติดต่อกับเพื่อน ๆ นายทหารของตน บรรดานายทหารที่ร่วมวางแผนปฏิวัติ
กัดดาฟี อายุได้ 24 ปี ถูกส่งไปศึกษาต่อวิชาสื่อสารที่ประเทศอังกฤษ 6 เดือน ต่อมาใน ปี ค.ศ. 1969 ก็ได้เป็นร้อยเอก ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งนายทหารคนสนิทผู้บัญชาการกองพลน้อยทหารสื่อสาร และในปีเดียวกันนั้นเอง กัดดาฟีกับคณะนายทหารของเขา จึงได้ตกลงใจกันที่จะยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลระบบกษัตริย์ของลิเบีย ซึ่งลิเบียในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นแหล่งดึงดูดมหาอำนาจตะวันตก เพราะได้มีการค้นพบบ่อน้ำมัน ในปี ค.ศ. 1959 ชนชั้นปกครองร่ำรวยมหาศาล บริษัทต่างประเทศเข้ามาขอสัมปทานน้ำมัน