หมวดหมู่
หน้าหลัก       ยินดีต้อนรับสู่มุสลิมไทย โพสต์
 
พิมพ์หน้านี้  |  ส่งให้เพื่อน
ข่าวลิเบีย เส้นทางสามแพร่งที่ ลิเบีย หลังยุทธการฮุบบ่อน้ำมัน

เส้นทางสามแพร่งที่"ลิเบีย"หลังยุทธการฮุบบ่อน้ำมัน

คมชัดลึก : ยุทธการ "โอดิสซี ดอว์น" ที่เปิดฉากโดยฝูงเครื่องบินรบสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ และอิตาลี ที่ปูพรมถล่มฐานที่มั่นทางทหารในลิเบียกำลังทำให้เป็นที่หวาดวิตกไปทั่วโลกว่า จะลุกลามบานปลายมาสู่สงครามขนาดใหญ่ และทำให้ราคาน้ำมันพุ่งทะลุเพดานแค่ไหน
 พ.อ.ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง วิเคราะห์ความเป็นไปได้ถึงแนวโน้มของสมรภูมิลิเบียว่าจะทำให้สหรัฐอเมริกาติดหล่มสงครามเหมือนในอิรัก และอัฟกานิสถานหรือไม่ รวมทั้งจะส่งผลต่อเสถียรภาพราคาน้ำมันโลกในระยะยาวอย่างไร
 พ.อ.ดร.ธีรนันท์มองปฏิบัติการปูพรมทางอากาศที่นำโดยสหรัฐ และประเทศในกลุ่มนาโตว่า เป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของของกลุ่มประเทศตะวันตก เพราะประเทศมีบ่อน้ำมันจำนวนมาก แต่ละประเทศที่ส่งกำลังเข้าไปก็ล้วนแต่บริโภคน้ำมันของลิเบียทั้งนั้น
 "สหรัฐซื้อน้ำมันจากลิเบียประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนฝรั่งเศสกับอิตาลีซื้อน้ำมันจากลิเบียประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อังกฤษ เยอรมนี และสเปน ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หากราคาน้ำมันขึ้นลงมากๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อประเทศดังกล่าว"
 เมื่อแต่ละประเทศล้วนพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันจากลิเบียเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศในยุโรป จึงเป็นตัวเร่งให้มีการโจมตีลิเบียเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่าแต่ละประเทศจะส่งกำลังเข้าไปในลิเบียหรือไม่
 โดยเฉพาะสหรัฐที่มีขีดความสามารถในการส่งกำลังทหารออกไปนอกประเทศในจำนวนมากๆ ก็มีท่าทีที่ไม่ชัดเจน ขณะที่หลายประเทศที่ร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ก็ไม่มีขีดความสามารถเพียงพอในการส่งกำลังในระยะทางไกลๆ สักเท่าใดนัก
 นอกจากนี้ คำถามที่จะตามมา คือ การทิ้งระเบิด หรือการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายทางภาคพื้นดินไม่สามารถกำหนดชัยชนะหรือนำไปสู่จุดความได้เปรียบได้
 ฉะนั้น ความยุ่งยากจะตามมาหลังจากนี้ เพราะมีทางเลือกในการปฏิบัติการหลายทาง เช่น พยายามทำให้ พ.อ.กัดดาฟี ลงจากตำแหน่งให้เร็วที่สุด หรือจะเข้าไปจับตัว หรือเข้าไปสังหาร
 "ถ้าทำไม่ได้โดยเร็วเหตุการณ์ก็จะยืดเยื้อ และส่งผลกระทบถึงราคาน้ำมันทั่วโลก หรืออาจนำไปสู่แนวร่วมมุมกลับ ซึ่งจากเดิมกลุ่มประเทศอาหรับ หรือกลุ่มสันนิบาตอาหรับก็ยังไม่มีเอกภาพเท่าไหร่ โดยเฉพาะหลังจากเกิดการปฏิวัติดอกมะลิ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ตรงนี้ก็อาจจะทำให้กลุ่มสันนิบาตอาหรับกลับมารวมตัวกันอย่างมีเอกภาพอีกครั้ง" พ.อ.ดร.ธีรนันท์ระบุ
 พ.อ.ดร.ธีรนันท์ย้ำว่า เมื่อกลุ่มอาหรับสามารถรวมตัวกันได้แล้ว อาจจะมีการดำเนินการใดๆ เพื่อตอบโต้ชาติตะวันตก ซึ่งหากสู้กันทางอำนาจทางทหารไม่ได้ก็อาจจะมาในรูปของการ "ก่อการร้าย" แพร่กระจายไปทั่วโลก
 พ.อ.ดร.ธีรนันท์มองแนวโน้มของเหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคตได้ 3 ทาง คือ ทางที่ดีที่สุด ทางออกแบบกลางๆ และทางที่เลวร้ายที่สุดดังนี้
 1.ทางที่ดีที่สุด คือ สถานการณ์ยุติได้โดยเร็ว ทุกอย่างกลับมามีเสถียรภาพเหมือนเดิม และราคาน้ำมันกลับมาสู่จุดที่ควรจะเป็น
 2.ทางเลือกแบบกลางๆ คือ สถานการณ์ยังไม่ยุติ แต่ก็ไม่ลุกลามบานปลายออกไป ปัญหาก็จะยังคงคาราคาซังอยู่แบบนี้ เป็นแบบทรงๆ ทรุดๆ ไม่มีใครได้เปรียบ สถานการณ์การสู้รบจะยืดเยื้อยาวนาน และราคาน้ำมันก็จะแกว่งตัวมากขึ้น
 3.ทางที่เลวร้ายที่สุด คือ นำไปสู่ "สงครามขนาดใหญ่" หรือการประกาศ "สงครามศาสนา" ซึ่งในหลายประเทศมีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแกนนำชาติสำคัญ และมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมาก
 "กลุ่มอาหรับจะมีความเชื่อมโยงทางเชื้อชาติ และศาสนาสูง และโดยพื้นฐานก็มีความไม่พอใจในชาติตะวันตกอยู่แล้ว เพราะเห็นว่าชาติตะวันตกเข้าไปแสวงผลประโยชน์ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้อาจจะทำให้กลับมารวมตัวกัน”
 พ.อ.ดร.ธีรนันท์ชี้ถึงความยุ่งยากที่ทำให้ปฏิบัติการในลิเบียยืดเยื้อก็คือ ความไม่เป็นเอกภาพของชาติใหญ่ๆ ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เช่น จีน และรัสเซีย ที่ไม่ได้ยกมือสนับสนุน ขณะที่เยอรมนี และอินเดีย ก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย
 เหตุผลที่ประเทศเหล่านี้ไม่เห็นด้วย นอกจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับพลเรือนหลังการโจมตีทางอากาศแล้ว ประเทศเหล่านี้ยังคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย เพราะมีมูลค่าการค้าขายกับกลุ่มอาหรับเป็นจำนวนมาก
 ขณะที่เศรษฐกิจของแต่ละประเทศเอง ทั้งสหรัฐ และยุโรปก็ไม่ค่อยดี ยกตัวอย่างจรวดโทมาฮอว์กลูกหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 22 ล้านบาท ไม่นับรวมการนำเรือรบออกไปลอยลำ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายมหาศาล เฉพาะค่าน้ำมัน 1 ชั่วโมงก็ปาเข้าไปหลายแสนบาทแล้ว
 ส่วนกองทัพสหรัฐก็ยัง "ไม่พร้อม" สำหรับการส่งกำลังทางบกเข้าไป เพราะความบอบช้ำจากสมรภูมิในอิรัก และอัฟกานิสถาน ซึ่งมีการส่งกำลังทหารเข้าไปประเทศละ 9 หมื่นนาย และมีตัวเลขของทหารที่บาดเจ็บ และเสียชีวิตอย่างมหาศาล
 "ในปฏิบัติการแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายมหาศาล ฉะนั้น ประเทศเหล่านี้จะลงทุนโจมตีลิเบียเพื่ออะไร ถ้าอ้างว่าเป็นการลงทุนเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน แต่เหตุใดถึงไม่ส่งกำลังเข้าไปเหมือนลิเบีย"
 คำถามอันแหลมคมของ พ.อ.ดร.ธีรนันท์น่าจะนำไปสู่คำตอบได้ไม่ยาก หากพิจารณาจากทรัพยากร "น้ำมัน" ในลิเบีย และสัดส่วนการบริโภคน้ำมันสัญชาติลิเบียของประเทศมหาอำนาจต่างๆ ที่กำลังรุมกินโต๊ะลิเบียอยู่ทุกวันนี้

ทีมข่าวความมั่นคง
 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :-
 
  เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :-
บทความที่น่าสนใจ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
340 ลาดพร้าว 112 วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทร 0-2514-0593 แฟ็กซ์ 0-2538-4215 Email : [email protected]

Warning: include(../../main/globalsitemap.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185

Warning: include(): Failed opening '../../main/globalsitemap.php' for inclusion (include_path='.:/usr/lib/php:/usr/local/lib/php') in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185