|
โลกอาหรับลุกฮือ ต้านยูเอ็น จี้เลิกถล่มลิเบีย |
|
|
โลกอาหรับลุกฮือ ต้านยูเอ็น จี้เลิกถล่มลิเบีย
ฉะสหรัฐบอมบ์ พลเรือนตายอื้อ ถล่มศูนย์รบราบ มุ่งเด็ดหัวกัดดาฟี 86ไทยปลอดภัย
 ไว้อาลัย - กลุ่มผู้สนับสนุนกัดดาฟี รวมตัวยืนไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของชาติพันธมิตร ที่กรุงตริโปลี ขณะที่ผู้นำลิเบีย ประกาศกร้าวพร้อมรบยืดเยื้อ ด้านที่ประชุมสันนิบาตอาหรับแถลงจี้ให้หยุดทิ้งบอมบ์ถล่มลิเบียทันที เพราะเป็นปฏิบัติการเกินเลยมติยูเอ็น ทั้งยังมีพลเรือนเสียชีวิตด้วย เมื่อ 21 มี.ค.
|
ทัพพันธมิตรระดมยิง"โทมาฮอว์ก"ระลอก 2 ถล่มเป้าหมายต่างๆ ในลิเบียกองบัญชาการพ.อ.กัดดาฟีในกรุงตริโปลีโดนระเบิดพังยับ เจ้าตัวโผล่โวยตกเป็นเป้าสังหารโหด ด่ากราดสหรัฐกับพวกคือจักรวรรดินิยมนาซีใหม่ "กาตาร์"เป็นอาหรับชาติแรกส่งบินรบร่วมบอมบ์กัดดาฟี "อียู"ลงดาบคว่ำบาตรทางศก.ซ้ำ ด้าน "อินเดีย-สันนิบาตอาหรับ" ประสานเสียงเรียกร้องให้หยุดโจมตีลิเบียทันทีเพราะมีผู้บริสุทธิ์ต้องตายไปด้วย "ปูติน"จวกมติยูเอ็นเท่ากับปลุกผีสงครามครูเสดขึ้นมาอีกครั้ง "บัวแก้ว"ระบุแรงงานไทยที่ยังเหลืออยู่ในลิเบียปลอดภัยดีและพร้อมพาอพยพ นักวิชาการดังชี้สงครามครั้งนี้ส่อเค้ายืดเยื้อ ไม่จบง่ายเหมือนสมัยสหรัฐบุกอิรัก คาดน้ำมันแพงขึ้นแน่ๆ
จากกรณีรัฐบาลสหรัฐอเมริกา พร้อมชาติพันธมิตรในทวีปยุโรป อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี รวมถึงแคนาดา ฯลฯ เปิดฉากปฏิบัติการทางทหาร "โอเปอเรชั่น โอดิสซีย์ ดอว์น" เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ทำสงครามโจมตีทางอากาศยิงจรวดโทมาฮอว์กนับร้อยลูกและทิ้งบอมบ์ถล่มประเทศลิเบีย ชาติมุสลิมในแอฟริกาเหนือ เพื่อบังคับใช้คำสั่งเขตห้ามบินตามมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ซึ่งมติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ป้องกันไม่ให้พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำเผด็จการลิเบีย ส่งเครื่องบินรบและใช้กำลังทหารสังหารประชาชนฝ่ายต่อต้านและกลุ่มกบฏ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนและรัสเซีย 2 มหาอำนาจในคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังทหารโค่นล้มกัดดาฟี ขณะที่กัดดาฟีประกาศสู้ตาย พร้อมรบยืดเยื้อและติดอาวุธให้ประชาชน
คนไทยในลิเบียปลอดภัย
เมื่อเวลา 12.15 น. วันที่ 21 มี.ค. ที่กระ ทรวงการต่างประเทศ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประ เทศ จัดแถลงข่าวพร้อมกับนายสุพจน์ บุญเจริญ ผอ.กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ถึงความคืบหน้าสถานการณ์การสู้รบในลิเบีย ว่า ได้ประสานให้ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงตริโปลี เมืองหลวงลิเบีย ติดต่อไปยังคนไทย 86 คน แบ่งเป็น 35 คนในกรุงตริโปลี, 15 คนในเมืองเบงกาซี ส่วนที่เหลือกระจัดกระจายอยู่ ในจำนวนดังกล่าวเป็นแรงงาน 40 คน ซึ่งก่อนหน้าการอพยพนั้นไม่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยว่าจะเปลี่ยนใจหรือไม่ โดยหากต้องการเดินทางกลับไทยทางกระทรวงยังมีเจ้าหน้าที่อยู่ที่เมืองซาลูม ประเทศอียิปต์
"สำหรับแผนการอพยพอาจอพยพออกมาทางบกเข้าสู่ประเทศตูนิเซียและอียิปต์ แต่ในชั้นนี้ยังไม่มีผู้ใดแจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับไทย และยังไม่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เนื่องจากเป้าหมายที่ถูกโจมตีเป็นเป้าหมายทางทหารเท่านั้น" นายธานีกล่าว
ต้องปฏิบัติตาม"มติยูเอ็น"
นายสุพจน์กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้ามีญาติของแรงงานไทยที่อยู่ในลิเบียติดต่อมายังศูนย์ติดต่อแรงงานไทยที่ญี่ปุ่น กระทรวงแรงงาน โทรศัพท์ 1694 ว่าต้องการให้แรงงานดังกล่าว 14 คน เดินทางกลับไทย จึงประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ ติดต่อผ่านไปยังสถานทูตไทยเพื่อสอบถามความประสงค์ของแรงงานไทยใน ลิเบียแล้ว
เมื่อถามถึงท่าที่ของรัฐบาลไทยต่อมติดังกล่าว ของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ซึ่งใช้ความรุนแรงระงับความรุนแรงในลิเบียนั้น นายธานีกล่าวว่า ในฐานะสมาชิกยูเอ็นไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม แต่หวังว่าเหตุการณ์รุนแรงจะคลี่คลายโดยเร็ว และทุกฝ่ายจะให้ความดูแลพลเรือนโดยเฉพาะชาวต่างชาติตามหลักมนุษย ธรรม ส่วนการที่ทางการไทยจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการทางทหาร นายธานีระบุว่า การดำเนินการนั้นเป็นในส่วนของประเทศที่พร้อมเท่านั้น
นายธานีแถลงว่า มติคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นครั้งนี้ไม่ใช่ฉบับแรกเกี่ยวกับเรื่องลิเบีย โดยก่อนหน้านี้เคยมีมาแล้ว 1 ฉบับเกี่ยวกับเรื่องการอายัดทรัพย์สินของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องของลิเบีย รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรการขายอาวุธ แม้จะไม่เกี่ยวกับไทยโดยตรง แต่ก็จำ เป็นต้องปฏิบัติตามในฐานะสมาชิกยูเอ็น
จับตาปฏิกิริยาโลกอาหรับ
นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีสหรัฐนำชาติพันธมิตรเปิดฉากโจมตีทำสงครามกับลิเบีย ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้สหรัฐอ้างว่าทำตามมติยูเอ็น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น ทำให้โลกอาหรับมองว่าสามารถใช้อำนาจของยูเอ็นเข้ามาแทรกแซงได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าความชอบธรรมของรัฐบาลกัดดาฟีมีอยู่แค่ไหน ทั้งนี้ การที่ยูเอ็นออกมติเปิดช่องให้ชาติตะวันตกใช้อาวุธ ใช้กำลังทหารเข้าไปจัดการ อาจทำให้ปัญหายุ่งยากไปอีกแบบหนึ่ง จะไม่ใช่แค่การต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่อต้านกับรัฐบาล แต่จะโยงไปถึงมหาอำนาจ หรือรัฐบาลภายนอกด้วย
นายสุรชาติวิเคราะห์ว่า ส่วนการที่จีนและรัสเซียออกมาต่อต้านปฏิบัติการนี้จะทำให้เกิดการแบ่งแยกในเวทีโลกอีก เพราะถ้าสหรัฐใช้อำนาจอย่างที่อ้างก็จะยิ่งไปเพิ่มอำนาจให้สหรัฐมีบทบาทในด้านอื่นๆ ไปเรื่อย สิ่งที่น่าติดตามคือโลกอาหรับจะยอมรับข้ออ้างของสหรัฐได้เพียงใด และผลสืบเนื่องต่อจากนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงการปกครองในลิเบียได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็เท่ากับการแทรกแซงของยูเอ็นไม่ได้เกิดผล และอาจจะทำให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมา ตนมองว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อ เพราะสหรัฐใช้กำลังขนาดใหญ่เข้าไปล้มรัฐบาลกัดกาฟีไม่ได้เหมือนที่ทำกับซัดดัม ฮุสเซน (อดีตผู้นำอิรัก) ทำได้เพียงควบคุมเขตต่างๆ หรือเขตห้ามบินบางส่วน
ชี้โค่น"กัดดาฟี"ได้ก็ไม่จบ
นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์สาขา การเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรม ศาสตร์ ระบุว่า ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการแทรกแซงลิเบียอย่างแน่นอน แต่ข้อถกเถียงของสหรัฐ และชาติพันธมิตร คือ นี่เป็นการเข้าไปคุ้มครองผู้ที่ต่อต้านกัดดาฟีในลิเบีย แต่คำถามคือวิธีการนี้สุดท้ายแล้วจะส่งผลอย่างไรทั้งต่อลิเบียเอง ต่อโลกอาหรับ และความสัมพันธ์ระหว่างโลกมุสลิมกับประเทศตะวันตก หากเปรียบเทียบลิเบีย กับอียิปต์ บาห์เรน ประเทศเหล่านี้อยู่ในเครือข่าย อยู่ใต้อิทธิพลของประเทศตะวันตก เพราะสหรัฐเคยให้ความช่วยเหลือมาก่อน แต่ลิเบียเป็นประเทศที่อยู่นอกอำนาจควบคุมของฝรั่ง เมื่อเป็นเช่นนี้อิทธิพลที่จะมีต่อการเปลี่ยนแปลงภายในลิเบียจึงต่างกัน เมื่อมีการใช้กำลังทหารจึงน่าเป็นห่วง
 1-รังกัดดาฟี - ชาวเมืองตริโปลี มุงดูอาคารที่เชื่อว่าเป็นทั้งที่พักและศูนย์บัญชา การของกัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ซึ่งถูกสหรัฐและพันธมิตรยิงขีปนาวุธโทมาฮอว์กถล่มจนพังยับ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.
2-ฮือไล่ - นายบัน คีมุน เลขาฯ ยูเอ็น ถูกกลุ่มสนับสนุนนายกัดดาฟี โห่ไล่พร้อมฮือเข้ามาจะทำร้าย ที่จัตุรัสทาฮ์รีร์ กรุงไคโร ระหว่างเยือนอียิปต์ เพื่อตอบโต้กรณียูเอ็นอนุมัติการโจมตีลิเบีย
3-โต้กลับ - ฝ่าย ต่อต้านรัฐบาลลิเบียที่เมืองเบงกาซีโต้กลับ โดยเคลื่อนกำลังหวังยึดเมืองอัจดาบิยาห์คืน หลังได้รับการสนับ สนุนทางอากาศจากชาติพันธมิตรตะวันตก แต่ยังยึดไม่สำเร็จ
|
"กรณีลิเบียอาจเหมือนกับอิรัก ที่แม้สงครามจะจบแล้ว แต่ก็ยังไม่เกิดเสถียรภาพในประเทศ นอกจากนี้ การที่ลิเบียมีทรัพยากรน้ำมันเต็มไปหมด อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สหรัฐและประเทศตะวันตกทั้งหลายรู้สึกว่ายอมให้ลิเบียดำเนินการตามที่ต้องการไม่ได้ ส่วนจีนและรัสเซียที่ออกมาคัดค้านก็คงมีน้ำหนักอยู่บ้าง แต่คงทำอะไรไม่ได้ เพราะการโจมตีเกิดเริ่มขึ้นแล้ว ปัญหาไม่ใช่แค่การโจมตีจะจบลงเร็วหรือช้า แต่ผมมองว่าการใช้ความรุนแรงมีต้นทุนสูง ถึงแม้จะขับไล่กัดดาฟีออกไปได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะจบ เพราะผลของความรุนแรงจะยังมีต่อไปอีกยาวนาน" นายชัยวัฒน์กล่าว
แรงงานวอนรัฐช่วยเหลือ
สำหรับตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแรง งานไทยในลิเบีย นายทองแดง ชราแสง หนึ่งในแรงงานไทยที่ต้องอพยพหนีการสู้รบออกจากลิเบียกลับมาอยู่ที่บ้านใน ต.ยอดแกง อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ดูจากข่าวโทรทัศน์พบว่าที่ลิเบียเกิดความรุนแรงอีกครั้ง ซึ่งตนเห็นแล้วนึกภาพเมื่อครั้งก่อนได้ เพราะตอนนั้นความรุนแรงเกือบทำให้เอาชีวิตไม่รอดกลับมาเมืองไทย เงินทั้งหมดถูกปล้นรวมถึงทรัพย์สินต่างๆ สถานการณ์ไม่แตกต่างกับบ้านป่าเมืองเถื่อน น่ากลัวมาก พอกลับมาได้สิ่งที่คิดได้คือไม่เอาอีกแล้ว ไม่อยากไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายที่อื่นถ้าจะตายยังไงขออยู่บ้านตัวเองดีกว่า
"สิ่งที่จะวอนขอคือต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ เพราะกลับมาจากต่างประเทศไม่มีงานทำเหมือนคนว่างงานตกงาน อยากให้เข้ามาดูแลเรื่องอาชีพ ส่งเสริมอาชีพหาอาชีพให้ นอกจากนี้ยังต้องการเรื่องของเงินทุนเพราะเงินทุนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะตอนกลับมาจากลิเบียหมดตัว เงินลิเบียที่มีมันก็ไร้ค่าไปแล้ว" นายทองแดงเผย
ทั้งนี้ เฉพาะใน จ.กาฬสินธุ์ มีแรงงานเดินทางไปขายแรงงานที่ลิเบียกว่า 250 คน ใน 18 อำเภอ
ตร.คุ้มกันสถานทูตตามปกติ
พล.ต.ท.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล (ผบช.ส.) เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุสหรัฐและชาติพันธมิตรเข้าไปช่วยเหลือประชาชนผู้ต่อต้านรัฐบาลในประเทศลิเบียนั้น เบื้องต้นมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่น่าห่วง และไม่น่าจะมีผลกระทบกับประเทศไทย
ในทางการข่าวยังไม่ได้รับรายงานว่าจะมีผู้ไม่หวังดีเข้ามาก่อเหตุภายในสถานทูตสหรัฐ หรือประเทศในเครือพันธมิตร ทำให้ขณะนี้ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลความปลอดภัยตามปกติ เนื่องจากทางสถานทูตยังไม่ได้ร้องขอกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมแต่อย่างใด"
อาหรับค้านใช้กำลังทหาร
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์การสู้รบในลิเบียว่า ชาติตะวันตกมีมติให้ประกาศเขตห้ามบินทั่วน่านฟ้าลิเบีย โดยยูเอ็นกำหนดให้สมาชิกยูเอ็นใช้ทุกวิธีการยับยั้งปัญหาสิทธิมนุษยธรรมในลิเบีย เนื่องจากมีสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านกัดดาฟี เพราะกัดดาฟีใช้กำลังปราบปรามประชาชนรุนแรง ตนเห็นว่าข้อกำหนดเขตห้ามบินมีความเหมาะสม แต่มองว่าคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นไม่มีความเป็น กลาง เพราะไม่ได้อยู่บนพื้นฐานแนวคิดประชา ธิปไตย โดยสมาชิกถาวรที่มีสิทธิวีโต้มีเพียง 5 ประเทศเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาตามมาว่าชาวอาหรับจะเข้าใจไหม
"ในตอนแรก ชาวอาหรับเห็นดีกับมาตรการดังกล่าว แต่หลังจากชาติตะวันตกโจมตีกองกำลังลิเบียได้ 1 วัน มีคนตาย 64 ราย และบาดเจ็บมากมาย ชาวอาหรับจึงไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงทางทหาร" ดร.ศราวุฒิ ระบุ
ฝรั่งเศสอยากโชว์อิทธิพล
ดร.ศราวุฒิกล่าวด้วยว่า ชาติตะวันตกที่โจมตีลิเบียในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้มีการติดต่อกับลิเบียทั้งค้าขาย มีความร่วมมือทางทหารส่งอาวุธให้ เจรจาสัมปทานน้ำมัน โดยเฉพาะสหรัฐที่มีความร่วมมือปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย แต่เมื่อเกิดความวุ่นวายในลิเบีย ชาติตะวันตกเหล่านี้ต่างหันกระบอกปืนไปที่กัดดาฟี ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวทำไปเพื่อมนุษย ธรรม หรือผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจ
"จีนและรัสเซีย สมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น รวมทั้งอินเดียกับบราซิล ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังทหาร เพราะกลัวว่าประเทศตนอาจจะโดนมาตรการอย่างนี้ในอนาคต อีกทั้งจีนและรัสเซียมีผลประโยชน์ในลิเบียจากการทำสัมปทานน้ำมันค่อนข้างมาก ส่วนอินเดียมีนโยบายค่อนข้างเป็นกลาง ไม่เห็นด้วยกับมาตรการแทรกแซงทางทหารเพราะอาจจะนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบ เพราะมติเขตห้ามบินมีนัยหนึ่งคือ การประกาศสงคราม" รอง ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาฯ ระบุ
หนทางยุติความตึงเครียด ดร.ศราวุฒิชี้ว่า ต้อง ให้กลุ่มประเทศมุสลิม หรือองค์กรในภูมิภาคจัดการกันเอง เช่น องค์กรการประชุมอิสลามโลก (โอไอซี) หรือองค์การสันนิบาตอาหรับ นำมาตรการเขตห้ามบินไปใช้เสียเอง เพราะมีความเข้าใจวัฒนธรรม จิตวิทยามวลชน และรู้ว่าเส้นไหนข้ามได้หรือไม่ได้ ไม่ควรข้ามขั้นตอนไปที่ยูเอ็นเอสซี และที่ผ่านมาสันนิบาตอาหรับมีท่าทีสนับสนุนเขตห้ามบินอยู่แล้ว
"ส่วนเหตุที่ฝรั่งเศสเป็นชาติแรกและเป็นแกนนำนำฝูงบินถล่มลิเบียทางอากาศ เพราะก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่รับรองสภาปฏิวัติแห่งชาติ ที่ตั้งขึ้นในเมืองเบงกาซีโดยกลุ่มต่อต้านกัดดาฟี ซึ่งจะเป็นสิ่งพิสูจน์ได้ว่าหากกัดดาฟีล้มล้างกลุ่มต่อต้านในเมืองนี้และเข้าครอบครองได้ทั้งประเทศ ฝรั่งเศสก็จะเสียหน้าเอง อีกทั้งฝรั่งเศสเคยเป็นเจ้าอาณานิคมในโลกอาหรับแอฟริกาเหนือ จึงพยายามแสดงให้เห็นอิทธิพลในภูมิภาคนี้" ดร.ศราวุฒิ กล่าว
วิเคราะห์ 3 จุดจบ"กัดดาฟี"
รองผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาฯ ยังวิเคราะห์จุดจบของลิเบียว่าจะมี 3 รูปแบบ หรือ 3 โมเดล นั่นคือ โมเดลที่ 1 ซ้ำรอยเมื่อครั้งสหรัฐและพันธมิตรล้มล้างระบอบการปกครองกลุ่มตาลิบันในอัฟกานิสถาน แต่มีข้อสังเกตว่ากองทัพสหรัฐติดหล่มในอัฟกานิสถานอยู่นานทำให้สูญเสียทรัพยากรมากมาย จึงคิดว่าโมเดลนี้ไม่น่าเกิดขึ้น
โมเดลที่ 2 เหมือนกับอิรักหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย ที่สหรัฐโดยมติของยูเอ็นนำกำลังโจมตีอิรักเอาคูเวตกลับคืนมาได้ โดยมีการกำหนดเขตห้ามบินทางตอนเหนือและใต้ของอิรัก สหรัฐจึงใช้ยูเอ็นในการออกมาตรการต่างๆ จากเบาไปหาหนัก ในที่สุดซัดดัม ฮุสเซน ประ ธานาธิบดีอิรักต้องลงจากตำแหน่ง ส่วนในลิเบีย ตะวันตกก็อาจจะกำหนดเป็นเขตห้ามบินและใช้มาตรการต่างๆ บั่นทอนกำลังของกัดดาฟี และโมเดลที่ 3 กัดดาฟีเลือกสู้จนเลือดหยดสุดท้าย ทำสงครามกองโจรกับมหาอำนาจและจะเป็นสงครามยืดเยื้อ
คาดน้ำมันแพงขึ้นช่วงสั้นๆ
นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ผลกระทบเรื่องราคาน้ำมันจากสงครามลิเบีย ว่าน่าจะกระทบต่อราคาน้ำมันตลาดโลกช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ปรับขึ้นอีกอย่างน้อย 4-5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังจากราคาปิดตลาดเมื่อวันที่ 18 มี.ค. น้ำมันตลาดเอเชียปรับสูงขึ้นแล้ว 4-5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และราคาล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มี.ค. การซื้อขายในตลาดอิเล็กทรอนิกส์ปรับขึ้นไปแล้ว 2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
อย่างไรก็ตาม เหตุสู้รบในลิเบียคงไม่ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นเหมือนช่วงปี 2551 ที่น้ำมันดิบสูงถึง 140 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และคาดว่าเหตุการณ์ในลิเบียคงไม่เลวร้ายเท่ากับช่วงสงครามอิรัก เพราะลิเบียมีกำลังการผลิตน้ำมันไม่มากเพียง 1.6 ล้านบาร์เรล/วัน เหตุรุนแรงในลิเบียก่อนหน้านี้ทำให้การส่งออกน้ำมันของลิเบียลดลง 4-5 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันมาก เพราะซาอุดีอาระเบีย ผลิตน้ำมันขึ้นมาชดเชยในส่วนของลิเบียที่หายไป
นายอนุสรณ์กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลิเบียคงทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นช่วงสั้นๆ คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันตลาดดิบขึ้นไปอยู่ที่ 120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากขณะนี้อยู่ในระดับ 110 เหรียญสหรัฐ หากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้นเท่ากับระดับที่ประเมินไว้คงจะทำให้ราคาขายปลีกในไทยปรับขึ้น โดยมีโอกาสที่จะได้เห็นเบนซิน 95 อยู่ที่ระดับ 2 ลิตร 100 บาท จากขณะนี้เบนซิน 95 มีราคาที่ 47 บาท/ลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์คิดว่าคงปรับขึ้นอย่างน้อยอีกอย่างน้อย 1-2 บาท/ลิตร คงจะไม่ถึง 40 บาท/ลิตร จากขณะนี้อยู่ในระดับ 37.44 บาท/ลิตร
ถล่ม"โทมาฮอว์ก"ระลอก 2
ส่วนความคืบหน้าสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพพันธมิตรกับลิเบีย บีบีซีรายงานว่าเรือดำน้ำอังกฤษที่ประจำการอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้าร่วมโจมตีลิเบียรอบสองเมื่อคืนวันที่ 20 มี.ค. โดยระดมยิงขีปนาวุธโทมาฮอว์กทำลายระบบป้องกันภัยทางอากาศของลิเบียรอบกรุงตริโปลีและเมืองมิสราตา ซึ่งกระทรวงกลาโหมอังกฤษยืนยันรายงานการโจมตีครั้งนี้ไม่กี่ชั่วโมง หลังจากลิเบียประกาศหยุดยิงครั้งที่สอง ภายหลังถูกกองกำลังทหารพันธมิตรตะวันตกร่วมกันโจมตีกองทหารลิเบียของกัดดาฟี
ปฏิบัติการถล่มระบบป้องกันภัยทางอากาศรอบสองนี้ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุด้วยว่า เครื่องบินรบทอร์นาโดของฝ่ายพันธมิตรต้องยกเลิกปฏิบัติการ เพราะตรวจพบพลเรือนในพื้นที่เป้าหมาย ทำให้ต้องใช้แต่จรวดโทมาฮอว์ก เพราะควบคุมทิศทางได้ นายวิลเลียม เฮก เลขาฯ กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษกล่าวถึงการยกเลิกปฏิบัติการงบินทอร์นาโด ว่ากองทัพพันธมิตรเป็นห่วงความปลอดภัยในชีวิตของพลเรือน ไม่เหมือนนายกัดดาฟีที่ประกาศสงครามกับประชาชนของตัวเอง
บอมบ์กองบัญชาการกัดดาฟี
บีบีซีกับรอยเตอร์รายงานว่า การถล่มด้วยจรวดโทมาฮอว์กเมื่อคืนที่ผ่านมา นอกจากมุ่งเป้าถล่มระบบต่อต้านอากาศยานของกองทัพลิเบียแล้ว ยังพบว่ามีอาคารหลายแห่งในตริโปลี เมืองหลวงลิเบียถูกจรวดถล่มราบ ซึ่งกัดดาฟีออกมาประกาศผ่านสื่อของรัฐว่าเป็นการมุ่งสังหารตนเอง
ในกลุ่มอาคารที่ถูกจรวดพันธมิตรถล่มล่าสุด หนึ่งในนั้นเป็นอาคารคอมเพล็กซ์สูง 3-4 ชั้น ซึ่งกัดดาฟีเคยใช้อยู่อาศัย ใช้ทำงาน และใช้เป็นศูนย์บัญชาการในช่วงก่อนเกิดความวุ่นวายทางการเมืองก็ถูกถล่มด้วย แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ด้านกัดดาฟีหลบไปอยู่ในสถานที่ปิดลับสักระยะแล้ว
นายมุสซา อิบราฮิม โฆษกรัฐบาลลิเบียประณามว่าเป็นการทิ้งระเบิดอย่างป่าเถื่อน มุ่งทำลายชีวิตประชาชน ไม่สนใจความเสียหายของพลเมืองลิเบีย อย่างไรก็ตาม ทางสหรัฐออกมาปฏิเสธข่าวการถล่มอาคารที่พักดังกล่าวของกัดดาฟี โดยบิล กอร์ตนีย์ ผู้บัญชาการทหารเรือสหรัฐยืนยันว่า กัดดาฟีไม่ใช่เป้าหมายของปฏิบัติการสหรัฐ เพราะสหรัฐต้องการบังคับใช้ข้อกำหนดเขตห้ามบินเท่านั้น
นางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ เสริมว่าการสังหารนายกัดดาฟีไม่ใช่การแก้ปัญหาในภูมิภาคที่ถูกต้อง
ปล่อย"นาโต้"จัดการต่อ
นายโรเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐ แถลงว่า สหรัฐอาจโอนการควบคุมปฏิบัติการทางทหารไปให้กองกำลังขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติคเหนือ หรือ "นาโต้" ในเร็วๆ นี้ ส่วนสหรัฐจะช่วยเหลือด้านกำลังสนับสนุนอย่างเดียว เนื่องจากนโยบายทางการเมืองของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ไม่เน้นก่อสงคราม และยืนยันคำเดิมว่าสหรัฐต้องการบังคับใช้มติห้ามบินเหนือน่านฟ้าลิเบีย เพื่อรักษาชีวิตชาวเมืองเบงกาซีผู้บริสุทธิ์เท่านั้น
นอกจากนี้ เกตส์ยังแสดงความเห็นว่า ปฏิบัติการของนาโต้ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนครั้งนี้จะเพิ่มความรุนแรงขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการพุ่งเป้าโจมตีไปที่ตัวของกัดดาฟีโดยตรงก็เป็นได้
"ผู้ดี"หวังเด็ดหัวกัดดาฟี
เว็บไซต์ข่าวการ์เดียนของอังกฤษรายงานว่า นายเลียม ฟ็อกซ์ รมว.กลาโหมอังกฤษ เผยว่าอังกฤษมีแผนโจมตีเพื่อเด็ดชีพกัดดาฟี และสนับสนุนการโจมตีด้วยระเบิดหนักรุ่นบังเกอร์ บัสเตอร์ ที่มีอำนาจเจาะทะลุทะลวงลงไปถึงใต้ดินเพื่อใช้ถล่มที่หลบภัยใต้ดินโดยเฉพาะ ซึ่งคาดว่านายกัดดาฟีหลบซ่อนอยู่ที่ใดที่หนึ่งในตริโปลี
"ในแง่มุมของการรักษาชีวิตชาวลิเบียส่วนใหญ่ การล้มล้างระบอบกัดดาฟีอย่างเด็ดขาดเป็นสิ่งจำเป็น และปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้จะสำเร็จลุล่วงย่อมหมายถึง เสรีภาพของประชาชนในการก่อตั้งระบอบการปกครองและบริหารประเทศของตนเอง ดังนั้นอังกฤษจึงต้องการกำจัดระบอบกัดดาฟี" นายฟ็อกซ์กล่าว
ด้านรัฐมนตรี 3 คนในรัฐบาลอังกฤษ ได้แก่ เลียม ฟ็อกซ์ รมว.กลาโหม, วิลเลียม เฮก รมว. ต่างประเทศ และจอร์จ ออสบอร์น รมว.คลัง ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่อาจส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปในลิเบีย แต่ระบุว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา
"อาหรับ"ประณามถล่มลิเบีย
เว็บไซต์ข่าววอชิงตัน โพสต์ รายงานความเคลื่อนไหวในกลุ่มประเทศ "สันนิบาตอาหรับ" ซึ่งออกมาประณามการโจมตีของกลุ่มประเทศพันธมิตรตะวันตกในครั้งนี้ว่า เป็นปฏิบัติการรุนแรงเกินไป และเริ่มส่อเค้าว่ามีจุดประสงค์ แอบแฝงนอกเหนือจากการบังคับใช้ข้อกำหนดห้ามบินตามที่เคยตกลงกัน โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มอาหรับเคยสนับสนุนให้มีการแทรกแซงลิเบีย เพื่อบังคับใช้เขตห้ามบินดังกล่าวมาก่อน
นายอามีร์ มุสซา เลขาธิการสันนิบาตอาหรับ ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในลิเบียแตกต่างจากจุดประ สงค์หลักในการประกาศเขตห้ามบิน ความต้อง การที่แท้จริงคือความปลอดภัยในชีวิตพลเรือน และขอให้ยกเลิกการโจมตีประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องทันที
รบเดือดนอก"เบงกาซี"
ซีเอ็นเอ็นรายงานสถานการณ์รอบเมืองเบงกาซี ฐานที่มั่นฝ่ายต่อต้านกัดดาฟี ว่ามีเสียงระเบิดและยิงปะทะดุเดือดดังขึ้นเป็นระยะๆ ตามท้องถนน เพราะกองกำลังของกัดดาฟียังติดอยู่ตามแนวชานเมือง หลังจากถูกเครื่องบินฝรั่งเศสทิ้งระเบิดอย่างหนัก ชาวเมืองเกรงว่ากองกำลังกัดดาฟีซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารรับจ้างแอฟริกา จะลอบเข้ามาในเมืองแล้วอาศัยพลเรือนเป็นโล่กำบังการโจมตีทางอากาศ ส่วนด้านนอกเมืองพบซากรถถังและยานหุ้มเกราะไหม้เกรียมกระจัดกระจาย มีศพทหารลิเบียและทหารรับจ้างตายเกลื่อน
เจ้าหน้าที่ลิเบียอ้างว่ามีผู้เสียชีวิต 64 ราย จากการทิ้งระเบิดของชาติตะวันตกตั้งแต่วันเสาร์จนถึงวันอาทิตย์ และเป็นพลเรือนที่มีทั้งผู้หญิงและเด็ก 48 ราย
กัดดาฟีด่าสหรัฐ"นาซีใหม่"
ซีเอ็นเอ็นรายงานความเคลื่อนไหวของกัดดาฟี ว่าผู้นำลิเบียออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ในวันที่ 21 มี.ค. ประณามชาติพันธมิตรตะวันตกว่าทำตัวไม่ต่างจากเผด็จการขยายจักรวรรดิ โดยตราหน้าสหรัฐและพันธมิตรว่าเป็นพวก "นิว นาซี" (นาซีใหม่) พร้อมทั่งสัญญาต่อชาวลิเบียว่าสงครามจะยืดเยื้อแน่นอน
"พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ใช่อารย ประเทศ แต่เป็นผู้ก่อการร้ายที่จู่โจมประเทศที่ไม่ได้ไปรุกรานประเทศอื่นใด" กัดดาฟีแถลง
บินรบ"กาตาร์"ร่วมถล่มลิเบีย
บีบีซีรายงานว่า กาตาร์เป็นชาติแรกในกลุ่มประเทศอาหรับ ที่ส่งกำลังทางทหารเข้าร่วมในปฏิบัติการโอเปอเรชั่น โอดิสซีย์ ดอว์น ในครั้งนี้ โดยส่งเครื่องบินรบทั้งหมด 4 ลำ ขึ้นบินสนับสนุนกองทัพอากาศจากชาติพันธมิตร ตะวันตกอื่นๆ
"อียู"คว่ำบาตรศก.ลิเบีย
เวลา 19.08 น. วันเดียวกัน เอเอฟพีรายงานข่าวด่วนจากที่ประชุมสหภาพยุโรป (อียู) ในกรุง บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ว่า แม้ชาติในกลุ่มอียูจะมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการใช้กำลังทหารโจมตีลิเบีย แต่ที่ประชุมอียูได้มีมติเห็นชอบออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจใหม่ล่าสุดต่อรัฐบาลลิเบีย ภายใต้การนำของ พ.อ.กัดดาฟีแล้ว
"อินเดีย"ให้หยุดรบทันที
รายงานเอเอฟพีแจ้งอีกว่า ขณะนี้ประชาคมโลกประเทศต่างๆ เริ่มแสดงความเห็นที่แตกต่างกันต่อปฏิบัติการของชาติพันธมิตรในลิเบีย โดยก่อนหน้านี้เมื่อครั้งมีการลงมติของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น จีนกับรัสเซียไม่เห็นด้วย ล่าสุด รัฐบาลอินเดีย มหาอำนาจเอเชียใต้ เป็นอีกประเทศที่แถลงว่าต้องการให้หยุดการโจมตีทางอากาศโดยทันที เพราะหวั่นเกรงความปลอดภัยของพลเมืองลิเบีย
นายเอส.เอ็ม. กฤษณะ รมว.ต่างประเทศอินเดีย กล่าวว่า อินเดียรู้สึกเสียใจที่มีการทิ้งระเบิดเข้าไปในเขตที่อยู่อาศัยของพลเรือน และเรียกร้องให้ประชาคมโลกกดดันกลุ่มพันธมิตรและกองกำลังนาโต้ พร้อมให้เหตุผลว่าห้วงเวลาแห่งการใช้กำลังทหารนั้นเพียงพอแล้ว
"ปูติน"จวก-ก่อศึกครูเสด
สื่อมวลชนในตุรกี รวมทั้งสื่อมุสลิมในยุโรป พร้อมใจรายงานข่าวแสดงความเป็นห่วงสถาน การณ์ในลิเบียว่าอาจเกิดภาวะ "อิรัก 2" ขึ้นในลิเบีย โดยหนังสือพิมพ์อิสลามิสต์ เดลี่ ชี้ว่า ลิเบียกำลังจะคล้ายอิรัก เพราะเมื่อสงครามเกิดขึ้นผู้เดือดร้อนแท้จริงคือประชาชน
สำหรับรัสเซีย ประเทศที่ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น นายกรัฐมนตรีวลาดิเมียร์ ปูติน ออกโรงวิจารณ์ปฏิบัติการของสหรัฐและพันธมิตรว่า มติคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นที่ให้ใช้กำลังทหารกับลิเบียนั้นไม่ต่างอะไรกับการเปิดช่องให้เกิดสงครามครูเสด หรือสงครามศาสนาระหว่างชาวคริสต์จากยุโรป และชาวมุสลิม ในยุคกลางไม่มีผิด
ที่มา นสพ.ข่าวสด |
|
|
เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :- |
|
|
|
|
|
|