ตุ๋นกินเงินกู้กยศ.เหยื่อเด็ก3จว.ใต้อดเรียนพยาบาล
'ทวี'จี้ขอหมายจับ ยุติธรรมลงพื้นที่รับร้องทุกข์เยาวชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกเทคโนโลยีอโยธยาหลอกให้กู้เงิน กยศ. เป็นหนี้รายละกว่าแสนบาท สุดท้ายไม่ได้เรียนพยาบาล "ทวี สอดส่อง" ให้ ตร.ท้องที่เร่งหาหลักฐานออกหมายจับนายหน้าจัดหานักศึกษาไปเรียนนิติกร กยศ. ยอมรับมีจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไข หลังอโยธยายื่นกู้แล้วกว่า 65 ล้านบาท ตรวจสอบพบพิรุธการปลอมแปลงเอกสารจำนวนมาก จ่อดำเนินคดีอธิการบดี ด้านเลขาฯกยศ.หลบหน้าไม่ชี้แจง อ้างเจ็บคอ ที่โรงแรมลี การ์เด้นท์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 8 มี.ค. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเยาวชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีภาระหนี้จากเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษารายละกว่า 1 แสนบาท โดยทุกรายถูกสถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยาหลอกลวงให้เข้าสมัครเรียนระดับปริญญา ตรีคณะพยาบาลและพยาบาลมุสลิม ซึ่งมีนายหน้าไปแนะแนวที่โรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเยาวชนจะได้เรียนฟรีและมีค่าครองชีพเดือนละ 2,000 บาท จนจบการศึกษา หากเยาวชนตกลงทำสัญญาเข้าเรียนทางโรงเรียนจะจัดรถบัสโดยสารไปรับในพื้นที่ หรือจัดตั๋วรถทัวร์ให้เดินทางไปเรียนที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม เมื่อเยาวชนเดินทางไปเรียนปรากฏว่าสถาบันยังไม่เปิดสอนคณะพยาบาล ส่วนคณะที่เปิดสอนก็มีนักศึกษาคณะละไม่เกิน 5-10 คน แต่อธิการบดีอ้างว่าสถาบันเพิ่งเปิดสอนในระดับชั้นปริญญาตรีและปริญญาโท พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เบื้องต้นจะทำหนังสือถึง สภ.เมืองนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ให้ออกหมายจับนายหน้าจัดหาเยาวชนให้เข้าสมัครเข้าเรียนกับสถาบันเทคโนโลยี แห่ง อโยธยา และให้เยาวชนทำสัญญากู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยนายหน้าจะได้รับค่าหัวรายละ 5,000 บาท ทั้งนี้ภายหลังรับทราบข้อมูลตนได้พยายามประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการ อุดมศึกษา (สกอ.) ได้รับการชี้แจงว่า สกอ.ทำหน้าที่ควบคุมเฉพาะเกณฑ์การเปิดมหาวิทยาลัย ไม่ได้ควบคุมมาตรฐานการเรียนการสอน จึงทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนเปิดตัวขึ้นเป็นจำนวนมาก นางตัสนีม เจ๊ะตู อดีตผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารศูนย์ประสานงานการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส กล่าวว่า ตนต้องการให้ กยศ.ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าว เพราะถือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรโดยตรง โดยเฉพาะกับประชาชนในพื้นต่างเข้าใจว่า กยศ.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเข้ามาสร้างความเสียหายให้คนในพื้นที่ด้วยการเอา เงินมาให้เพื่อให้ประชาชนเป็นหนี้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังเยาวชนได้รวมตัวกันออกมาเรียกร้องตามหน่วยงานต่าง ๆ ตัวแทนอธิการบดีพยายามติดต่อเพื่อขอให้ยุติการเคลื่อนไหวพร้อมรับว่าจะชำระ หนี้ให้ทั้งหมด แต่จากการหารือแล้วยืนยันว่าจะเดินหน้าดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดทั้งหมด ทั้งคดีแพ่งและอาญา น.ส.นภัสนันท์ จิตต์ธรรมวาณิช นิติกร ปฏิบัติการ กยศ. กล่าวว่า กยศ.ได้ขอเข้าตรวจสอบข้อมูลจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา ในปี 2550 พบพิรุธไม่มีข้อมูลว่าเยาวชนทั้ง 11 ราย เข้าเรียนที่สถาบันดังกล่าว จึงเกิดข้อสงสัยและตรวจสอบกรณีที่มีลักษณะใกล้เคียง พบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารจำนวนมาก และพบพิรุธในเอกสาร โดยในวันที่ 9 มี.ค. กยศ.จะประชุมคณะผู้บริหารเพื่อรายงานถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่า กยศ.ไม่มีอำนาจการสอบสวน แต่มีความจริงใจที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ขอย้ำว่า กยศ.ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเงินกู้ยืม แต่ยอมรับว่า กยศ.มีจุดอ่อนหลายเรื่อง ดังนั้นจะนำข้อบกพร่องการปล่อยกู้ที่เป็นปัญหาไปนำเสนอต่อผู้บริหารเพื่อออก มาตรการควบคุมไม่ให้เกิดการหลอกลวงขึ้นอีก สำหรับวงเงินที่สถาบันเทคโนโลยีแห่ง อโยธยายื่นเรื่องขอรับเงินจาก กยศ.ในปีการศึกษา 2550 ซึ่งเปิดสอนเป็นปีแรกมีนักศึกษายื่นกู้จำนวน 176 ราย วงเงินประมาณ 7 ล้านบาท และยื่นขอรับเงินจาก กยศ.ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551-2553 มีรายชื่อนักศึกษายื่นกู้ 1,470 ราย วงเงินกว่า 58 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่สถาบันได้รับการสนับสนุนจาก กยศ. ประมาณ 65 ล้านบาท ซึ่งวงเงินดังกล่าวยังไม่รวมเงินค่าครองชีพที่ กยศ.จ่ายเข้าบัญชีเงินฝากให้นักศึกษาเดือนละ 2,000 บาท รายงานข่าวระบุว่า ก่อนที่เยาวชนจะเข้าร้องเรียนกับกระทรวงยุติธรรม ดร.มัฆวาน สุวรรณเรือง อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่ง อโยธยาได้ทำหนังสือชี้แจงกับ กยศ.ว่าจะขอคืนเงินให้นักศึกษาในส่วนเฉพาะที่มีปัญหา แต่หลังจากนั้นเรื่องเงียบหายไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ กยศ.จะต้องแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยภายในเดือน มี.ค. จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอที่ประชุมบอร์ดเพื่อหารือมาตรการดำเนินคดี เนื่องจากความผิดเกิดขึ้นแล้ว รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในห้องสัมมนาใกล้กันภายในโรงแรมลี การ์เด้นท์ ดร.ธาดา มาร์ติน เลขาธิการ กยศ. ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้ แต่ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในประเด็นลูกหนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกหลอกลวงและต้องเป็นหนี้ กยศ.รายละกว่าแสนบาท โดยเจ้าหน้าที่ กยศ.ชี้แจงอ้างว่า ดร.ธาดา ป่วย เจ็บคอไม่ขอให้สัมภาษณ์ แต่จะให้ประชาสัมพันธ์ชี้แจงแทน ทั้งนี้ นางตัสนีม ได้มอบซีดีแนะนำโครงการพยาบาลหรือคณะสาธารณสุขเน้นเฉพาะชาวมุสลิม ซึ่งอธิการบดีของสถาบันดังกล่าวเป็นผู้แนะนำให้เจ้าหน้าที่ กยศ.ด้วย.
ที่มา นสพ.เดลินิวส์ |