 |
|
ส่งเรือรบหลวงสุโขทัยช่วยนักท่องเที่ยว
พล.ร.ท.วิฑูรย์ คัมภีระพันธ์ ผบ.ทัพเรือภาคที่ 2 เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากนายก อบต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งต้องการเดินทางออกจาก เกาะเต่า แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากคลื่นลมแรงและเรือโดยสารหยุดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางกองทัพเรือจึงได้จัดส่งเรือหลวงสุโขทัย เข้าให้การช่วยเหลือเพื่อขนย้ายนักท่องเที่ยว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเข้าใกล้เกาะได้ เนื่องจากคลื่นลมแรงจนไม่สามารถปล่อยเรือเล็กลงไปรับนักท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ตามหากพายุฝนลดลงคาดว่าเรือหลวงสุโขทัยจะสามารถปฎิบัติภารกิจได้
ทางด้านนายภานุ วรมิตร ผอ.ททท.สำนักงานสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ล่าสุดได้รับรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ต้องการเดินทางออกจากเกาะอย่างน้อย 1,000 คน โดยที่ เกาะเต่า มีประมาณ 300 คน โดยหนึ่งในนั้นมีดาราสาวชื่อดัง ซึ่งเดินทางไปร่วมงานเปิดโลกใต้ทะเลเกาะเต่ารวมอยู่ด้วย ส่วนที่เกาะพะงัน จำนวน 200 คน และ ที่ อ.เกาะสมุยจำนวน 5-600 คน ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนนี้ไม่ได้บุ๊คเดินทางด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ซึ่งตนกำลังประสานไปยังกองทัพเรือ ในการนำเรือรบเข้าไปรับนักท่องเที่ยวทั้ง 3 เกาะ ให้มาขึ้นฝั่งที่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
ไฟเขียวลูกจ้างน้ำท่วมหยุดงานได้
ที่กระทรวงแรงงาน นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงสถานประกอบการที่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ ว่า ขณะนี้มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพัทลุง โดยจังหวัดนครศรีธรรมราชมีสถานประกอบกิจการน้ำท่วม 12 แห่ง จังหวัดสุราษฏร์ธานี 15 แห่ง ส่วนจังหวัดพัทลุงยังไม่มีรายงานแจ้งจากสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปว่าประสบกับปัญหาน้ำท่วม แต่มีลูกจ้างประมาณร้อยละ 30 ไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ ทั้งนี้กสร.ได้ออกประกาศขอความร่วมมือนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานโดยที่ไม่ถือเป็นวันลาและไม่เป็นความผิด หากลูกจ้างมาทำงานไมได้ ขอให้คณะกรรมการความปลอดภัยร่วมมือกับนายจ้างในการตรวจสอบเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยในสถานประกอบการ และให้สหภาพแรงงาน สภาองค์กรลูกจ้าง สภาองค์กรนายจ้าง และผู้ประกอบการ ปรึกษาหารือร่วมกันในการแก้ปัญหาดังกล่าว
คนคอนกว่า2แสนเดือดร้อน
ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เกิดขึ้น 7 จังหวัด 63 อำเภอ 316 ตำบล 2,763 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 310,406 ครัวเรือน 979,665 คน มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช น้ำท่วมในพื้นที่ 22 อำเภอ 143 ตำบล 1,152 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 63,292 ครัวเรือน 202,715 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 114,824 ไร่ ถนนเสียหาย 665 สาย มีผู้เสียชีวิต 6 ราย อำเภอที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอเมือง ลานสกา ร่อนพิบูลย์ พระพรหม พิปูน เฉลิมพระเกียรติ หัวไทร จุฬาภรณ์ ชะอวด ขนอม สิชล นบพิตำ ปากพนัง พรหมคีรี ท่าศาลา ถ้ำพรรณรา ช้างกลาง เชียรใหญ่ ฉวาง นาบอน ทุ่งใหญ่ และทุ่งสง
11 อำเภอพัทลุงจมชาวบ้านน้ำดับ1
ด้าน จ.พัทลุง น้ำท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ 63 ตำบล 563 หมู่บ้าน 45 ชุมชน ราษฎรเดือดร้อน 161,417 ครัวเรือน 508,738 คน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย อำเภอที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง เขาชัยสน ควนขนุน กงหรา ศรีบรรพต บางแก้ว ป่าพะยอม ศรีนครรินทร์ ป่าบอน ตะโหมด และปากพยูน
น้ำป่าถล่ม503หมู่บ้านสุราษฎร์
นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า จ.สุราษฎร์ธานี เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 13 อำเภอ 76 ตำบล 503 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 49,676 ครัวเรือน 187,603 คน มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 6,800,000 บาท อำเภอที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ดอนสัก กาญจนประดิษฐ์ ไชยา เวียงสระ ท่าชนะ บ้านนาสาร บ้านนาเดิม คีรีรัฐนิคม เกาะสมุย วิภาวดี พุนพิน และท่าฉาง จ. ตรัง เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 5 อำเภอ 34 ตำบล 106 หมู่บ้าน และ 3 เทศบาล ราษฎรเดือดร้อน 1,720 ครัวเรือน 5,520 คน อำเภอที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง ห้วยยอด รัษฎา นาโยง และย่านตาขาว
ชุมพร-สงขลา-กระบี่ฝนถล่มยับ
นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า จ.ชุมพร เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 7 อำเภอ 1 เทศบาลเมือง 37 ตำบล 320 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 12,635 คน 37,045 ครัวเรือน ถนน 246 สาย พื้นที่การเกษตร 1,242 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 30,904,00 บาท อำเภอที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอเมืองชุมพร สวี หลังสวน ละแม พะโต๊ะ ทุ่งตะโก และปะทิว จ.สงขลา เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ 14 ตำบล 73 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 9,3758 ครัวเรือน 28,144 คน อำเภอที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอระโนด และกระแสสินธุ์ จ. กระบี่ เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ 7 ตำบล 47 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 3,250 ครัวเรือน 9,750 คน อำเภอที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอเขาพนม ลำทับ และเกาะลันตา
ทางหลวง5สายจว.ใต้ใช้การไม่ได้
นายวิบูลย์ ยังกล่าวด้วยว่า จากการประสานข้อมูลเส้นทางจราจรที่มีน้ำท่วมขังกับกรมทางหลวง พบว่า มีน้ำท่วมขังเส้นทางจราจรไม่สามารถผ่านได้ 5 สาย ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย 1. นครศรีธรรมราช 2 สาย ได้แก่ สาย 4186 โรงเหล็ก-กรุงชิง ท้องที่อำเภอนบพิตำ กม.1-2 คอสะพานขาดที่ กม.1 กม.5 สาย 4189 ท่าพุด- เขาหลวง ท้องที่อำเภอนบพิตำ กม.1-4 เป็นแห่งๆทางขาด ที่ กม.5 2. ตรัง 1 สาย ได้แก่ สาย 4270 ห้วยยอด-พัทลุง ท้องที่อำเภอห้วยยอด ดินสไลด์ปิดทับคันทาง ที่ กม. 29-30 ให้ใช้ทางหลวงชนบทแทน 3. ชุมพร 1 สาย ได้แก่ สาย 4006 ราชกรูด-หลังสวน ท้องที่อำเภอหลังสวน น้ำท่วมสูง 100 ซม. ที่กม. 54-55 ไม่มีสายทางทดแทน 4. ระนอง 1 สาย ได้แก่ สาย 4 กะเปอร์-คลองกำพวย ท้องที่อำเภอกะเปอร์ น้ำกัดเซาะทางที่ กม.670 ให้ใช้ถนนหมู่บ้านบางหินแทน
นายวิบูลย์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช และสนามบินเกาะสมุย ไม่สามารถเปิดใช้การได้ ส่วนสถานีรถไฟนครศรีธรรมราช ไม่สามารถเข้า-ออก สถานีได้ เนื่องจากยังมีน้ำท่วมสันรางสูงกว่า 10 ซม.เป็นระยะ ๆยาว 120เมตร ซึ่งรถไฟสายใต้ ให้บริการได้ถึงสถานีจังหวัดชุมพร
บางกอกแอร์เวย์-รพ.กรุงเทพ ตั้งศูนย์รับบริจาค
รายงานข่าวจากสายการบินบางกอกแอร์เวย์ร่วมกับเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้” ขึ้นที่สำนักงานใหญ่สายการบินบางกอกแอร์เวย์ ถนน วิภาวดีรังสิต โดยเปิดรับบริจาคเงิน และเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อส่งไปบรรเทาทุกข์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ประสบอุทกภัย นอกจากนี้สายการบินบางกอกแอร์เวย์ยังได้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบภัย จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือชาวบ้าน โดยใช้จังหวัดสุราษฏร์ธานีเป็นศูนย์กลางในการกระจายความช่วยเหลือต่าง ๆ โดยบางกอกแอร์เวย์พร้อมส่งเครื่องบินลำเลียงสิ่งของที่ได้รับบริจาคผ่านมาทางสำนักงานของบางกอกแอร์เวย์ในจังหวัดต่างๆที่ทำการบินอยู่ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย ตราด ไปยังสนามบิน จ.สุราษฏร์ธานี ส่วนทางเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ร่วมบริจาคเงินและสิ่งของมูลค่ารวม 10 ล้านบาท และส่งเฮลิคอปเตอร์ไปประจำที่สนามบินสุราษฏร์ธานี เพื่อช่วยลำเลียงสิ่งของบริจาคเข้าไปในพื้นที่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในครั้งนี้ รวมทั้งลำเลียงผู้ป่วยหนักส่งไปยังโรงพยาบาลกรุงเทพที่ สมุย ภูเก็ต และหัวหิน
มรภ.สุราษฎร์ให้โอกาสสอบรอบ 2
ผศ.ประสงค์ หลำสะอาด ผอ.สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคใต้ กำหนดสอบคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าศึกษาต่อเป็นนักศึกษาภาคปกติ ประจำปีการศึกษา 2554 เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าได้ในช่วงวันดังกล่าวได้เกิดอุทกภัยในเขตจังหวัดภาคใต้ทำให้มีนักเรียนส่วนหนึ่งไม่สามารถมาทำการสอบได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือและให้โอกาสแก่นักเรียนได้เข้าศึกษาต่อ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีจึงอนุญาตให้นักเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ไม่สามารถมาทำการสอบในวันดังกล่าวได้ ให้มาสอบในวันที่ 8 เม.ย.นี้ เวลา 09.00-12.00 น. หรือหากมีข้อสงสัยสอบถามที่โทรศัพท์หมายเลข 077-913333 ต่อ 215
|